ธปท.รับต่างชาติเก็งบาท จ่องัดมาตรการ'คุมเพิ่ม'

ธปท.รับต่างชาติเก็งบาท  จ่องัดมาตรการ'คุมเพิ่ม'

ธปท.รับค่าเงินบาทพ.ย.แข็งค่า สั่งเกา่ะติดค่าเงินบาทเรียลไทม์ 24 ชั่วโมง รับพบพฤติกรรมเก็งกำไรบาทจากนักลงทุนต่างชาติ แต่เชื่อส่วนใหญ่หวังเข้ามาลงทุน หลังไทยรับข่าวบวกวัคซีนโควิด จ่อแถลงแพ็คเกจระยะสั้น-ยาว 9 ธ.ค. นี้ หวังเอื้อบาทเคลื่อนไหวสองทิศทาง

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันธปท.มีการติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด 24 ชั่วโมง โดยยอมรับว่า ปัจจุบันค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นในพ.ย. 2563 หากเทียบกับเดือนต.ค.ที่ผ่านมา โดยพบว่าค่าเงินบาท ในเดือนพ.ย. ตั้งแต่ต้นเดือนถึง 27 พ.ย. ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 2.9% จากเดือนต.ค.ที่แข็งค่า 0.4 % แต่หากดูค่าเงินบาท ตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบันพบว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาราว 1.1 % ขณะที่ความผันผวนของค่าเงินบาทพบว่าเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นเป็นกว่า 5% จากค่าเฉลี่ยในปี 2562 ที่อยู่ที่กว่า 4%

สาเหตุหลักๆมาจากเงินทุนไหลเข้าที่กลับเข้ามา หลังจากก่อนหน้านี้ ที่มีการดึงเงินกลับ เพราะมองว่าขณะนี้ไทยมีข่าวดีจากข่าวการพัฒนาวัคซีนไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่ หรือโควิด-19 ที่เป็นผลดีกับการท่องเที่ยวไทย ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อมั่นและกลับเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

  • รับต่างชาติเก็งกำไร

อย่างไรก็ที่ผ่านมา ยอมรับว่า เห็นพฤติกรรมของนักลงทุนต่างชาติ ที่เข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น ในการเข้ามาลงทุนในไทย และตลาดเกิดใหม่บ้าง แต่ไม่ใช่เข้ามาเพื่อหวังเก็งกำไรทั้งหมด เพราะการเข้ามาลงทุนของนักลงทุน ส่วนใหญ่มีการคำนึงถึงผลตอบแทน และเพื่อต้องการบริหารสภาพคล่องระยะสั้น ซึ่งธปท.พยายามดูแลเพื่อไม่ให้ผันผวนสูงจนเกินไป แต่ไม่ใช่ปิดกั้นการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เพราะสิ่งที่ธปท.กังวล คือผลข้างเคียงของนักลงทุน ที่ต้องการเข้ามาลงทุนเพราะมองว่าประเทศไทยมีผลตอบแทนที่ดี และมีพื้นฐานที่ดี

อย่างไรก็ตาม ในที่ 9 ธ.ค.นี้ ธปท.เตรียมจะแถลงข่าวแพ็คเกจ การดูแลค่าเงินบาทในระยะข้างหน้า ทั้งแผนระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจใหญ่ ในการดูแลปัญหาเชิงโครงสร้างของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อเอื้อให้ค่าเงินบาท เคลื่อนไหว 2 ทิศทางมากขึ้น และเพื่อให้ผู้ประกอบการมีความทนทานต่อการเคลื่อนของค่าเงินบาทในอนาคต ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ครบองค์ประกอบ

“ความผันผวนค่าเงินบาท ไม่ใช่แค่เกิดจากปัจจัยระยะสั้น แต่ยังมาจากโครงสร้างของอัตราแลกเปลี่ยนไทยด้วย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาแก้ไข ซึ่งแบงก์ชาติพยายามแก้ไขให้ครบองค์ประกอบ เพื่อให้ทั้งระยะสั้น และระยะยาวแก้ไปสู่จุดเดียวกัน เพื่อทำให้เงินบาทเคลื่อนไหว 2 ทิศทางมากขึ้น”

  • บาททรงตัวรอมาตรการ

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า เงินบาทปิดตลาดวานนี้ที่ 30.29 บาทต่อดอลลาร์ จากเปิดตลาดเมื่อเช้าที่ระดับ 30.28 บาทต่อดอลลาร์ ระหว่างวันเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 30.26-30.33 บาทต่อดอลลาร์ โดยดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับยูโร ขณะที่ค่าเงินในภูมิภาคเคลื่อนไหวแบบผสมผสาน

นักบริหารเงิน ระบุว่า ปัจจัยที่ตลาดจับตาดูเป็นเรื่องของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในต่างประเทศ และรายละเอียดแพ็คเกจมาตรการดูแลค่าเงินบาทของธปท. ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้(1ธ.ค.) ไว้ที่ 30.25-30.35 บาทต่อดอลลาร์

ขณะที่วานนี้นักลงทุนต่างชาติ เทขายหุ้นไทยออกมาค่อนข้างมาก โดยขายสุทธิถึง 4,372 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ 254 ล้านบาท

  • คาดศก.ไตรมาส4 ฟื้นต่อเนื่อง

ธปท.ยังได้แถลงภาพรวมเศรษฐกิจต.ค. พบว่า การหดตัวเศรษฐกิจสูงขึ้นหลังหมดปัจจัยบวกชั่วคราวจากวันหยุดยาวที่หมดไป แต่เชื่อว่าโดยรวมเศรษฐกิจอยู่ในทิศทางฟื้นตัว และจะเอื้อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องในไตรมาส 4 ได้ต่อ

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ พบว่า การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัว -1.1% จากที่ขยายตัวได้เล็กน้อยในเดือนกันยายนที่ระดับ 0.4% หลังจากปัจจัยชั่วคราววันหยุดยาวพิเศษหมดลงตามการใช้จ่ายที่ปรับลดลงในเกือบทุกหมวด โดยการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนกลับมาหดตัว และหมวดบริการหดตัวสูงขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าคงทน เช่น กลุ่มยานยนต์มีการเติบโตดีขึ้นจากแคมเปญและโปรโมชั่น

หากมองไปข้างหน้าการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมอยู่ในทิศทางของการฟื้นตัว เป็นผลมาจากกำลังซื้อที่ทยอยปรับดีขึ้น ทั้งการจ้างงานที่ปรับดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขจำนวนผู้เสมือนว่างงานที่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงมีอัตราที่ลดลง ส่วนหนึ่งมาจากสามารถหางานทำได้ แม้ว่าอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้น แต่เป็นผลมาจากแรงงานที่อยู่นอกระบบทยอยเข้ามาหางานทำในระบบมากขึ้น ซึ่งเป็นดัชนีที่ธปท.จับตาดูอย่างใกล้ชิด แม้ว่าจะลดลงแต่ยังมีความเปราะบาง และยังอยู่ในระดับสูง รายได้ของครัวเรือนภาคครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรปรับดีขึ้น

ขณะที่การส่งออกหดตัวอยู่ที่ -5.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และหากไม่รวมส่งออกทองคำจะหดตัวอยู่ที่ -5% โดยเป็นการหดตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนตามการส่งออกในบางหมวดสินค้า

  • ลงทุนเอกชนยังซบเซา

สำหรับตัวเลขการลงทุนภาคเอกชน ครั้งนี้ถือเป็นตัวเลขที่ซบเซาที่สุด โดยหดตัวสูง -4.9% จากเดือนก่อนหน้าหดตัว -2% ตามการลงทุนทั้งด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านการก่อสร้าง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่ปรับลดลง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลเรื่องมาตรการพักชำระหนี้ และคำสั่งซื้อยังไม่เข้ามา ขณะเดียวกัน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังหดตัวสูงต่อเนื่องจากระยะเดียวของปีก่อนจากมาตรการจำกัดการเดินทางที่ยังมีอยู่

ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนหดตัว -10.9% มาจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่ล่าช้า อย่างไรก็ดี รายจ่ายลงทุนยังขยายตัว 3.6% ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว 18.9% ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการพยุงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงตามราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานปรับลดลง ส่วนหนึ่งจากการใช้มาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงเล็กน้อยตามการขาดดุลบริการ รายได้ และเงินโอนที่เพิ่มขึ้น และดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียง

  • คลังเล็งใช้มาตรการภาษีหนุนกองทุนพยุงท่องเที่ยว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยถึงกรณีรัฐบาลมีแนวคิดการจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่จะเข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)ไปศึกษาแนวทางการจัดตั้ง รวมถึง สำรวจความต้องการของนักลงทุน เพื่อหาข้อสรุปและเสนอกลับมายังกระทรวงการคลัง

แหล่งข่าวกล่าวว่า กระบวนการทำงานของกองทุนดังกล่าวนั้น จะมีลักษณะเดียวกันกับกองรีทอสังหาริมทรัพย์ โดยผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เช่น โรงแรม สายการบิน และ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง จะนำหลักทรัพย์ เช่น อสังหาริมทรัพย์ของธุรกิจ มาเป็นหลักทรัพย์ในการขอแหล่งเงินจากกองทุน โดยจ่ายอัตราดอกเบี้ยให้แก่นักลงทุนที่มาลงทุนในกองทุนนี้

ทั้งนี้ รัฐบาล โดยกระทรวงการคลังจะสนับสนุนในแง่การลดค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดจากภาครัฐ เช่น ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหรือการโอนต่างๆ หรือ อาจจะให้ได้รับยกเว้นภาษีสำหรับวงเงินที่นำมาลงทุน ซึ่งจะมีการกำหนดระยะเวลาการลงทุน เพื่อใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษี ซึ่งจะคล้ายกับการลงทุนในกองทุนแอลทีเอฟในอดีต

อย่างไรก็ตาม การดีไซน์รูปแบบกองทุนดังกล่าว จะต้องรอให้ทางก.ล.ต.พิจารณา ทั้งนี้ สำหรับนักลงทุนนั้น เบื้องต้น อาจจะกำหนดว่า จะต้องเป็นผู้ลงทุนที่มีความรู้ เพราะการลงทุนดังกล่าว ถือว่า เป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูง ขณะเดียวกัน ก็มีความเสี่ยงสูงควบคู่ไปด้วย

“รัฐบาลคงไม่ใส่เงินเข้าไปจัดตั้งกองทุน แต่จะให้นักลงทุนเป็นคนลงขันลงทุนเอง ส่วนคลังก็อาจจะเข้าไปช่วยในแง่อำนวยความสะดวกในการซื้อขาย โดยใช้มาตรการทางภาษีเข้าไปช่วย ส่วนหน่วยงานภาครัฐที่มีศักยภาพในการลงทุน เช่น แบงก์รัฐ จะเข้าไปลงทุนก็สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการในแต่ละแห่ง ซึ่งคลังก็มองว่า เป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่ดี ซึ่งผลตอบแทนที่ดีก็ย่อมจะมีความเสี่ยงควบคู่ไปด้วย”