BANGKOK THEATRE FESTIVAL 2020 เทศกาลของคนรักละคร

BANGKOK THEATRE FESTIVAL 2020 เทศกาลของคนรักละคร

พบกับรีวิวงาน ‘เทศกาลละครกรุงเทพ’ ประจำปี 2563 ที่ยังคงจัดจ้าน เข้มข้น และอัดแน่นไปด้วยคุณภาพ ไม่หวั่นแม้วัน ‘โควิด-19’ ระบาด

160681792061

ถึงแม้จะลดขนาดลงทั้งระยะเวลา สถานที่เล่น และจำนวนผลงานการแสดง เนื่องจากยังอยู่ในช่วงเฝ้าระวังโควิด-19 แต่ ‘เทศกาลละครกรุงเทพ’ ประจำปี พ.ศ. 2563 หรือ ‘Bangkok Theatre Festival’ (BTF) 2020 ก็ยังคงคึกคักและอุ่นหนาฝาคั่งไปด้วยเหล่าคนรักละครตลอดระยะเวลาของการจัดงานระหว่างวันที่ 21-29 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยมีศูนย์กลางของการจัดงานอยู่ที่ ‘หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร’ ร่วมกับสถานที่แสดงอื่น ๆ กระจายตัวอยู่ทั่วกรุงเทพ

การแสดงจำนวนรวมกว่า 40 รายการมีผู้สนใจเข้าชมอย่างอบอุ่น ทั้งการแสดงเล็ก ๆ ความยาวไม่เกิน 30 นาทีที่เปิดให้ชมฟรี ณ เวทีกลาง และการแสดงแบบเต็มรูปแบบความยาวเกิน 1 ชั่วโมงอีกหลาย ๆ เรื่อง เรียกได้ว่าแก้อาการคิดถึงโรงละครในช่วงก่อนหน้านี้ได้อย่างเต็มอิ่ม

สำหรับไฮไลท์อีกส่วนของงานเทศกาลละครกรุงเทพประจำปีนี้ก็คือการจัดประกวดรางวัล BTF Award สาขาต่าง ๆ สำหรับคณะละครหรือการแสดงที่สนใจส่งผลงานเข้าร่วม โดยจะต้องเป็นผลงานที่มีความยาวเกิน 45 นาที และมีการเก็บเงินค่าเข้าชมจากผู้ชมในลักษณะของผลงานแบบมืออาชีพด้วย ซึ่งผลรางวัลก็เพิ่งจะประกาศกันไปเมื่อช่วงดึกของคืนวันที่ 29 พฤศจิกายนที่ผ่านมาในบรรยากาศที่น่ารักและสนุกสนาน จึงจะขอรายงานผลการประกวดรางวัล BTF Award ในสาขาต่าง ๆ ว่ามีผลงานหรือศิลปินเรื่องใดรายใดได้รับรางวัลไหนจากทางเทศกาลไปบ้าง

เริ่มที่รางวัล Special Mention ซึ่งมีทั้งหมด 3 รางวัล รางวัลแรกสำหรับงานของกลุ่มนิสิตนักศึกษาได้แก่เรื่อง Dance Nation โดยชมรมละครคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งแปลจากบทละครดังชื่อเดียวกัน (ค.ศ. 2018) ของนักเขียนหญิงอเมริกัน Clare Barron เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกของทีมนักเต้นรุ่นเยาว์ในขณะที่กำลังตระเวนประกวดกันในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจากเนื้อหาก็ถือว่าค่อนข้างหนักและหม่นมืดมากทีเดียวกับสิ่งต่าง ๆ ที่ตัวละครในวัยแรกสาวต้องพบเจอ

160681808543

Dance Nation : ภาพโดย Drama Arts Chula

นักแสดงชุดนี้โดยรวมก็รับบทบาทอันเข้มข้นได้อย่างดี แต่มิติของความเป็นคนอเมริกันอันสำคัญสำหรับตัวละครอาจจะยังอ่อนเบาเกินไป ทำให้ยังแลดูเป็นคนไทยซึ่งบางจุดก็ไม่เข้ากับบุคลิกในแบบที่บทต้องการนัก

รางวัล Special Mention รางวัลที่สองเป็นรางวัลสำหรับกลุ่มงานเพื่อเยาวชนและครอบครัว ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหมายเมื่อการแสดงชิ้นใหม่เรื่อง Babymime Junior Show Vol.2 ของคณะละครใบ้เบบี้ไมม์ จะคว้ารางวัลไป ในการแสดงที่สมาชิกเบบี้ไมม์ได้ฝึกหัดให้นักแสดงรุ่นเยาว์หลากหลายวัยมาร่วมฝึกเล่นละครใบ้กับพวกเขาอย่างน่ารัก

160681820438

Babymime Junior Show Vol 2 : ภาพโดย BTF

รางวัล Special Mention รางวัลสุดท้ายเป็นรางวัลสำหรับการแสดงที่เรียกว่าได้รับการกล่าวขวัญเป็นอย่างมากตั้งแต่วันแรกที่เริ่มแสดงในวันเปิดเทศกาล และแม้จะเป็นการแสดงที่ไม่ได้ร่วมอยู่ในกลุ่มการประกวดเนื่องจากจัดโดยเครือข่ายละครกรุงเทพ แต่คณะกรรมการก็รู้สึกถูกใจกับการแสดงกันมาก ๆ จึงมอบเป็นรางวัล Special Mention ให้ นั่นคือการแสดงเรื่อง ‘ละครแห่งประเทศฟะรังฟะแรงก์ ค.ศ. 1684’ ซึ่งดัดแปลงบทมาจากละครเรื่อง The Impromptu of Versailles ของ Molière และ The Beast ของ David Hirson พร้อมรับหน้าที่กำกับโดย ปานรัตน กริชชาญชัย

160681825011

ละครแห่งประเทศฟะรังฟะแรงก์ ค.ศ.1684 : ภาพโดย นิทรรศ สินวัฒนกุล

‘ละครแห่งประเทศฟะรังฟะแรงก์ ค.ศ. 1684’ เล่าเรื่องราวของคณะละครในราชสำนักของอาณาจักรฟะรังฟะแรงก์โบราณ ที่แลดูคล้ายฝรั่งเศสปลายยุค Renaissance เมื่อเจ้าชายมีพระดำรัสให้หัวหน้าคณะละครหัวเก่าต้องร่วมงานกับนักแสดงละครข้างถนนเพื่อพัฒนามุกตลกใหม่ ๆ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น เกิดเป็นแรงเสียดทานต่อต้านปะทะปะทั่งกันระหว่างคนทำละครรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่เหมือนจะไม่สามารถทำงานด้วยกันได้เลย

ความสนุกของ ‘ละครแห่งประเทศฟะรังฟะแรงก์ ค.ศ. 1684’ นอกเหนือจากประเด็นความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่แล้ว บทดัดแปลงของปานรัตน กริชชาญชัย ยังมีการใช้ภาษาที่นิยมใช้กันในโซเชียลมีเดียร่วมสมัย จิกกัดมุมมองความคิดอ่านของฝ่ายต่าง ๆ ออกมาอย่างได้รสชาติยิ่ง แถมนักแสดงทั้งหมดยังทุ่มสุดตัวออกท่าออกทางได้อย่างมีจริตชวนขำขัน จนไม่น่าแปลกใจว่าการแสดงเรื่องนี้จะได้รับความนิยมจนต้องจัดที่นั่งเสริมเพิ่มเก้าอี้กันในรอบท้าย ๆ กันเลย

มาที่รางวัลทางการแสดง สำหรับนักแสดงชายยอดเยี่ยมประจำเทศกาล ได้แก่ กวิน พิชิตกุล นักแสดงละครที่งานชุกมากที่สุดคนหนึ่งวงการ กับการแสดงที่เขากำกับและร่วมแสดงกับ อริสรา แก้วม่วง เพียงสองคน ชื่อ Around Us ซึ่งเป็นการแสดงที่อาศัยการเคลื่อนไหวของร่างกายในการสื่อสารแทนคำพูด เล่าเรื่องราวความสัมพันธ์อันละเอียดอ่อนระหว่างคู่ชายหญิงที่อาศัยและใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ว่าพวกเขาต้องจัดการกับความผูกพันในด้านต่าง ๆ กันอย่างไร ในพื้นที่ห้องนอนส่วนตัว

160681833286

กวิน พิชิตกุล จาก Around Us : ภาพโดยการแสดง Around Us

ซึ่งการแสดงของ กวิน ในบทบาทของชายหนุ่มที่อาศัยอยู่กับหญิงคนรักก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างละเมียดลุ่มลึก ไล่มาตั้งแต่มุมแห่งความอ่อนโยนไปจนถึงช่วงตอนของความโกรธเกรี้ยวใช้ความรุนแรงได้อย่างมีมิติจนสมควรแก่การได้รับรางวัล

ข้างฝ่ายนักแสดงหญิงผู้ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากเทศกาลไปได้แก่นักแสดงที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมายาวนาน นั่นคือ ณัฐญา นาคะเวช จากละครเรื่อง Too Much Heaven ซึ่งสองผู้กำกับรุ่นใหม่ เจนวิชญ์ นฤขัตพิชัย และ นวลปณต ณัฐ เขียนภักดี ก็ยังคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมไปครองได้อีกด้วย

160681839935

ณัฐยา นาคะเวช จาก Too Much Heaven : ภาพโดย Throw BKK

โดยในเรื่องนี้ ณัฐญา ก็รับหน้าที่หลากหลายบทบาททั้งส่วนที่เล่าด้วยบทพูดและการเคลื่อนไหวร่างกาย และแม้ว่า ณัฐญา จะถือว่าเป็นนักแสดงรุ่นใหญ่ในเรื่อง แต่เธอก็สามารถรับมือกับบทอันหลากหลายที่สะท้อนการหลบหนีความเคร่งเครียดและการแสวงหาความสุขสงบในชีวิตของคนหนุ่มสาวร่วมสมัยที่ใช้โครงสร้างการเล่าแบบแบ่งส่วนย่อยอันแปลกใหม่ได้อย่างกลมกลืนไปกับนักแสดงคนอื่น ๆ

เรียกได้ว่าใช้ทักษะฝีมือในการแสดงแบบเก่ามารับใช้วิถีการเล่าแบบใหม่ของผู้กำกับทั้งสองได้อย่างดี

160681844644

Too Much Heaven : ภาพโดย Throw BKK

ในส่วนของการกำกับสองผู้กำกับ เจนวิชญ์ นฤขัตพิสัย และ นวลปณต ณัฐเขียนภักดี ก็สามารถใช้พื้นที่แสดงคูหาเล็ก ๆ ของแกลเลอรี The Shophouse 1527 ติดถนนพระรามสี่ มาออกแบบเป็นเวทีให้นักแสดงนำทั้งสามรายสลับกันเข้าออกมารับบทบาทหลากหลาย ณ จุดต่าง ๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ สร้างบรรยากาศที่แตกต่างไปจากการชมละครเวทีโดยทั่วไปเมื่อผู้ชมได้จะรู้สึกใกล้ชิดกับนักแสดงมากขึ้น

นอกจากรางวัลสำหรับนักแสดงชายและหญิงยอดเยี่ยมแล้ว BTF Award ยังมีรางวัลให้นักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยม หรือ Best Ensemble อีกด้วย ซึ่งละครที่ได้รับรางวัลไปก็คืองานตลกแฝงสาระเรื่อง OK Land ของผู้กำกับ ภัสสร์ภวิศา จิวพัฒนกุล ที่อาศัยฉากง่าย ๆ ของร้านสะดวกซื้อทันสมัยกดสั่งสินค้าด้วยการสแกนบัตรและใช้เครดิตในการจับจ่าย มาจิกกัดพฤติกรรมของมนุษย์หลากชนชั้นหลายอุดมการณ์ในโลกทุนนิยมและบริโภคนิยมร่วมสมัยได้อย่างเจ็บแสบยิ่ง

160681853084

OK Land : ภาพโดย Circle Theatre

นักแสดงทั้ง 7 ราย ซึ่งก็มีตั้งแต่พนักงานที่กำลังถูกเครื่องจักรแย่งหน้าที่ ลูกค้าอภิสิทธิ์บัตรติดรางวัลขั้นต่าง ๆ นักศึกษาและมนุษย์ป้าผู้น่าสงสาร ไปจนถึง ‘นายผี’ ล้วนเล่นกันได้อย่างมีสีสันสร้างสมดุลระหว่างความตลกขำขันและความคร่ำเคร่งจริงจังในการวิพากษ์สังคมร่วมสมัยอย่างมีน้ำหนักกำลังดี

โดยเฉพาะบท ‘นายผี’ ซึ่งเล่นโดย ภูมิภัทร ถาวรศิริ ก็สามารถสร้างความรู้สึกสะเทือนใจให้ผู้ชมได้ แม้ว่าเขาจะไม่มีบทพูดเลยแม้สักประโยคเดียว จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักแสดงชายยอดเยี่ยมในปีนี้ด้วย ทำให้ละครเรื่อง OK Land เป็นงานที่จะได้รับทั้งเสียงหัวเราะและประเด็นทางสังคมใกล้ตัวที่ชวนให้ฉุกคิดไปในเวลาเดียวกัน

160681859439

อีกรางวัลที่เรียกได้ว่าเหมาะสมอย่างถึงน้ำถึงเนื้อเลยก็คือรางวัลบทสำหรับการแสดงยอดเยี่ยมจากการแสดงชื่อประหลาด ‘สุดยอดการแสดงแสนยอดเยี่ยมที่คุณควรดูก่อนคนเล่นตาย’ โดยกลุ่มคนทำละครเฉพาะกิจ MSN อันประกอบด้วย ธนพนธ์ อัคควทัญญู , ปฏิพล อัศวมหาพงษ์ และ ปัถวี เทพไกรวัล ซึ่งทั้งร่วมกันเขียนบท กำกับและแสดงกันเองแค่สามคน ในงานตลกรั่วชวนหัวกับการจิกกัดแวดวงละครเวทีไทยไปจนถึงตัวเทศกาล และเหล่าครูบาอาจารย์ที่คนละครต่างให้ความเคารพ

160681863467

สุดยอดการแสดงแสนยอดเยี่ยมที่คุณควรดูก่อนคนเล่นตาย : ภาพโดย BACC

โดยละครได้จำลองสถานการณ์ในอนาคตเมื่อนักวิชาการละครสาวเปรี้ยว (แต่แต่งตัวเป็นครูสมัยโบราณ) ค้นพบหลักฐานเกี่ยวกับเทศกาลละครใหญ่ในอดีตที่เลิกจัดไปแล้ว และเอกสารงานละครที่ดีที่สุดที่ทุกคนควรดูก่อนตาย และได้เชิญทายาทของนักการละครรายนั้นมารับรางวัล พร้อมเชิญหม่อมเจ้าหญิงหม่นหมองฯ ครูใหญ่แห่งวงการละครมาร่วมบรรยาย ซึ่งแน่นอนบทละครอุดมไปด้วยมุกตลกกัดแขวะผู้คนในวงการละครกันแบบอินไซด์ชนิดที่คนนอกก็อาจไม่เข้าใจว่าบทละครกำลังกล่าวถึงบุคคลใด

แต่นั่นก็มิใช่เรื่องใหญ่ เพราะผู้กำกับ-มือเขียนบท-และนักแสดงทั้งสามรายก็ออกแบบการแสดงมาแล้วให้ผู้ชมที่ไม่ได้คร่ำหวอดอยู่ในวงการละครสามารถสัมผัสได้ถึงน้ำเสียงเสียดสีเย้ยหยันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ต่อครูบาอาจารย์ นักวิจารณ์ และเหล่ากรรมการตัดสินรางวัลต่าง ๆ ที่มักจะใช้รสนิยมที่คิดว่าดีเลิศเปี่ยมไปด้วยเหตุผลทางวิชาการส่วนตัวมาตัดสินงานพิพากษางานของผู้อื่นอย่างมีอคติและไม่เป็นธรรมอยู่เสมอ

ซึ่งแม้ว่าการแสดงอาจฟังดูเกรี้ยวกราดไม่พอใจหรือถึงกับขาดมารยาทขนาดไหน แต่พวกเขาก็ไม่เคยใช้น้ำเสียงก้าวร้าว หากกลับตั้งคำถามต่อประเด็นต่าง ๆ เยี่ยงปัญญาชนคนรุ่นใหม่ที่ยึดมั่นในหลักการว่า หากพวกเขาสงสัยในสิ่งไหนก็ต้องมีสิทธิ์ไต่ถามหรือตั้งประเด็นได้ในแนวทางของพวกเขามิใช่หรือ

ทุก ๆ ข้อวิพากษ์วิจารณ์เล่นล้อของการแสดงชิ้นนี้จึงล้วนน่าพินิจและน่าฟัง เป็นกระจกฉาบด้วยวัสดุร่วมสมัยที่ชวนให้ผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการละครไทยทั้งหลายต้องหันมาส่องมองตัวเองใหม่จากมุมอันร่วมสมัยเหล่านี้กันเลยทีเดียว

สำหรับการแสดงที่เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดในเทศกาลปีนี้ เพราะคว้าไปถึงสองรางวัลรวมถึงรางวัลใหญ่ก็คือการแสดงที่ใช้การเคลื่อนไหวร่างกายชื่อ FRAG [MENT] โดยกลุ่ม Good Thank Assosiation เจ้าของรางวัลการกำกับศิลป์ยอดเยี่ยมและการแสดงยอดเยี่ยมประจำเทศกาลไปพร้อม ๆ กันใน พ.ศ. 2563 นี้

160681871240

FRAGMENT : ภาพโดย BTF

FRAG [MENT] เป็นการแสดงที่ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายเพียงเรื่องเดียวที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลในสาขาการแสดงยอดเยี่ยมประจำปีนี้ ในขณะที่เรื่องอื่น ๆ ล้วนเป็นละครพูดเป็นหลัก ซึ่งก็ต้องถือว่าเป็นงานที่ทำออกมาได้อย่างละเอียดประณีต ถึงพร้อมด้วยคุณสมบัติของการเป็นงานศิลปะ ด้วยการจัดการแสดงในห้องสตูดิโอชั้น 4 ของหอศิลปะและวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร แต่โรยพื้นที่แสดงด้วยเม็ดหินสีดำ มีพื้นที่เป็นแอ่งน้ำอยู่ตรงกลาง และกระจกกลมเรียงรายบนพื้นอยู่รอบข้าง แล้วให้นักแสดงพร้อมทั้งนักพากย์ถ้อยความ นักร้องหญิงและนักดนตรี ทำหน้าที่ของตนเองท่ามกลางความมืดซึ่งมีลำแสงคอยส่องเพียงเฉพาะจุด จนได้เป็นการแสดงที่สะท้อนเศษเสี้ยวแห่งความอ่อนไหวของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งรายล้อมอันหมดจดงดงามตะลึงหูตะลึงตา

นักแสดงทั้งหมดสามารถค่อย ๆ เคลื่อนไหวร่างกายอย่างเชื่องช้าสร้างภาพองค์รวมที่วิจิตรและสมดุลในลักษณะของ tableau vivant ชนิดที่สามารถบันทึกเป็นภาพถ่ายศิลปะได้ทุก ๆ ช็อตทุก ๆ จังหวะเลยทีเดียว

การคว้ารางวัลใหญ่ในเทศกาลละครกรุงเทพของ FRAG [MENT] ในปีนี้สะท้อนถึงคุณภาพอันเข้มข้นของรูปแบบการแสดงสดในประเทศไทยอันหลากหลาย ไม่เพียงเฉพาะละครพูดหลากเนื้อหาหลายประเด็นให้เลือกชม แต่ยังมีการแสดงเคลื่อนไหวร่างกายที่คล้ายเป็นงานศิลปะชิ้นใหญ่ ซึ่งก็น่าประทับใจได้ไม่แพ้การแสดงประเภทอื่น ๆ ด้วยเหมือนกัน

สำหรับคณะกรรมการตัดสินรางวัล BTF Award สายประกวดหลักประจำปี พ.ศ. 2563 นี้ประกอบไปด้วยครูอาจารย์ด้านการละคร นักวิจารณ์ และศิลปินรวมทั้งสิ้น 5 ท่าน ได้แก่ ผศ. ดร. ภัทรา โต๊ะบุรินทร์ , ผศ. ดร. พันพัสสา ธูปเทียน, ดร.อลงกต ใหม่ด้วง , คุณแก้วตา เกษบึงกาฬ และคุณวิทยา สุทธินิเทศน์