ผู้ส่งออกเล็งเพิ่ม ‘เทรดแฟร์’ ฟื้นตลาดอาหารรับวัคซีน

ผู้ส่งออกเล็งเพิ่ม ‘เทรดแฟร์’ ฟื้นตลาดอาหารรับวัคซีน

“ผู้ส่งออก” เล็งจัดงานแสดงสินค้าอาหารมากขึ้น หลังมีความชัดเจนวัคซีน โควิด-19 แนะผู้ผลิตปรับตัวรับมือความต้องการสินค้าเพิ่ม ด้าน ส.อ.ท.ย้ำแบงก์เร่งปล่อยกู้ เพิ่มสภาพคล่องผู้ประกอบการ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ปี 2564 หาก วัคซีนโควิด-19 ออกมา จะทำให้การค้าและการเดินทางกลับมา แต่ยังไม่ 100% โดยต้องดูการกระจายวัคซีนในต่างประเทศว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะล็อตแรก หากใช้แล้วป้องกันได้จะทำให้ความเชื่อมั่นของโลกกลับมา เพราะเห็นทางออก และแม้ว่าช่วงแรกอาจทำให้การเดินทางข้ามประเทศยังไม่ปกติ แต่ก็ถือเป็นสถานการณ์ที่ดี

ทั้งนี้การจัดงานแสดงสินค้านานาชาติอาจกลับมาจัดได้ปกติหลังจากต้องหยุดไปจากผลกระทบของโควิด-19 ซึ่งเป็นเรื่องดี เพราะแม้ช่วงนี้มีงานแสดงสินค้าผ่านออนไลน์หรือระบบเสมือนจริง แต่ไม่ดีเท่ากับการจัดแสดงสินค้าที่มีสินค้าให้ได้จับต้องหรือชิมรสได้ ขณะที่การจัดการประชุมออนไลน์แม้ช่วยลดเวลาเดินทางแต่ขาดความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำเข้าและผู้ส่งออก ทำให้งานแสดงสินค้ามีความจำเป็นมากต่อการส่งเสริมการส่งออกสินค้าอาหาร

“แม้จะไม่วัคซีน แต่สินค้าในหมวดอาหารยังจำเป็นเหมือนเดิม ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการปรับไลน์การผลิตเป็นแบบกล่องหรือสำเร็จรูป นำไปวางขายในชั้นวางของเพื่อให้ผู้บริโภคซื้อไปทำเองได้ที่บ้าน และหลังจากมีวัคซีนแล้วจะทำให้ธุรกิจอาหารทั้งร้านอาหาร โรงแรมและการจัดเลี้ยงกลับมาปกติ จึงทำให้ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ส่งออกต้องประเมินเพื่อวางแผนการผลิตให้สอดคล้องสถานการณ์”

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปีหน้าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัว ดังนั้นเห็นว่าธนาคารควรปล่อยสินเชื่อเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับเอกชนมากขึ้น เนื่องจากการปรับแผนการดำเนินการ ต้องมีธนาคารเข้ามาสนับสนุน 

“ขณะนี้หลายๆ อุตสาหกรรมเริ่มปรับแผนเชิงรุกมากขึ้น ปีหน้าแนวโน้มหลายๆ อย่างดูดีขึ้น เพราะสงครามการค้าน่าจะเบาบางลง” 

ส่วนการที่วัคซีนโควิด-19 เริ่มออกมา เชื่อว่าจะส่งดีในการที่รัฐบาลจะทยอยเปิดประเทศเร็วๆ นี้ ซึ่งทำให้อุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง เช่น ท่องเที่ยว จะได้รับผลดีค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่การที่รัฐมีนโยบายอุดหนุนต่างๆ อีกหลายโครงการต่อเนื่อง รวมถึงโครงการเมกะโปรเจคที่ยังคงเดินหน้าต่อซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่างไรก็ตามภาคการส่งออกยังอาจจะมีอุปสรรคจากการที่แนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น 

สำหรับทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยต่อไปในอนาคต เห็นว่าควรเน้นด้านเกษตรอุตสาหกรรม และเกษตรแปรรูปให้มากขึ้น เพราะภาคการเกษตรเริ่มดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรเริ่มปรับตัวเพิ่ม ซึ่งหากนำนวัตกรรมมาใช้ปรับไปสู่เกษตรอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ๆ ก็จะช่วยให้อุตสาหกรรมไทยขยายตัวได้ในเชิงรุกมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้าจะพึ่งพาอุตสาหกรรมเกษตรมาก จะต้องเข้าไปช่วยเหลือให้ภาคการเกษตรลดต้นทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน

“ที่ผ่านมาไทยถึ่งพาห่วงโซ่การผลิตจากจีนมาก เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิดในจีน ก็กระทบต่อภาคการผลิตของไทยพอสมควร ดังนั้นควรปรับโครงสร้างการผลิตให้หันมาเน้นซัพพลายเชนภายในประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตรที่ใช้นวัตกรรม ใช้วัตถุดิบของเราเอง และใช้เทคโนโลยีปรับให้สินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปแข่งขันได้" 

นอกจากนี้จะต้องเจาะตลาดคู่ค้าที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของภาคการผลิตไทยในอนาคตหากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมา

นางสาวปริม จิตจรุงพร เลขาธิการสภาธุรกิจไทย-อินเดีย กล่าวว่า หากมีวัคซีนออกมาในกลางปี 2564 จะส่งผลดีต่อการค้าขายระหว่างไทย-อินเดีย แต่ด้านการเดินทางยังประเมินว่าจะเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะยังมีความกลัวอยู่

สำหรับสินค้าไทยได้รับความสนใจมีหลายรายการ โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและอุปกรณ์การแพทย์ แต่ผู้ประกอบการไทยก็ต้องมีการปรับตัวพอสมควร เพราะแม้ว่าอินเดียมีเป้าหมายค้าขายกับประเทศอาเซียนมากขึ้น แต่อินเดียก็จะออกมาตรการกีดกันทางการค้าเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง ซึ่งช่วงการระบาดของโควิด-19 มีผู้ติดเชื้อในอินเดียมากแต่ผู้ประกอบการก็ปรับตัวค้าขายผ่านระบบออนไลน์เป็นหลัก ซึ่งอินเดียเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอยู่แล้ว