'ก้าวไกล' หวังศาลรธน.ตัดสิน 'ประยุทธ์' บนหลักนิติรัฐ

'ก้าวไกล' หวังศาลรธน.ตัดสิน 'ประยุทธ์' บนหลักนิติรัฐ

'ก้าวไกล' จับตาศาลรธน.ชี้ขาดเก้าอี้นายกฯ หวัง รักษาหลักการนิติรัฐ หาทางออกให้ประเทศ

ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร และนายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เเถลงต่อสื่อมวลชนกรณีศาลรัฐธรรมนูญ นัดอ่านคำวินิจฉัยคำพิพากษาในวันพรุ่งนี้ ( 2 ธันวาคม 2563 ) กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พักอาศัยบ้านพักราชการหลังเกษียณอายุราชการ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เเละสิ้นสุดการเป็นนายกรัฐมนตรี โดยนายธีรัจชัย กล่าวว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 ที่บัญญัติไว้ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เเละวุฒิสภา ต้องไม่รับเงินหรือประโยชน์อื่นใดหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐเป็นพิเศษ (คำว่าไม่รับเงินคือห้ามรับ เเม้จะมีสิทธิรับก็ตาม ) ซึ่งในประเด็นนี้มีข้อสังเกตคือ แม้ระเบียบของทางกองทัพบกจะเสนอว่าให้ทำได้ แต่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ว่า ส.ส. ส.ว. นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี ได้ถูกบัญญัติห้ามไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน หากมีการคำนวนระยะเวลาการพักอาศัยในบ้านพักราชการของพลเอกประยุทธ์ มีค่าน้ำค่าไฟ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตลอดระยะเวลาหลายปี มีค่าใช้จ่ายเกิน3000บาทแน่นอน และไม่นับว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้ทำประโยชน์ให้บ้านเมือง แต่มาทำให้ประเทศชาติมีปัญหาซับซ้อนมากขึ้นตั้งแต่เป็นหัวหน้า คสช. จนสืบทอดอำนาจมาเป็นนายกรัฐมนตรี

นายธีรัจชัย กล่าวว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะได้ใช้อำนาจ กลไกของคณะรัฐประหารวางบุคคลใกล้ชิดมาดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งตุลาการในศาลรัฐธรรมนูญหลายคนก็ได้รับการแต่งตั้งและได้รับผลพลอยได้มาจาก คสช. อาทิ การสรรหาโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. โดย คสช.ออกคำสั่งที่ 48/2557 และมี สนช.ซึ่งแต่งตั้งโดยคสช.เป็นผู้พิจารณาเห็นชอบ จึงหวังว่ากระบวนการยุติธรรมต้องไม่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการรักษาอำนาจให้กับผู้มีอำนาจ หรือใช้เป็นทางลงให้กับผู้มีอำนาจ เพราะจะเป็นการทำลายหลักการนิติรัฐของประเทศ ไม่เป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นและเชื่อถือในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน 

ด้าน นายวิโรจน์ กล่าวว่า หากพิจารณาจาก “ระเบียบกองทัพบกว่าด้วยการเข้าพักอาศัยในอาคาร บ้านพักของข้าราชการและลูกจ้างประจำในกองทัพบก พ.ศ.2553” ในหมวดที่ 3 ในข้อที่ 14.2 ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า บุคคลที่พ้นจากการเป็นข้าราชการไม่ว่ากรณีใดต้องย้ายออกจากบ้านพัก และในข้อที่ 15.1 ยังได้กำชับไว้ด้วยว่า กรณีที่ออกจากราชการไม่ว่ากรณีใด จะต้องย้ายออกจากบ้านพัก ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง ถ้ายึดหลักตามนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 58 เป็นต้นไป พล.อ.ประยุทธ์ จะมาอยู่ฟรีในบ้านพักสวัสดิการทหาร ไม่ได้อีกต่อไป

นายวิโรจน์ กล่าวว่า นี่เท่ากับว่าจนถึงปัจจุบันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ถือวิสาสะอยู่ในบ้านพักสวัสดิการทหารแบบฟรีๆ ไม่ต้องเสียค่าเช่า มาถึง 5 ปี 8 เดือน ซึ่งจากการหาราคาบ้านเช่า ในย่านกรมทหารราบที่ 1 เขตพญาไท ก็พบว่าค่าเช่าบ้าน อย่างต่ำๆ ก็ต้องมีเดือนละประมาณ 49,000 บาท เท่ากับว่า การอยู่บ้านพักสวัสดิการทหารแบบฟรีๆ มา 5 ปี 8 เดือน ของ พล.อ.ประยุทธ์ นี่มีมูลค่าสูงถึง 3.3 ล้านบาท และจากประกาศของ ป.ป.ช. ก็ได้ห้ามมิให้เจ้าพนักงานรัฐรับทรัพย์ หรือประโยชน์อื่นใดเกิน 3,000 บาท ซึ่งได้ระบุเอาไว้ในข้อที่ 6 (1) อย่างชัดเจน ดังนั้น การอยู่บ้านพักแบบฟรีๆ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงถือเป็นการรับประโยชน์อื่นใดที่เกิน 3,000 บาท แน่นอน

"แม้ว่าหลักฐานทั้งหมด จะมัดแน่น จนดิ้นไม่หลุดขนาดนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยอภินิหารของรัฐธรรมนูญปี 60 ที่ คสช. ได้รังสรรค์ให้มีองคาพยพต่างๆ ขึ้นมา จึงเชื่อได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะรอดพ้นจากข้อกล่าวหานี้ไปได้แน่ๆ เพียงแต่สิ่งที่สังคมจับตา และเงี่ยหูฟัง อย่างใจจดใจจ่อก็คือ เรื่องราวนี้ ที่จะอธิบายว่า พล.อ.ประยุทธ์ นั้นรอดได้อย่างไร" นายวิโรจน์ กล่าว