ประภัตรเร่งสร้างคอกกักกันโคเนื้อ ดันส่งออกจีน

ประภัตรเร่งสร้างคอกกักกันโคเนื้อ ดันส่งออกจีน

ประภัตร เร่งสร้างศูนย์กลางคอกกักโคเนื้อ เชียงแสน ดันส่งออกจีน หลังโควิด ความต้องการเพิ่มถึง 5 แสนตัว ขณะ 10เดือน ไทยส่งออกลดลง 15 %

นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้เร่งรัดการสร้างคอกกักโคเนื้อมาตรฐานเพื่อการส่งออก ณ บ้านจอมกิตติ หมู่ 6 ต.เวียง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งเดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่รกร้าง จึงเข้ามาพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางคอกกักควบคุมโรค ก่อนส่งออกขายประเทศจีน โดยมีองค์ประกอบที่ผ่านเกณฑ์พื้นฐานตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประเทศคู่ค้าด้านการควบคุมโรค และสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าปศุสัตว์ไทย ซึ่งมีพื้นที่ 10 ไร่ รองรับโคขุน 1,000 ตัว ตลอดจนมีระบบชลประทาน ขณะนี้มีความคืบหน้าเป็นที่น่าพอใจ

นอกจากนี้ พื้นที่โดยรอบมีศักยภาพในการส่งเสริมให้เป็นแหล่งเรียนรู้แปลงสาธิตของหน่วยงานต่างๆ กระทรวงเกษตรฯ ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการส่งออกแบบครบวงจร และให้เกษตรกร ประชาชนได้เข้ามาเรียนรู้ ต่อไป อีกทั้ง คาดว่าในปี 2564 จะเริ่มดำเนินการให้เกิดเป็นรูปธรรมเพื่อนำร่องพื้นที่แรก เนื่องจากจีนมีความต้องการโคเนื้อมากถึง 500,000 ตัว หากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง จะทำให้การส่งออกมีมูลค่าสูงขึ้น

ทั้งนี้ธุรกิจส่งออกโคและกระบือมีชีวิตลุ่มน้ำโขงผ่านชายแดน อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มีมูลค่าการค้าสูง ดังนั้นการสร้างศูนย์กลางคอกกักเพื่อการส่งออกของประเทศ ที่ได้มาตรฐานจะเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม จีนได้กำหนดคุณสมบัติของโคที่จะรับซื้อจะต้องปลอดโรค และเป็นลูกผสมอเมริกันบราห์มัน หรือลูกผสมยุโรปทุกสายพันธุ์ น้ำหนักไม่ต่ำกว่า 350–400 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 100 บาท โดย สปป.ลาว จะนำโคจากไทยไปเลี้ยงต่อ ระยะเวลาตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน เพื่อเตรียมน้ำหนักของโค จากนั้นจึงจะสามารถส่งข้ามไปจีนได้

สำหรับ สถานการณ์ปัจจุบัน ( พ.ย. 2563) ข้อมูลจากกลุ่มวิจัยเศรษฐกิจการปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ ระบุประมาณการผลผลิตโคเน้ือปี 2563 คาดว่ามีจำนวน 1.224 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 2.09% เนื่องจากประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น โคเข้าฆ่ามีขนาดใหญ่ข้ึน และเปอร์เซ็นต์ซากเพิ่มข้ึน ส่วนการส่งออกโคเนื้อมีชีวิตปี 2563 (ม.ค.-ต.ค.) มีจำนวน 205,460 ตัว ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 15.02% ส่งออกไปลาว 61%