"ส.ส.ฝ่ายค้าน"จ่อไม่รับหลักการ "ร่างพ.ร.บ.ประชามติ"

"ส.ส.ฝ่ายค้าน"จ่อไม่รับหลักการ "ร่างพ.ร.บ.ประชามติ"

"ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน" ชี้ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ไม่พิทักษ์สิทธิออกเสียงประชาชน เอื้อรัฐให้ดำเนินคดีประชาชนที่เห็นต่าง จ่อไม่รับหลักการ

     นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่าตนไม่สามารถรับหลักการของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... ได้ แม้จะต้องกา เหตุผลคือ จำกัดสิทธิ และการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะการแสดงความเห็น รณรงค์ออกเสียงประชามติ ที่กำหนดให้ภาครัฐ หรือคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ดำเนินการเท่านั้น และปิดกั้นการรณรงค์ การให้ข้อมูลและการแสดงความเห็น ขณะที่บทกำหนดโทษรุนแรงมาก อาทิ มาตรา 60 กำหนดบทลงโทษให้ติดคุก 10 ปี ปรับ2แสนบาท กรณีที่สร้างความวุ่นวายในการออกเสียงประชามติ ถือว่าเป็นการดำเนินคดีอาญากับประชาชนอย่างรุนแรง ทั้งนี้ขอให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ รับปากว่าจะแก้ไขเนื้อหา ตนพร้อมจะลงมติรับเนื้อหา

160681538764

     ขณะที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายเสนอให้ปรับปรุงเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ประชามติ เพื่อรองรับการออกเสียงประชามติผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือ อินเตอร์เน็ตโหวตติ้ง ทั้งนี้ข้อกำหนดให้ออกเสียงตรงและลับ ทั้งนี้การออกเสียงประชามติไม่ใช่ทุกประเด็นต้องใช้การออกเสียงแบบลับ เช่น ใช้ประชามติหาทางออกของสังคม เสริมสร้างการมีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบายและแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพราะไม่มีผลทางกฎหมายที่มีผลผูกพันให้รัฐบาลต้องดำเนินการ ดังนั้นควรคำนึงถึงประสิทธิภาพมากกว่าทางตรงและลับ หมายถึง ต้องให้การออกเสียง ทำได้เร็ว , ง่าย,สะดวก, เท่าเทียม และประหยัดค่าใช้จ่าย

     “หากไม่สามารถโหวตออนไลน์ได้ จะเสียโอกาสที่หาทางออกให้สังคม เสียงบประมาณกว่า 4,000 ล้านบาทต่อการทำประชามติ1ครั้งผ่านการเข้าคู่หา ทั้งนี้ทำให้คนไทยในต่างแดนเสียสิทธิการออกเสียง อย่างไรก็ตามรัฐ ควรออกกฎหมายเพื่อรองรับให้ทำประชามติแบบออนไลน์ได้ในอนาคต ตามดิจิทัลแพลตฟอร์มที่รัฐออกแบบ” นายณัฐพงษ์ อภิปราย

160681538816

      ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในฐานะบุคคลที่ถูกจับและดำเนินคดีเมื่อครั้งรณรงค์ไม่รับประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ด้วยการแจกใบปลิว ว่า เนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ประชามติ ที่เสนอต่อรัฐสภามีปัญหา 3 ประการ ได้แก่ มาตรา 60 (3) บัญญัติคำว่า หลอกหลวง, ขู่เข็ญ จูงใจเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิ ให้ถือว่าเป็นความผิด และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องออกเสียงประชามติเป็นเท็จให้กลายเป็นความผิด ทำให้เกิดปัญหาตีความและใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งผู้รณรงค์ประชามติ ไม่ต่างจากในอดีต , มาตรา 31 นิรโทษกรรมให้เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ให้รับผิดทางแพ่ง อาญา ปกครอง หากทำหน้าที่โดยสุจริต หากเกิดกรณีที่ปฏิบัติหน้าที่ที่ละเมิดสิทธิของประชาชน อาจใช้เป็นข้ออ้างของเจ้าหน้าที่ได้ และ 3. กรณีกำหนดให้ใช้เกณฑ์ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ จึงถือว่าเป็นการทำประชามติที่มีผลโดยกฎหมาย อาจทำให้เกิดผลลัพท์ในทำนองเดียวกันกับไม่เห็นชอบ ทำให้รัฐบาลไม่รณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิประชามติได้ ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ฉบับที่เสนอนั้นไม่พิทักษ์สิทธิการใช้เสรีภาพของประชาชน แต่กลับพบการให้สิทธิเจ้าหน้าที่มากกว่า

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาหลายคนอภิปรายให้แก้ไขเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ประชามติ ให้เป็นกฎหมายกลาง ไม่ใช่ใช้เพื่อทำประชามติรัฐธรรมนูญ หรือเป็นเรื่องระดับชาติเท่านั้น และควรให้สิทธิภูมิภาคสามารถได้สิทธิทำประชามติเรื่องที่มีความสำคัญกับพื้นที่ด้วย.