คลังแจงมาตรการช่วยผู้มีรายได้น้อย 'บัตรคนจน' 1,500 บาท/เดือน ได้อะไรบ้าง?

คลังแจงมาตรการช่วยผู้มีรายได้น้อย 'บัตรคนจน' 1,500 บาท/เดือน ได้อะไรบ้าง?

ไขปมข้อจำกัดมาตรการ "คนละครึ่ง" คลังแจงยิบ "บัตรคนจน" หนึ่งในมาตรการช่วยผู้มีรายได้น้อย 1,500 บาท/เดือน ได้อะไรบ้าง? ช่วงวิกฤติโควิด-19 ได้อุดหนุนเพิ่มอีก 500 บาท ตลอด 3 เดือน ยันดูแลครอบคลุมทุกกลุ่ม

มาตรการ "คนละครึ่ง" หนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยเหลือประชาชนและร้านค้าหรือผู้ประกอบการรายย่อย หาบเร่ แผงลอย เนื่องจากปี 2563 ประเทศไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม แต่ที่ผ่านมายังข้อคิดเห็นที่มองว่ามาตรการคนละครึ่งยังคงมีข้อจำกัด ทั้งจากการที่ประชาชนไม่สามารถลงทะเบียนได้ทัน หรือไม่เอื้อต่อคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงมาตรการได้

ในประเด็นนี้ "พรชัย ฐีระเวช" ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาได้มีมาตรการต่างๆ เพื่อดูแลประชาชนให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม "ผู้มีรายได้น้อย" ที่ได้รับการดูแลผ่านโครงการ "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" 

โดยโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) เริ่มตั้งแต่ปี 2560 โดยให้ความช่วยเหลือค่าครองชีพผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กว่า 1,500 บาท/เดือน เช่น 

  • วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น
    - 200 บาทต่อเดือน ผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/เดือน
    - 300 บาท/เดือน สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกินกว่า 30,000 บาท/ปี
  • วงเงินสำหรับค่าโดยสารเดินทาง

  • ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ
    - ค่าก๊าซหุงต้ม
    - ค่าไฟฟ้า
    - ค่าน้ำประปา

ขณะที่ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นวงกว้าง รัฐบาลจึงมีมาตรการรักษาระดับการบริโภคภายในประเทศ ยังมีโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเยียวยา และลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่กลุ่มดังกล่าว ประมาณ 14 ล้านคน 

โดยเป็นการเพิ่มวงเงินค่าซื้อสินค้าบริโภคอุปโภคที่จำเป็น จำนวน 500 บาท/คน/เดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม 2563

"พรชัย" อธิบายเพิ่มเติมสำหรับโครงการคนละครึ่งที่มีระบบการใช้จ่ายด้วยแอพพลิเคชัน “เป๋าตัง” และ “ถุงเงิน” และต้องมีการยืนยันตัวตนนั้น ก็เพื่อประโยชน์แก่ผู้ใช้ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีผู้อื่นมาใช้สิทธิแทน และมีการใช้จ่ายจริงตามวัตถุประสงค์ของโครงการ

ซึ่งระบบดังกล่าวเป็นการสร้างการเรียนรู้ให้กับประชาชนทุกระดับจนถึงระดับฐานราก ให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาให้สังคมไทยเดินหน้าสู่ Digital Society ไปพร้อมๆ กัน ในขณะเดียวกันยังเป็นการลดการใช้เงินสด ทำให้การดำเนินโครงการโปร่งใส รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ สำหรับประเด็นข้อจำกัดอื่นๆ กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงให้ครอบคลุมประชาชนให้มากที่สุด พร้อมย้ำว่า กระทรวงการคลังมีนโยบายในการดูแลประชาชนให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม ซึ่งนอกเหนือจากมาตรการดังกล่าวแล้ว รัฐบาลยังได้มีการดูแลประชาชนกลุ่มต่างๆ ผ่านมาตรการอื่น ๆ ของรัฐด้วย