'จีน' ครองเจ้าตลาดส่งออกโลก แม้ทำ 'สงครามการค้า' สหรัฐ

'จีน' ครองเจ้าตลาดส่งออกโลก แม้ทำ 'สงครามการค้า' สหรัฐ

"จีน" ครองเจ้าตลาดส่งออกโลกแม้ทำสงครามการค้าสหรัฐ ขณะที่การบริโภคในยุโรปและในสหรัฐที่ฟื้นตัวขึ้นช่วยหนุนยอดส่งออกสินค้าจากจีนในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นด้วย

แม้หลายประเทศเริ่มมองหาระบบห่วงโซ่อุปทานอื่นที่ไม่ใช่จีนเพียงแห่งเดียวเพื่อเลี่ยงภาวะปั่นป่วนเหมือนที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ใหม่ๆ รวมทั้งการที่สหรัฐและจีนยังคงทำสงครามการค้าระหว่างกันอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้ว จีนยังคงมีบทบาทนำในตลาดส่งออกโลก ระบบห่วงโซ่อุปทานของหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียยังคงพึ่งพาจีนต่อไป แถมยังพึ่งพามากขึ้นโดยเฉพาะเมื่อจีนเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป)

ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมองว่า การที่จีนมีส่วนร่วมในความตกลงอาร์เซ็ปเมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเป็นการทำข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศในเอเชียและโอเชียเนีย 15 ประเทศ จะสนับสนุนบทบาทของจีนในเวทีการค้าโลกมากขึ้น ซึ่งการตั้งข้อสังเกตของบรรดาผู้เชี่ยวชาญไม่น่าจะเกินเลยจากความเป็นจริงมากนัก เพราะทุกวันนี้ ผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆที่จีนผลิตออกมามีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดส่งออกโลก

เว็บไซต์นิกเคอิได้วิเคราะห์ข้อมูลของผลิตภัณฑ์ 3,800 รายการที่รวบรวมโดยศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ (ไอทีซี) พบว่า มีผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ 320 รายการในปี 2562 ที่จีนครองส่วนแบ่งในตลาดส่งออกของโลกในสัดส่วนกว่า 50% เทียบกับเมื่อปี 2544 ตอนที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก(ดับเบิลยูทีโอ)จำนวนผลิตภัณฑ์ที่จีนผลิตมีเพียง 61 รายการ ก่อนที่จำนวนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากจีนอยู่ในภาวะทรงตัวในปี 2559 เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐเข้ามาบริหารประเทศและเริ่มประกาศสงครามการค้ากับจีน จนมาถึงปีที่แล้ว ที่จำนวนผลิตภัณฑ์ประเทศต่างๆจากจีนเริ่มเพิ่มขึ้นอีกครั้ง

การส่งออกคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กผลิตในจีนมีสัดส่วน 66% ของตลาดส่งออกโดยรวมในปี 2562 มีมูลค่า 95.6 พันล้านดอลลาร์ ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดของชิ้นส่วนแอลซีดีที่ใช้ผลิตคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ่้นกว่า 50% และส่วนแบ่งตลาดของเครื่องปรับอากาศอยู่ที่ 57% และอ้างล้างหน้ารวมทั้งโถชักโครกทำจากเซรามิกก็มีส่วนแบ่งตลาดสูงไม่แพ้กันคือ 80%

ความต้องการสินค้าประเภทต่างๆที่กล่าวมาข้างต้นเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกจำเป็นต้องอยู่แต่ในบ้าน ทำให้การส่งออกสินค้าเหล่านี้จากจีนไปยังประเทศต่างๆเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และแนวโน้มที่เกิดขึ้นนี้มีความชัดเจนมากขึ้นเมื่อคำนวณที่ส่วนแบ่งการตลาดของยอดส่งออกของจีนไปยังชาติเศรษฐกิจสำคัญๆ

ในเดือนก.พ. ยอดส่งออกของจีนมีสัดส่วน 14% ของมูลค่าการส่งออกโดยรวมของประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(โออีซีดี)บวกจีน และตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือในเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้น 17% เดือนเม.ย.เพิ่มขึ้น 24% และขณะที่รัฐบาลจีนควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้แล้ว แต่บรรดาประเทศต่างๆทั่วโลก ยังคงต้องต่อสู้กับการระบาดของโรคนี้อยู่

นับตั้งแต่เดือนเม.ย. ยอดส่งออกของจีนยังคงเพิ่มขึ้นกว่า 20% สูงกว่าการปรับตัวเพิ่มขึ้นรายปีที่ทะยานขึ้นไปแตะระดับสูงสุดในประวัติศาสตร์ 19% ในปี 2558 ขณะที่การบริโภคในยุโรปและในสหรัฐที่ฟื้นตัวขึ้นช่วยหนุนยอดส่งออกสินค้าจากจีนให้เพิ่มขึ้นด้วยในปี 2563และตัวเลขล่าสุดก็บ่งชี้ว่ายอดส่งออกของจีนในขณะนี้อยู่เหนือระดับก่อนที่สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนจะเริ่มเปิดฉากขึ้น

ด้านกรมศุลกากรในเมืองเทียนจินซึ่งมีท่าเรือใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของจีน ระบุว่าจีนส่งออกสินค้าประเภทต่างๆเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และระบบห่วงโซ่อุปทานของจีนก็ฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นๆ ขณะที่ผลผลิตทางด้านอุตสาหกรรมก็เพิ่มขึ้น โดยบริษัทแห่งหนึ่งในเมืองเทียนจิน ซึ่งปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อ บอกว่า มีสินค้าคงค้างในสต็อกที่ต้องส่งให้ลูกค้าคือจักรยานและเฟอร์นิเจอร์เป็นเวลานานกว่า 2 ปีด้วยกัน

แต่การพึ่งพาสินค้าจากจีนมากขึ้นก็เพิ่มความเสี่ยงให้แก่หลายประเทศที่นำเข้าสินค้าจากจีนด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ที่กำลังมีปัญหาขาดแคลนหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ทางการแพทย์อย่างรุนแรงเพราะโรงงานในจีนผลิตไม่พอกับความต้องการ

ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่น ตัดสินใจที่จะให้การสนับสนุนด้านต่างๆแก่บริษัทที่จะย้ายฐานการผลิตจากจีนมายังญี่ปุ่น และล่าสุด รัฐบาลได้รับใบสมัคร 1,760ใบ รวมทั้งใบสมัครจากบริษัทผลิตเซมิคอนดักเตอร์ จอแอลซีดีและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ

ขณะที่ผลศึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศของสถาบันปีเตอร์สันระบุว่า การลงนามในความตกลงอาร์เซ็ป เมื่อวันที่ 15พ.ย.ที่ผ่านมาอาจช่วยเพิ่มบทบาทของจีนในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น และจะทำให้เกิดเขตเสรีการค้าในเอเชีย ปริมาณการส่งออกทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 500,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2573 เพราะผลพวงในแง่บวกเช่นการลดภาษีศุลกากร โดยจีนจะได้ประโยชน์มากที่สุด ด้วยมูลค่าการส่งออกของจีนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 248,000 ล้านดอลลาร์

นาโอโตะ ไซโตะ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยไดวา ให้ความเห็นว่า บริษัทญี่ปุ่นจำเป็นต้องปรับปรุงขีดความสามารถด้านการผลิตด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าประเภทต่างๆที่ผลิตออกมา และเพื่อรักษาขีดความสามารถด้านการแข่งขันเอาไว้ บริษัทญี่ปุ่นไม่ควรมองข้ามความแข็งแกร่งของระบบห่วงโซ่อุปทานของจีนด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ บริษัทญี่ปุ่นจึงต้องสร้างสายสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งกับจีน และให้ความสำคัญกับการสนับสนุนบริษัทเอกชนของรัฐบาลปักกิ่ง รวมทั้งการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาด้วย