‘เอ็นไอเอ’ จุดพลุ ‘นวัตกรรมเมือง' ตอบโจทย์สังคมอุบัติใหม่

‘เอ็นไอเอ’ จุดพลุ ‘นวัตกรรมเมือง' ตอบโจทย์สังคมอุบัติใหม่

ภายใต้การขยายตัวของเมือง มีทั้งบริบทของความเปลี่ยนแปลงในด้านพฤติกรรม และสิ่งรอบข้างอย่างเทคโนโลยี นวัตกรรม อีกทั้งปัญหาของสภาวการณ์อย่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นำมาซึ่งปัญหาบางประการที่ส่งต่อความเป็นอยู่ของประชาชนภายใต้ “มิติปัญหาสังคมอุบัติใหม่"

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม จึงเดินหน้าจัดทำ “โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน” (City & Community Innovation Challenge) ครั้งแรกในปี 2561 มุ่งค้นหาและสนับสนุนการสร้างและใช้นวัตกรรมสำหรับเมือง 3 ด้าน ได้แก่ เมืองแห่งนวัตกรรมสีเขียว เมืองแห่งความเท่าเทียม และนวัตกรรมการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ โดยให้การสนับสนุนไปแล้วกว่า 36 โครงการ มูลค่าการสนับสนุน 38.92 ล้านบาท ก่อให้เกิดการลงทุนกว่า 185.38 ล้านบาท มีการต่อยอดให้เกิดการใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาในสังคมและชุมชนนั้นๆ ได้อย่างแท้จริงกว่า 70-80%

160680434281

‘โลก’เปลี่ยนนวัตกรรมจึงต้อง ‘ปรับ’

แม่ทัพใหญ่ของการขับเคลื่อน “พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการเอ็นไอเอ กล่าวว่า จากการเติบโตอย่างรวดเร็วของสังคมเมืองและชุมชน ส่งผลให้ในแต่ละปีประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาที่หลากหลาย อย่างเช่นการที่คนไทยอยู่ในเมืองจำนวนมากเกินครึ่งของประชากรมาสักระยะหนึ่ง 

เพราะฉะนั้นตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 2560 เป็นต้นมาคนอยู่ในเมืองเยอะขึ้นมากกว่าชนบท ต่อให้เป็นชุมชนในอำเภอ หรือตำบล ก็มีความเป็นเมืองเช่นกัน ซึ่งอาจจะเป็นภาพเมืองเล็กๆ มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่เยอะขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ประเด็นเรื่องของสังคมวัยวุฒิที่มาเร็วของไทยจึงไม่ต่างกับสิงคโปร์

160680430266

อีกทั้งโครงสร้างประชากรในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเป็นโครงสร้างประชากรที่ตรงกันข้ามกับเมื่อ 50 ปีก่อน มีเด็กเกิดใหม่น้อยลง ส่วนคนที่อายุเกิน 30 ขึ้นไปจะมากขึ้น และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ pandemic ทำให้ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ การงาน สุขภาพ เรื่องของความมั่นคงปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินจะสูงขึ้น เพราะคนอยู่ในเมืองไม่มีทางเลือกมากนัก

ดังนั้น โครงการในส่วนของปี 2561 ได้ดำเนินการถึงขั้นที่เรียกว่าสามารถนำไปประยุกต์ใช้จริงได้แล้ว และส่วนที่จะขยายผลคือในส่วนของปี 2562 อย่างเช่นโครงการเด่นๆ ที่เห็นผลและสามารถนำไปนำร่องใช้ได้แล้วนั้น อาทิ โครงการ BIP: นวัตกรรมเพื่อการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมยานยนต์ ด้วยเทคโนโลยี NB-IOT GPS TRACKER พร้อมกับมีแอพพลิเคชั่นติดตาม

โครงการในปี 2564 จะยิ่งตอกย้ำสิ่งที่เคยมองว่าเป็นประเด็นไกลตัว กลับมาอยู่ใกล้ตัวมากขึ้นแทบทุกประเด็น ทางเอ็นไอเอจึงได้มีการศึกษาและวิเคราะห์แนวโน้มปัญหาที่จะเกิดขึ้น พร้อมคาดการณ์อนาคต (Foresight) เพื่อวางแผนรับมือใน 4 ปัญหาหลัก อีกทั้งได้มองภาพอนาคตในอีก 1-2 ปี เพื่อดึงดูดคนให้เข้ามาสนใจที่จะแสวงหานวัตกรรมมาพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมและชุมชนเมือง โดยมุ่งเน้นใน 3 เรื่อง (ภาพกราฟฟิก) 

160680438221

“ภาพรวมโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมมีงบประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ไม่ได้ระบุว่ามีกี่โครงการ แต่ที่ผ่านมามีโครงการค่อนข้างน้อย จึงเป็นโจทย์ที่จะทำอย่างไรในการ grooming หรือ พัฒนา ให้ผู้พัฒนาสามารถได้รับการสนับสนุนและเกิดนวัตกรรมจำนวนมากในสาขานั้นๆในแต่ละปี”

เอ็นไอเอมีความเชื่อมั่นว่า นวัตกรรมที่มีอยู่ขณะนี้ รวมถึงนวัตกรรมที่จะส่งเสริมต่อไปในอนาคต จะสามารถรองรับปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างเพียงพอ ทั้งยังเชื่อว่าสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ ยังจะเป็นตัวแปรให้เกิดผู้ริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรม และทำให้ทั่วโลกได้เห็นถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่จะมาช่วยยกระดับความเป็นอยู่ในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายได้อย่างดีเช่นเดียวกัน

เน้นทำนวัตกรรมรักษาระยะห่าง

ขณะเดียวกันผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา พันธุ์อาจ มองเกี่ยวกับการใช้นวัตกรรมเข้ามาลดผลกระทบสิ่งที่จะเกิดขึ้นว่า ผลกระทบหากมองในอีกมุมหนึ่งถือได้ว่าเป็นโอกาส เพราะเน้นการทำ Social Distancing Innovation นวัตกรรมที่รักษาระยะห่าง ด้วยการที่มีหรือไม่มีวัคซีนคนจะไม่เข้าไปในพื้นที่สาธารณะเหมือนเดิม และเริ่มสนุกกับการขนส่งสินค้า 

ไม่ว่าจะเป็น สินค้าที่รอได้ และอาหาร ส่วนการออกแบบที่อยู่อาศัยที่เป็นลักษณะในเมือง อย่าง คอนโด อพาร์ตเมนต์ จะเริ่มมีกระบวนการบริหารจัดการในส่วนของมนุษย์มากขึ้น มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการให้บริการเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดความกังวลในการสัมผัสหรือปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์


160680440247

“นวัตกรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจและสังคม โควิดทำให้ Social Distancing กลายมาเป็นโจทย์สำคัญในการผลักดันการพัฒนาแพลตฟอร์ม การให้บริการ การเชื่อมโยงสังคมมากขึ้น จึงถือเป็นโอกาสและโจทย์ที่เพิ่มขึ้นมามากกว่า เพราะท้ายที่สุดแล้วมาตรการความปลอดภัย (safety protocol) กลายเป็นมาตรฐานการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่เพราะในอนาคตต่อให้ไม่มีโควิด ก็จะมี PM 2.5" 

คนก็ไม่อยากจะเข้าไปในพื้นที่ที่มีสิ่งเหล่านั้น และมีผู้คนแออัด อนาคตอาจจะถึงขั้นควบคุมการปล่อยคาร์บอน หรือสารต่างๆ ในระดับครัวเรือนมากขึ้น ดังนั้น นวัตกรรมที่จะมาตอบโจทย์จึงเริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์ อย่างเช่น เทคโนโลยีบล็อกเชนที่จะมาดูแลในเรื่องของสมาร์ทวีซ่า