"ส.ส.ฝ่ายค้าน"ชี้ไส้ใน "ร่างพ.ร.บ.ประชามติ" ไม่เป็นประชาธิปไตย-ปิดกั้นเสรีภาพคนเห็นต่าง

"ส.ส.ฝ่ายค้าน"ชี้ไส้ใน "ร่างพ.ร.บ.ประชามติ" ไม่เป็นประชาธิปไตย-ปิดกั้นเสรีภาพคนเห็นต่าง

ที่ประชุมรัฐสภา อภิปรายท้วงติงต่อเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ประชามติ ชี้ไม่เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายรณรงค์แสดงความเห็น ด้าน "ส.ส.ก้าวไกล" ชี้เจตนาคนเขียน ไม่ต้องการให้เกิดประชาธิปไตยทางตรง

      ที่ประชุมรัฐสภา ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.... ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา นั้น ได้ทักท้วงต่อการบัญญัติเนื้อหาที่ไม่เปิดกว้าง หรือให้สิทธิเสรีภาพของบุคคลต่อการแสดงความเห็นอย่างรอบด้าน ทั้งประเด็นการรับหรือไม่รับเรื่องที่ให้ออกเสียงประชามตินั้นได้

        โดย นายนิยม เวชกามา ส.ส. สกลนคร พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ต้องการให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้โดยไม่ผิดกฎหมาย เหมือนกับการรณรงค์ทำประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 พบผู้ที่เห็นต่างและรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญถูกจับดำเนินคดี ทั้งนี้ร่างพ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 14 กำหนดให้การเผยเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้เผยแพร่เท่านั้น ดังนั้นเมื่อจะทำประชามติแล้วควรให้ประชาชนมีสิทธิแสดงความเห็นทั้งเห็นด้วยและเห็นคัดค้านได้

        ขณะที่นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา อภิปรายทักท้วงต่อผลสรุปของการรับฟังความเห็นของประชาชน ก่อนการจัดทำร่างกฎหมายประชามติ ทั้งนี้จากเอกสารแนบหลายมาตราพบว่าไม่มีประชาชนแสดงความเห็นทั้งที่เป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประชาชน นอกจากนั้นการทำประชามติ ควรเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีส่วนริเริ่มเสนอเรื่องทำประชามติด้วย ไม่ใช่ให้ ครม.​เป็นผู้ริเริ่มเท่านั้น

160680524211

        ทางด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.​พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การทำประชามติ เมื่อ 7 สิงหาคม 2559 พบการลงโทษและจับกุมผู้รณรงค์ที่เห็นต่าง และทำให้ประชาชนได้รับข้อมูลเพียงชุดเดียว ทั้งนี้ตนเชื่อว่าหากการทำประชามติรอบนั้น โดยเฉพาะประเด็นคำถามพ่วงให้สิทธิส.ว.ที่มาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ร่วมเลือกนายกฯ เปิดกว้างให้ข้อมูลรอบด้าน เชื่อว่าจะไม่ทำให้เกิดกรณีตู้คอนเทนเนอร์ หรือการชุมนุมเหมือนปัจจุบัน โดยร่างพ.ร.บ.ประชามติ ต้องให้สิทธิเสรีภาพกับบุคคลทุกฝ่าย ทั้งผู้เห็นต่างและเห็นด้วย อย่างไรก็ตามตนต้องรับหลักการของร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวเพื่อจะตรวจสอบไส้ในของเนื้อหา

        ขณะที่นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายว่าเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ประชามติ ยังให้สิทธิรัฐเป็นผู้เล่น และผู้ทำร่างเหมือนไม่ต้องการให้เป็นไปตามเจตนาประชาธิปไตย เพราะไม่เคยถอดบทเรียนของกระบวนการทำประชามติเมื่อปี 2559 ที่ประชาชนไม่เคยรับรู้ถึงสาระของเนื้อหา โดยเฉพาะการให้สิทธิส.ว. ร่วมลงมติเลือกนายกฯ

      “ร่างพ.ร.บ.ประชามติ มุ่งสู่เจตนารมณ์ ให้ประชาชนใช้ประชาธิปไตยทางตรงเพื่อการตัดสินใจร่วมกันทางการเมืองเกิดขึ้น รัฐไม่ควรลงตัวเป็นผู้เร้น เอาวาระซ่อนเร้นออกให้หมด ทั้งนี้ต้องไม่ใช้อำนาจแบบพวกมากลากไป แต่ต้องใช้ความจริงใจเพื่อนำปัญหาออกจากประเทศ” นายจิรัฎฐ์ อภิปราย

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาก่อนรับหลักการยังคงเป็นการท้วงติงต่อเนื้อหาเพื่อให้การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการวิสามัญนำไปพิจารณาเพื่อปรับปรุง โดยเฉพาะประเด็นการให้สิทธิเสรีภาพ ต่อการเผยแพร่ และรณรงค์เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ ไม่ผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันยังเสนอให้พิจารณาบทกำหนดโทษสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลที่จงใจบิดเบือนเนื้อหาด้วย.