บสย.โชว์ผลงานปี63 ยอดค้ำประกันสินเชื่อพุ่งแตะ 1.4แสนล้าน

บสย.โชว์ผลงานปี63 ยอดค้ำประกันสินเชื่อพุ่งแตะ 1.4แสนล้าน

บสย. เผยผลงานปี63“ ยอดค้ำประกันสินเชื่อพุ่งแตะ 1.4แสนล้านบาท ช่วยพยุงSMEsรายใหม่ 1.3แสนราย ประกาศแผน 2564 ชู 5 ยุทธศาสตร์ ยกระดับ องค์กร สู่ New Business Model ตั้งเป้าปี64 มียอดค้ำประกันสินเชื่อที่ 1 แสนล้าน

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ผลดำเนินงาน บสย. ปี 2563 ตั้งแต่ ม.ค. ถึง พ.ย. มียอดค้ำประกันสินเชื่อพุ่งแตะ 140,000  ล้านบาท และช่วยผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ 130,000 ราย สร้างปรากฏการณ์การช่วยผู้ประกอบการ SMEs ครั้งสำคัญในรอบ 29 ปี ด้วยผลดำเนินงานการเติบโตแบบก้าวกระโดด

ทั้งด้านยอดการอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ จำนวนลูกค้าใหม่ และจำนวนการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) ของ บสย. ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19

ด้านผลดำเนินงาน 2563 เปรียบเทียบกับปี 2562 (ระหว่าง ม.ค.-ต.ค.62-63) ที่เติบโตขึ้น ประกอบด้วย 1.ยอดการอนุมัติค้ำการค้ำประกันสินเชื่อ ปี 63 เพิ่มขึ้น 122% จาก 61,392 ล้านบาทเป็น 135,984 ล้านบาท  2.ช่วยผู้ประกอบการSMEs รายใหม่เข้าถึงสินเชื่อ เพิ่มขึ้น 167% จาก47,626 รายเป็น 127,054 ราย และ 3.จำนวนการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) เพิ่มขึ้น 174% จาก  61,979 LG เป็น 169,959 LG

โครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ประสบความสำเร็จ และเป็นผลงานโดดเด่น ที่ช่วยแก้วิกฤติผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 โดยมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ธนาคารเดินหน้าปล่อยสินเชื่อ ได้แก่  

1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 ปกติ  วงเงิน 100,000 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการย่อยได้แก่ พลิกฟื้นท่องเที่ยว ดีแน่นอน บัญชีเดียว ชีวิตใหม่ บรรลุเป้าหมาย 99% วงเงิน 99,000 ล้านบาท

2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อPGS8 บสย. SMEs สร้างไทย วงเงิน 50,000 ล้านบาท มาตรการของรัฐบาลที่เปิดตัวในช่วงต้นปี 2563 ช่วยผู้ประกอบการ SMEs กลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ ค้ำประกันเต็มวงเงิน 100%

3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro entrepreneur ระยะ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท  ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ฐานรากและอาชีพอิสระ ค้ำประกันเต็มวงเงิน 100%

160654604367

นอกจากนี้ บสย.ยังมีบทบาทสำคัญ เป็นกลไกช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเชื่อมโยงการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการสินเชื่อ Soft Loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ต่อเนื่อง ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Soft Loan พลัส (Soft Loan+)  วงเงิน 57,000 ล้านบาท  รวมถึง ความร่วมมือกับธนาคารออมสินในโครงการค้ำประกันสินเชื่อในโครงการสินเชื่อ Soft Loan วงเงิน 10,000 บาท

อีกหนึ่งโครงการที่โดดเด่นมากในปีนี้ คือการจัดตั้งศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F. A. Center) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณ ชั้น 1 อาคารธนาคาร SME D Bank มีจุดเริ่มจากแนวคิด ที่ต้องการยกระดับการให้บริการผู้ประกอบการ SMEs มากกว่าบทบาท การค้ำประกันสินเชื่อ  “จากนายประกันสู่ที่ปรึกษาทางการเงิน”

กำหนดเป้าหมายให้ศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs เป็น F. A. ภาครัฐ ช่วยเหลือ SMEs ไทย เป็นเพื่อน SMEs ทั้งให้คำปรึกษาทางการเงิน  การเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน เป็นเพื่อนแท้ยามวิกฤต ผลตอบรับหลังการจัดตั้งศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน SMEs (บสย. F. A. Center) โดยมีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ที่ขอคำปรึกษาจาก บสย. มากกว่า 6,000 เคส ที่ปิดเคสได้แล้ว 2,000 เคส หรือราว 34%

สำหรับแผนการดำเนินงาน บสย. ในปี 2564 จะมุ่งเน้น 5 ยุทธศาสตร์ เพื่อยกระดับองค์กร สู่ New Business Model ได้แก่

1. การผลักดันการเข้าถึงแหล่งทุนด้วยการเป็น Credit accelerator

2. การสร้างองค์ความรู้และโอกาสทางธุรกิจให้กับ SMEs และรายย่อยด้วยการเป็นเพื่อนคู่คิด (SMEs Growth Companion)

3. การเป็นตัวกลางเชื่อมโยง SMEs และรายย่อยสู่แหล่งทุนที่หลากหลาย (Funding Gateway)

4.การให้สินเชื่อแบบเฉพาะกลุ่ม ที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ (Finance the unfinanced)

5.จัดตั้งศูนย์บริการข้อมูล เพื่อสร้างฐานข้อมูล SMEs (SMEs data bank) โดยความร่วมมือกับพันธมิตรในการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน  

ทั้งนี้ในส่วนของยุทธศาสตร์สนับสนุน ได้แก่ การปรับแนวทางการลงทุนเพื่อเพิ่มเสถียรภาพในการสร้างรายได้ การปรับปรุงกฎหมายรองรับการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ การปรับบทบาทในการสร้างรายได้ของสำนักงานสาขา และการ Re-branding ภายใต้แผน Transformation

นอกจากนี้ บสย.ยังเดินหน้าแผนTransformation มุ่งเน้นการพัฒนาองค์กรเพื่อลดระดับการพึ่งพาภาครัฐ โดยปรับ Business Model สร้างสมดุลด้านการบริหารรายได้ และค่าใช้จ่ายและการเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งด้านการสร้างรายได้และการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรและบุคคลกร การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อ ที่ตอบโจทย์ความต้องการ สร้างรายได้จากการทำธุรกรรมค้ำประกัน (Fee-Based Income) และธุรกรรมที่ต่อเนื่องกับการค้ำประกัน อาทิ การเก็บหนี้ค่าประกันชดเชย การบริหารสภาพคล่อง และการสร้างรายได้จากการปรับรูปแบบการดำเนินงานของสำนักงานสาขาให้เป็น Profit Center

เป้าหมายการค้ำประกันสินเชื่อในปี 2564 คาดว่าจะอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท ภายใต้แผนการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ค้ำประกันสินเชื่อที่หลากหลาย ตอบโจทย์ SMEs ทุกกลุ่ม ภายใต้กลยุทธ์การทำตลาด Segmentation และการพัฒนา Product เจาะกลุ่มผู้ประกอบการที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุน รวมถึงการขยายช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านช่องทาง non bank เพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าไม่ถึงแหล่งทุนจากสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ บสย. ยังได้เตรียมความพร้อมการดำเนินแผนงาน รองรับการอนุมัติโครงการค้ำประกันสินเชื่อใหม่จำนวน 2 โครงการคือ 1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS-9 วงเงิน 150,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้สถาบันเงินมีความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น รวมถึงช่วยเหลือลูกค้า SMEs ที่มีปัญหา ภายใต้ โครงการค้ประกันสินเชื่อ บสย.SMEs สร้างไทย เฟส 2 และ 2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro 4 วงเงิน 25,000 ล้านบาท ซึ่งมีวงเงินเพิ่มขึ้น เนื่องจากรัฐบาลให้ความสำคัญในการช่วย ผู้ประกอบการ SMEs ฐานราก กลุ่มอาชีพอิสระ โดยให้ บสย.พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์เยียวยาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งทั้ง 2 โครงการกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาซึ่งมั่นใจว่ารัฐบาลจะมอบโครงการนี้ให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ผู้ประกอบการ SMEs ในเร็ว ๆ นี้