'อินเดีย' โต้ไม่มีผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียง หลังฉีด 'แอสตร้าเซนเนก้า'

'อินเดีย' โต้ไม่มีผู้ป่วยเกิดอาการข้างเคียง หลังฉีด 'แอสตร้าเซนเนก้า'

สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดียโต้ข้อกล่าวหามีผู้ป่วยฉีดวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซเนก้า เกิดผลข้างเคียงรุนแรง พร้อมขู่ฟ้องกลับ หลังอาสาสาสมัครรายหนึ่งยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านรูปี

สถาบันเซรุ่มแห่งอินเดีย (เอสไอไอ) ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่กำลังเป็นข่าวสะพัดอยู่ในขณะนี้ว่า มีอาสาสมัครคนหนึ่งที่เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19ที่พัฒนาร่วมโดยบริษัทแอสตร้าเซเนก้ากับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดมีอาการของผลข้างเคียงรุนแรง และประกาศว่าจะดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมายต่อผู้เผยแพร่ข้ออ้างที่ไม่เป็นความจริง 

เอสไอไอ ผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ที่สุดของโลก กำลังจัดการทดสอบวัคซีนของแอสตร้าเซเนก้า ให้กับประชาชนในท้องถิ่น อันเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงการผลิตร่วมกัน แต่ถูกยื่นฟ้องจากอาสาสมัครคนหนึ่งในเมืองเจนไน ทางภาคใต้ของอินเดีย ที่อ้างว่า เขามีอาการข้างเคียงและได้รับความทุกข์ทรมานจากอาการทางระบบประสาทและจิตใจที่ร้ายแรง หลังได้รับการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ที่ชื่อ “โควิชิลด์” (Covishield) เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2563 และต้องเข้ารับการรักษาตัวในห้องไอซียูหลังจากนั้น และเรียกร้องค่าเสียหายจำนวน 50 ล้านรูปี หรือกว่า 20 ล้านบาท แต่เอสไอไอ ออกแถลงการณ์ยืนยันว่า อาการป่วยของอาสาสมัครไม่เกี่ยวกับวัคซีน และข้อกล่าวนี้เป็นอันตรายและเข้าใจผิด ซึ่งเอสไอไอเตรียมจะฟ้องกลับ

เหตุการณ์นี้ ยิ่งเพิ่มความสนใจจากทั่วโลกต่อวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซเนก้าที่เร่งดำเนินการทดสอบ อันเป็นหนึ่งในความพยายามของฝั่งตะวันตกที่หวังจะได้รับการอนุมัติให้ใช้งานได้ภายในสิ้นปีนี้ การพัฒนาที่ปกติต้องใช้เวลาหลายปี ถูกบีบอัดให้ลดเหลือไม่กี่เดือน เพราะความเร่งด่วนของการแพร่ระบาด ท่ามกลางคำถามที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถึงความปลอดภัยว่ามีเพียงพอหรือไม่