"วิษณุ" ไม่ขัด "รัฐสภา" แก้เนื้อหา "ร่างพ.ร.บ.ประชามติ" หลายประเด็น

"วิษณุ" ไม่ขัด "รัฐสภา" แก้เนื้อหา "ร่างพ.ร.บ.ประชามติ" หลายประเด็น

ที่ประชุมรัฐสภาลงมติรับหลักการ ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ไว้พิจารณา หลังถูกท้วงติงหนัก "วิษณุ เครืองาม" รับปากต่อที่ประชุมไม่ขัดข้องหากจะแก้ไขถ้อยคำ-แจงไม่ห้ามภาคประชาชนรณรงค์คว่ำประชามติ

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้ลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ด้วยเสียง 561 เสียง ไม่เห็นด้วย 2 เสียง งดออกเสียง 50 เสียง และตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา

160681888955

     ทั้งนี้ก่อนการลงมติ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงต่อที่ประชุมรัฐสภา ด้วยว่าหากเนื้อหาไม่เป็นที่พอใจ เป็นหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น ที่นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ระบุให้รัฐบาลรับปากการแก้ไข ตนขอรับปาก เพราะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา รัฐบาลไม่มีความหมองใจหากรัฐสภาจะแก้ไขส่วนใดในชั้นกรรมาธิการ

     นายวิษณุชี้แจงด้วยว่า กรณีที่ให้บทบาทคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)เผยแพร่และรณรงค์ข้อมูลเรื่องที่ทำประชามติ คือกำหนดให้เป็นหน้าที่ส่วนบุคคลที่จะทำรณรงค์ไม่ห้ามให้กระทำเพราะถือเป็นสิทธิที่จะเชิญชวนให้บุคคลแสดงความเห็น และไม่ถือเป็นความผิดตามมาตรา 60 เว้นแต่เป็นพฤติกรรมที่ห้ามไว้ หากเนื้อหายังไม่ชัดเจน และคลุมเคลือสามารถแก้ไขให้ชัดเจนได้ รวมถึงการกำหนดให้ออกเสียงประชามติทางไปรษณีย์หรือออนไลน์

     “ที่สมาชิกอภิปรายว่าเหตุใดที่การรับฟังความเห็นที่เปิดโอกาสให้ ครม. ใช้ดุลยพินิจเสนอเรื่องทำประชามติเท่านั้น เพราะร่างกฎหมายออกตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดสิทธิไว้ แต่ไม่ได้ปิดทางหากมีความเห็นให้ทำประชามติ จากสมาชิกรัฐสภาหรือประชาชน สามารถเสนอไปยังรัฐบาลได้ และหากไม่สามารถทำประชามติได้ กฎหมายกำหนดให้ทำในรูปแบบประชาพิจารณ์” นายวิษณุชี้แจง

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศช่วงท้ายของการอภิปราย ร่างพ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียง ประชามติ พ.ศ.... ก่อนการลงมติ มีเหตุวุ่นวายเล็กน้อย ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. อภิปรายต่อกรณีการปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ใช่กระทำผิดกฎหมาย แล้วถูกดำเนินคดี กลับระบุว่ากฎหมายไม่ถูกต้อง ขณะเดียวกันการดำรงตำแหน่งของส.ว.นั้นมาโดยรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เหมือนกับส.ส.ที่มาตามรัฐธรรมนูญ แม้จะพบการซื้อเสียงหรือทุจริตเลือกตั้ง

     ทำให้นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ประท้วงต่อประเด็นที่ส.ว.กล่าวหาส.ส.ซื้อเสียงเลือกตั้งและขอให้ประกาศชื่อชัดเจน รวมถึงขอให้ถอนคำพูด

     ทั้งนี้นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ฐานะประธานในที่ประชุมวินิจฉัยว่าไม่ต้องถอน และมองว่าเป็นการชี้แจงหลังจากที่ส.ส.กล่าวหาส.ว. ทำให้นายขจิตรไม่พอใจและโวยวายแม้จะถูกปิดเสียงไมโครโฟน และนายชวน ร้องขอให้สงบสติอารมณ์

     "ผมตัดสินแล้วก็จบ คนไม่เป็นแบบนั้นอย่าทุกข์ร้อน เว้นเป็นอย่างนั้น ซื้อเสียง โกงเลือกตั้ง ก็จะทุกข์ ร้อน เราวิจารณืเขาเยอะพอสมควร ขอให้จบและอย่าสร้างประเด็นให้เป็นเรื่อง” นายชวน วินิจฉัยเป็นที่ยุติ