'บิทคอยน์' ร่วง

'บิทคอยน์' ร่วง

เปิดบทวิเคราะห์ ทำไม "บิทคอยน์" สินทรัพย์ทางการเงินที่เริ่มฟื้นตัวหลังจากโควิด-19 แต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาราคาของบิทคอยน์กลับร่วงลงมาตลอด หรือลดลงไปกว่า 3,000 เหรียญจากจุดสูงสุด เป็นการร่วงมากกว่า 15% ในวันเดียว

ในเดือน ธ.ค.ปี 2560 ดิฉันเขียนถึงเรื่องคริปโตเคอเรนซี และเตือนท่านผู้อ่านเรื่องการเก็งกำไรในบิทคอยน์หลังจากบทความลงตีพิมพ์ได้ 3 วัน ราคาของบิทคอยน์ก็เริ่มร่วง และดิ่งลงอย่างหนักตลอดปี 2561 มาฟื้นตัวในปี 2562 แต่ก็ปรับตัวขึ้นไปได้ประมาณครึ่งหนึ่งของที่ตกลงมา

บิทคอยน์เริ่มต้นปี 2563 นี้ได้ค่อนข้างดี แต่ก็มาตกลงไปแรงในช่วงล็อกดาวน์โควิดเดือนมีนาคมเช่นเดียวกับสินทรัพย์การลงทุนอื่นๆ และมาฟื้นตัวจนเท่าก่อนตกในช่วงกลางๆ ปี หลังจากนั้นก็เดินหน้าปรับตัวขึ้นมาโดยตลอด ผ่านราคา 19,000 ดอลลาร์ ไปอยู่ที่ 19,374 ดอลลาร์ และทำท่าว่าจะขึ้นไปเท่าและแซงราคาสูงสุดเดิมตอนปี 2560 ที่ราคา 19,783 ดอลลาร์ โดยมูลค่าตลาด (Market Capitalization) ของบิทคอยน์ในวันที่ 25 พ.ย. ได้เพิ่มไปถึง 352,000 ล้านดอลลาร์ แซงมูลค่าตลาดของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐคือ JP Morgan Chase & Co. ที่มีมูลค่าตลาดในวันที่ 24 พฤศจิกายน เท่ากับ 349,000 ล้านดอลลาร์

แต่ในวันขอบคุณพระเจ้า 26 พ.ย. ราคาของบิทคอยน์ก็ร่วงลงมาตลอด ร่วงไปต่ำสุดที่ 16,242.70 ดอลลาร์ หรือลดลงไปกว่า 3,000 เหรียญจากจุดสูงสุด เป็นการร่วงมากกว่า 15% ในวันเดียว

ถามว่าการขึ้นของบิทคอยน์ในครั้งนี้เกิดจากอะไร ตอบว่า หลักๆ เกิดจาก “เงินไม่มีที่ไป (ลงทุน)”ค่ะ ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำเตี้ยติดดิน สภาพคล่องที่รัฐบาลต่างๆอัดฉีดเข้าระบบเพื่อพยุงเศรษฐกิจมาหลายปี และยังต้องพยุงมากขึ้นเพราะโรคระบาดไวรัสโควิด- 19 และราคาหุ้นเทคโนโลยีซึ่งโดดเด่นอยู่กลุ่มเดียว ก็ปรับตัวขึ้นไปมากแล้ว เงินดิจิทัลอื่นๆที่ทำท่าว่าจะมาแทนคริปโตเคอเรนซี่ที่มีอยู่ ก็ยังไม่เกิด ลิบราของเฟซบุ๊คก็มีอุปสรรคกีดขวาง จึงทำให้ผู้ลงทุนเห็นว่า บิทคอยน์น่าจะยังครองตำแหน่งตัวกลางในการแลกเปลี่ยนที่เป็นสากล ไร้อุปสรรคเรื่องกฎเกณฑ์ของธนาคารกลางหรือรัฐบาลใดๆไปได้อีกพักใหญ่

ตัวเร่งการปรับตัวขึ้นมาของบิทคอยน์ในช่วงปีนี้ ได้แรงส่งจากการที่นักวิเคราะห์มองว่าบิทคอยน์สามารถเป็น “สินทรัพย์ปลอดภัย” (Safe Haven) ในลักษณะเดียวกับทองคำได้และเมื่อราคาทองคำปรับตัวขึ้นมาสูง ไฉนบิทคอยน์จะไม่สามารถปรับตัวขึ้นมาได้บ้าง

เมื่อราคาทองคำพักตัวหลังมีข่าวดีเรื่องการผลิตวัคซีนโควิด บิทคอยน์ก็ยังคงเดินหน้าต่อไป เนื่องจากอุปทาน (Supply) มีจำกัด ในขณะที่อุปสงค์ (Demand) เพิ่มขึ้นอย่างมาก ราคาจึงพุ่งขึ้นไปสูง แต่ก็สูงมากจนต้องตกลงมา

โดยส่วนตัวดิฉันชอบการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีพื้นฐานรองรับ เมื่อพื้นฐานมีการเติบโต สินทรัพย์ก็จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นไปด้วย แต่การที่ราคาของสินทรัพย์ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานเพียงปัจจัยเดียว เช่นในกรณีของคริปโตเคอเรนซี หรือสินทรัพย์อื่นๆที่มีผู้คิดขึ้นมาและให้มีจำนวนจำกัดดิฉันมองว่าเป็นกลยุทธ์การตลาด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นในอาหาร สิ่งของ ข้าวของ และของสะสม ซึ่งไม่ใช่สินทรัพย์เพื่อการลงทุน เช่น นาฬิกา รถยนต์ ไวน์ พระเครื่อง เครื่องรางของขลัง (เช่น จตุคามรามเทพ) หรือ เครื่องปรุงอาหารรสชาติดี เช่น เห็ดทรัฟเฟิล ฯลฯ

ธรรมชาติของมนุษย์ ยิ่งรู้ว่ามีน้อย ก็ยิ่งอยากได้ของที่เล่นกับดีมานด์และซัพพลาย จึงเป็นของที่ถูกปั่นราคาได้ง่าย ไม่เหมาะสำหรับการลงทุนค่ะ

เพราะต้องอย่าลืมว่าเราลงทุนเพื่ออย่างน้อยก็รักษาอำนาจซื้อของมูลค่าเงินของเรา และมุ่งหวังเพิ่มมูลค่าให้เงินลงทุนด้วย แต่การมุ่งหวังเพิ่มมูลค่านั้น ต้องเตรียมเผื่อไว้ว่า อาจมีความผันผวน หรือ “ความเสี่ยง”เราจึงต้องกระจายลงทุนในสินทรัพย์หลายๆประเภท เผื่อประเภทใดประเภทหนึ่งเกิดพลิกผันขาดทุน ยังมีเงินลงทุนในประเภทอื่นที่อาจให้ผลตอบแทนดีมาชดเชย

พื้นฐานรองรับของการลงทุนในตราสารหนี้ กลุ่มพันธบัตรภาครัฐ ก็คือ อัตราเงินเฟ้อ กับ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง โดยมีความเสี่ยง คือความผันผวนของราคาและผลตอบแทน ซึ่งจะเกิดขึ้น หากมีการเปลี่ยนแปลงของภาพเศรษฐกิจรวม เช่น นโยบายอัตราดอกเบี้ย อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางของการเงินการคลังของรัฐ ฯลฯ

สำหรับตราสารหนี้ภาคเอกชน หรือ “หุ้นกู้” พื้นฐานรองรับ นอกจากจะเป็นอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง แล้ว ยังมีความเสี่ยงทางเครดิตเพิ่มขึ้นซึ่งโดยทั่วไปความเสี่ยงทางเครดิตของภาคเอกชน จะสูงกว่าภาครัฐ (ยกเว้นบางกรณีในบางประเทศที่ภาครัฐอ่อนแอ) เนื่องจากโดยทั่วไป รัฐสามารถเก็บภาษีมาชำระหนี้ได้อยู่แล้ว

สำหรับ “หุ้นทุน” นั้นพื้นฐานรองรับคือความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ความสามารถในการบริหารจัดการให้บริษัทผ่านพ้นวิกฤติ ให้บริษัทเติบโต มีรายได้ที่มั่นคง ปรับสินค้าและบริการไม่ให้ตกยุคสมัย ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ ความสามารถในการจัดการรายจ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆที่อาจมากระทบต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัท เช่น การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมให้ดี เพื่อจะได้ไม่ถูกปรับ หรือถูกสั่งปิดโรงงาน การดูแลผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรม เช่น การผลิตและขายสินค้าที่มีคุณภาพ การจ้างงานอย่างยุติธรรม มีการต่อเนื่องในการบริหารงานและผู้สืบทอดการบริหาร การดูแลและให้ข้อมูลผู้ถือหุ้นอย่างเท่าเทียมกัน การให้ความใส่ใจในชุมชนที่เป็นแหล่งที่ตั้งสำนักงานและโรงงาน ฯลฯ

ทั้งสามสินทรัพย์ที่กล่าวไป เป็นสินทรัพย์ทางการเงิน (Financial Assets) ซึ่งคือสิทธิในการรับผลตอบแทน หรือกระแสเงินสดในอนาคต ซึ่งผู้ลงทุนจับต้องไม่ได้ ดังนั้น จึงควรต้องศึกษาว่า การลงทุนนั้น ให้สิทธิอะไรกับเรา เช่น การลงทุนในตราสารหนี้ ให้สิทธิในการรับดอกเบี้ยตามที่กำหนดไว้ และให้สิทธิในการรับเงินต้นคืนเมื่อครบอายุ ส่วนการลงทุนในหุ้นทุน ก็ให้สิทธิในการรับเงินปันผลในอนาคต และสิทธิในการรับเงินลงทุนคืนหากเลิกกิจการ หรืออาจขายคืนให้ผู้อื่น หากไม่ต้องการลงทุนต่อ

หากท่านสนใจลงทุนในคริปโตเคอเรนซี ดิฉันแนะนำให้รอ ดิจิทัลเคอเรนซีที่จะออกโดยธนาคารของประเทศต่างๆดีกว่าค่ะ ที่มาแรงและเร็วคือ “เงินหยวนดิจิทัล”ซึ่งดิฉันเคยเขียนถึงไปแล้ว ว่ากำลังจะทดลองใช้ปลายปีนี้และประเทศไทยเราก็กำลังศึกษาที่จะออก “เงินบาทดิจิทัล” ด้วยเช่นกัน