PM 2.5 แก้ให้ได้ผล ต้องทำแบบนี้เท่านั้น (ตอน 1)

PM 2.5 แก้ให้ได้ผล ต้องทำแบบนี้เท่านั้น (ตอน 1)

เจาะลึกฝุ่น "PM 2.5" ปัญหามลพิษฝุ่นนี้ได้อยู่กับเราคนไทยมาไม่น้อยกว่า 20 ปี ทั้งในแง่ของผู้ได้รับผลกระทบ ผู้เป็นต้นเหตุแห่งปัญหา ผู้แก้ปัญหา และผู้ทำให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้จริง

ฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนไทย โดยเฉพาะคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและมหานครเชียงใหม่มาเป็นเวลา 2-3 ปีแล้ว ทั้งๆ ที่อันที่จริงแล้วปัญหามลพิษฝุ่นนี้ได้อยู่กับเราคนไทยมาไม่น้อยกว่า 20 ปีก่อนหน้านี้  

ปัจจุบัน ภาครัฐก็พยายามที่จะออกมาตรการต่างๆ เพื่อลดปัญหาฝุ่นจิ๋ว เช่น จะห้ามรถบรรทุกเข้าเขตเมืองในชั่วโมงเร่งด่วน จะใช้ระบบวันคู่วันคี่ให้รถส่วนบุคคลวิ่ง จะเปลี่ยนน้ำมันเป็นมาตรฐานใหม่ที่ลดมลพิษอากาศได้ จะห้ามเผาป่าและซากพืชเกษตร จะเข้มงวดกับโรงงาน จะเปลี่ยนรถของรัฐเป็นรถไฟฟ้า ฯลฯ มาตรการพวกนี้แม้เรายังทำกันได้ไม่ดีนัก แต่ก็ต้องเร่งทำและช่วยกันทำ 

มาตรการบางอย่างที่พิจารณาทางเทคนิคแล้วทำไปก็ไม่ช่วยลดฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ได้มากนัก เช่น การล้างถนน การติดเครื่องกรองฝุ่นในพื้นที่เปิดสาธารณะ การฉีดละอองน้ำบนยอดตึก การใช้โดรนบินขึ้นไปฉีดน้ำลงมา การใช้เครื่องฉีดพ่นน้ำจากพื้นขึ้นสู่อากาศ ก็ไม่ควรเสียเวลาไปทำ สู้เอาเวลา งบประมาณ รวมทั้งคนไปทำอย่างอื่นที่แก้และลดปัญหาได้จริงจะดีกว่า

อนึ่ง มีข้อสังเกตด้วยว่ามาตรการต่างๆ ที่ภาคส่วนต่างๆ ช่วยกันระดมความคิดมาเพื่อใช้แก้ปัญหาฝุ่นจิ๋วนี้ มักเป็นมาตรการในทางเทคนิควิศวกรรมเท่านั้น ในขณะที่มีมิติอื่นอีกมากมายที่ต้องคิดพิจารณาไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ ฯลฯ แบบบูรณาการให้ครบทุกประเด็น การแก้ปัญหาจึงจะรอบคอบและเป็นไปได้จริง 

ผู้เขียนจึงนำเสนอให้พิจารณาการแก้ปัญหาแบบองค์รวม อันประกอบไปด้วย 1.ผู้ได้รับผลกระทบ 2.ผู้เป็นต้นเหตุแห่งปัญหา 3.ผู้แก้ปัญหา 4.ผู้ทำให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้จริง 5.ผู้สร้างมาตรการเพิ่มแรงจูงใจ 6.ผู้ศึกษาวิจัยหาสาเหตุและมาตรการแก้ไขป้องกัน 7.ผู้กำหนดนโยบาย และ 8.ภาคประชาชนพวกเรากันเอง 

  • ผู้ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5

ผู้ได้รับผลกระทบมีอยู่หลายภาคส่วน ตั้งแต่ 1.สิ่งแวดล้อมเลวลง อากาศเป็นพิษ หายใจไม่สะดวก หายใจเข้าไปแล้วก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจไปจนถึงโรคหัวใจ ซึ่งมีผลเสียต่อ 2.สุขภาพ ที่รัฐต้องเสียค่ารักษาพยาบาลคนจำนวนมากเป็นเงินมหาศาลในแต่ละปี รวมทั้งหากมองในมุมที่ประชากรของประเทศจะเป็นพลเมืองที่เจ็บออดๆ แอดๆ ไม่สามารถทำงานได้มีประสิทธิผลและเต็มประสิทธิภาพ ก็จะมีผลต่อเนื่องไปยังภาค 3.เศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติ ทำให้จีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ) ลดลง 

หากค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานอากาศสะอาดอยู่บ่อยๆ ก็จะมีผลกระทบต่อ 4.การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญในลำดับต้นๆ ของประเทศ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อได้ข้อมูลเชิงลบที่หาได้ง่ายมากในอินเทอร์เน็ตก็คงลังเลที่จะมาเมืองไทยและเลือกไปเยือนประเทศอื่นที่คุณภาพอากาศดีกว่า 

5.การกีฬาก็จะได้รับผลกระทบทางลบด้วยเข่นกัน การฝึกซ้อมของนักกีฬาไทยจะทำได้ไม่เต็มที่ สมรรถภาพปอดของนักกีฬาจะลดลง เมื่อไปแข่งในระดับนานาชาติก็จะสู้ต่างชาติไม่ได้และไม่สามารถนำชื่อเสียงกลับมาสู่ประเทศ ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นของคนต่างชาติที่มีต่อไทย ทั้งนี้ ข้อคิดหรือข้อสรุปเช่นว่านี้มาจากฐานคิดที่ว่าประเทศที่เด่นทางกีฬาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วแทบทั้งสิ้น

เมื่อผลเสียมีทั้งต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และเศรษฐกิจดังที่ได้กล่าวมาแล้ว สุดท้ายปัญหาฝุ่น PM 2.5 ก็จะนำไปสู่สภาพการณ์ที่เคยมีคนถากถางสังคมไทยว่าเป็น 6.สังคมแห่ง “โง่ จน เจ็บ” ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อใครเลยไม่ว่าจะมองในแง่มุมใด ดังนั้น เราจึงไม่มีทางเลือกเป็นอื่นได้ นอกจากต้องมาร่วมใจกันหาวิธีการลดหรือแก้ปัญหานี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด

  • ผู้เป็นต้นเหตุแห่งปัญหาฝุ่น PM 2.5

นับมาถึงวันนี้ (เดือน พ.ย.2563) คนไทยส่วนใหญ่ได้รับรู้ผ่านสื่อมามากแล้ว ว่าต้นกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 มาจากแหล่งใหญ่ๆ 3 ส่วน คือ 7.การคมนาคมขนส่ง 8.การเผาซากพืช เผาป่า และ 9.โรงงานอุตสาหกรรม โดยอาจมีแหล่งย่อยอื่นๆ อยู่บ้าง เช่น พัดพามาจากต่างพื้นที่ (เช่นจากปริมณฑลเข้ากรุงเทพฯ จากอินโดนีเซียเข้าภาคใต้ จากกัมพูชาเข้าภาคตะวันออก) และจากการผลิตในภาค 10.พลังงาน

  • ผู้แก้ปัญหาทางตรง ก็คือผู้ที่เป็นต้นเหตุของปัญหา

เมื่อเรารู้แล้วว่าต้นตอของปัญหาอยู่ที่ใด วิธีที่ดีที่สุดคือตรงเข้าไปแก้ปัญหาที่จุดนั้น ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่คิดและนำเสนอกันขึ้นมาเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ก็ได้มีการนำไปจัดทำเป็นแผนทั้งในระยะเร่งด่วนช่วงวิกฤติ ระยะกลาง และระยะยาว โดยมุ่งหวังที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

ดังที่ได้ยกเป็นตัวอย่างไว้แล้วในย่อหน้าแรกของบทความนี้ ผู้สนใจอาจหาข้อมูลรายละเอียดของแผนต่างๆ ได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทว่า อย่างที่เราได้เอ่ยไว้แต่ต้นว่ามาตรการเหล่านี้เป็นเพียงทางเทคนิคซึ่งไม่เพียงพอ จึงต้องพิจารณาประเด็นอื่นควบคู่ไปด้วย 

ครั้งต่อไป บทความ “PM 2.5 แก้ให้ได้ผล ต้องทำแบบนี้เท่านั้น (2)” จะนำเสนอประเด็นจำเป็นที่จะทำให้การแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้จริง