รัฐบาลตั้งกองทุนแสนล้านพยุง'ท่องเที่ยว' คลัง- แบงก์ชาติ-กลต.เร่งหาข้อสรุป

รัฐบาลตั้งกองทุนแสนล้านพยุง'ท่องเที่ยว' คลัง- แบงก์ชาติ-กลต.เร่งหาข้อสรุป

คลัง-ธปท.-กลต.ถกตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ 1 แสนล้านบาท แหล่งทุนช่วยธุรกิจท่องเที่ยวหลังแบงก์ไม่ปล่อยกู้ ก.ล.ต.เล็งออกเกณฑ์ตั้งกองรีทรูปแบบใหม่หนุน ไตรมาส 4 สศช.ชี้ตั้งกองทุนช่วยเพิ่มสภาพคล่อง รัฐลดต้นทุนการเงิน ประชาชนได้ผลตอบแทน

การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยที่ผ่านมามีปัญหาด้านสภาพคล่องมากและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำได้เต็มที่

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำลังหารือแนวทางตั้ง กองทุนอสังหาริมทรัพย์เพื่อระดมทุนไปปล่อยกู้ให้ธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ ธุรกิจสายการบิน หรือ ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โดยเบื้องต้นมีมูลค่ากองทุน 1 แสนล้านบาท

“แนวทางการจัดตั้งกองทุนดังกล่าวนั้น ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยกระทรวงการคลังกำลังหารือ ธปท.และ ก.ล.ต.ทั้งในแง่แนวทาง ขนาดกองทุน และกฎระเบียบการจัดตั้งต่างๆ และต้องสำรวจตลาดเพื่อประเมินความต้องการของนักลงทุนด้วย”

แหล่งข่าว กล่าวว่า สาเหตุที่รัฐบาลต้องหาแหล่งเงินช่วยเพราะเข้าถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงินไม่ได้ โดยโควิด-19 ทำให้ไม่มีนักท่องเที่ยวส่งผลให้ขาดรายได้ ขาดสภาพคล่องและขาดทุน ในขณะที่สถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ ดังนั้น การตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจดังกล่าวจึงเกิดขึ้น โดยทำหน้าที่ระดมเงินจากนักลงทุนและให้ธุรกิจท่องเที่ยวนำ Asset เช่น โรงแรม มาเป็นหลักทรัพย์กู้ยืมเงินจากกองทุน มีระยะเวลาไถ่ถอน 5-8 ปี

กองทุนนี้ มีลักษณะเหมือนกองทุนรีทอสังหาริมทรัพย์ โดยผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนสูงกว่าตลาดหรือสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งนำมาจากการจ่ายอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของผู้ที่กู้ อย่างไรก็ดี การลงทุนนี้มีความเสี่ยงในกรณีที่ผู้กู้ไม่มาไถ่ถอน Asset ซึ่งอาจเกิดจากธุรกิจของผู้กู้ประสบปัญหาขาดทุน

อย่างไรก็ดี ด้วยระยะเวลาการไถ่ถอน 5-8 ปี ได้ประเมินว่า เมื่อถึงเวลานั้นธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาสดใส ดังนั้น ผู้ลงทุนในกองทุนน่าจะได้รับผลตอบแทนที่ดี

“ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากไม่ถึง 1% เราอาจจะการันตีผลตอบแทน 4-5%ต่อปี ในระยะ 8 ปี แต่นักลงทุนต้องยอมรับความเสี่ยงกรณีธุรกิจขาดทุนแล้วไม่มาไถ่ถอนหลักทรัพย์ได้ ฉะนั้น นักลงทุนก็จะได้แค่ Asset ไป นั่นคือความเสี่ยง เรียกว่า High risk High return”

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต.กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า ก.ล.ต.รายงานความคืบหน้าให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบว่า ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ได้เตรียมออกหลักเกณฑ์ตั้งทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (รีท) รูปแบบใหม่ เพื่อช่วยผู้ประกอบการที่ไม่มีรายได้เข้ามาจนมีปัญหาสภาพคล่อง แต่ไม่อยากขายสินทรัพย์ไป ซึ่งจะเปิดช่องให้ผู้ประกอบการเหล่านี้นำสินทรัพย์มาระดมทุนผ่านการจัดตั้งกองรีทได้ โดยเตรียมประกาศบังคับใช้ภายในไตรมาส 4 นี้

“ที่ผ่านมา ก.ล.ต.ทำงานในเชิงรุกและหวังว่ากลไกตลาดทุนจะมีส่วนไม่มากก็น้อยในการช่วยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ซึ่งได้ปรับเกณฑ์รีท เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีช่องทางในการระดมทุนได้ ส่วนเรื่องการตั้งกองทุนนั้นขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐ และความสนใจของนักลงทุน ซึ่งเราทำหน้าที่เพียงปรับเกณฑ์ให้เหมาะสม”

อย่างไรก็ตามเกณฑ์การระดมทุนผ่านกองรีทดังกล่าวนั้น แบ่งออกเป็น 2 รูปได้แก่ 

1.รูปแบบรีทที่มีข้อตกลงขายอสังหาริมทรัพย์คืนให้แก่กลุ่มเจ้าของเดิมตามราคาและระยะเวลาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า (REIT with buy back obligation) ซึ่งจะให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีปัญหาสภาพคล่องนำสินทรัพย์ อาทิ โรมแรม,ห้างสรรพสินค้า,คลังสินค้า,โรงงานหรืออาคารสำนักงานให้เช่า มาขายเข้ากองรีท ซึ่งเหมือนเป็นหลักประกันฝากกองรีทเพื่อให้เจ้าของทรัพย์ดึงสภาพคล่องมาใช้ก่อน

2.รูปแบบรีทที่ให้สิทธิกลุ่มเจ้าของเดิมพิจารณาก่อนว่าจะซื้ออสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวตามราคายุติธรรม (ในขณะที่มีการจำหน่าย) หรือ REIT with first right ซึ่งอาจตกลงราคาขายสินทรัพย์เข้ากองรีทที่เพิ่มขึ้นกว่ารูปแบบแรก

และมีข้อตกลงเมื่อครบกำหนดอายุสัญญาอาจให้สิทธิขายทรัพย์คืนแก่เจ้าของสินทรัพย์เดิมก่อน แต่มูลค่าการซื้อคืนทรัพย์ต้องตกลงที่ราคาตลาด ณ ตอนนั้น ซึ่งต่างจากแบบแรกที่ล็อกราคาซื้อคืนล่วงหน้า โดยกรณีดังกล่าวหากเจ้าของทรัพย์เดิมไม่สนใจซื้อกลับคืน กองรีทก็นำสินทรัพย์ไปขายคนอื่นต่อได้

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า การตั้งกองทุนดังกล่าวและขายหน่วยลงทุนให้ประชาชนเป็นแนวคิดที่รัฐบาลเคยหารือกับเอกชนมาตั้งแต่ต้น  โดยหากผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมต้องการสภาพคล่องก็ตั้งกองทุนแล้วให้ผู้ประกอบการนำสินทรัพย์มาใส่เป็นทรัพย์สินเพื่อระดมทุนแล้วขายหน่วยลงทุนให้ประชาชน เช่น ธุรกิจอาจต้องการเงินหมุนเวียนในช่วงที่ธุรกิจยังได้รับผลกระทบจากโควิด 2,000 ล้านบาท ก็นำสินทรัพย์ของธุรกิตมาเข้ากองทุนเพื่อระดมทุน

“ธุรกิจโรงแรมก็เอาโรงแรมมาเข้ากองทุนเพื่อระดมทุนจากประชาชน และอาจกำหนดเวลาซื้อคืนหน่วยลงทุนให้แน่นอน โดยเมื่อธุรกิจฟื้นตัวให้เจ้าของกิจการมาซื้อสินทรัพย์กลับไป”

แนวคิดนี้เหมาะสมเพราะช่วยทุกฝ่ายได้ โดยผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากสินทรัพย์ที่มีอยู่มาเพิ่มสภาพ ขณะที่รัฐไม่ต้องมีต้นทุนทางการเงินในการหากู้ซอฟท์โลนให้ผู้ประกอบการ และประชาชนที่ซื้อหน่วยลงทุนได้ผลตอบแทนที่ดีที่อาจการันตีผลตอบแทนปีละ 4-5% เพื่อจูงใจลงทุน

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า กระทรวงการคลังกำลังศึกษาตั้งกองทุนฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการต่อลมหายใจผู้ประกอบการ

ขณะที่มาตรการกระตุ้นตลาดจากคาดการณ์รายได้รวมท่องเที่ยวไทยปี 2563 คาดว่าอยู่ที่ 7.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดปี 6.7 ล้านคน สร้างรายได้ 3.32 แสนล้านบาท ส่วนนักท่องเที่ยวไทย 80-100 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 4.18 แสนล้านบาท ทำให้ ททท.ต้องปลุกกระแสตลาดท่องเที่ยวในประเทศต่อเนื่อง

หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนเงื่อนไขโครงการเราเที่ยวด้วยกันให้ใช้สิทธิมากขึ้น โดยที่ประชุม ศบศ.วันที่ 2 ธ.ค.นี้ จะเสนอเพิ่มสิทธิที่พักอีก 1-2 ล้านสิทธิ จากโควตาเฟสแรก 5 ล้านสิทธิ และข้อมูลบนเว็บไซต์เราเที่ยวด้วยกันเมื่อ 29 พ.ย.ระบุว่ามีสิทธิที่พักคงเหลือ 9 แสนสิทธิซึ่งคาดว่าจะครบเฟสแรกภายในเดือน ธ.ค.นี้

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า สมาคมฯ เสนอให้รัฐพิจารณามาตรการพยุงสภาพคล่องธุรกิจโรงแรมช่วงรอนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 ประเด็น คือ 

1.ตั้งกองทุนพยุงกิจการโรงแรมวงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยร่วมลงทุนแต่ละกิจการ 7 ปี และเปิดสิทธิซื้อคืนได้ในผลตอบแทน 1% ต่อปี 

2.ออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ บรรเทาภาระหนี้ เพื่อไม่ให้เกิดเป็นหนี้เสีย (Asset Warehousing) 

3.ลดอัตราดอกเบี้ยเป็นคงที่ 2% พร้อมพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 ปี 

4.อนุมัติปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกินรายละ 60 ล้านบาทต่อโรงแรม อัตราดอกเบี้ย 2% โดยปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2 ปี เมื่อครบกำหนดแล้วให้แปลงเป็นสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำผ่อนชำระกับธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ หากลูกค้ามีหลักประกันไม่พอ ขอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือกองทุนที่จะจัดตั้งใหม่เป็นผู้ค้ำประกัน 100% และไม่จำกัดเพดานสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีวงเงินรวมเกิน 500 ล้านบาท