'นวัตกรรม' น้ำแข็งผ่าตัดจากน้ำเกลือ สะอาด ปลอดภัย ลดการติดเชื้อ

'นวัตกรรม' น้ำแข็งผ่าตัดจากน้ำเกลือ สะอาด ปลอดภัย ลดการติดเชื้อ

การใช้น้ำแข็งจากการแช่น้ำเกลือที่ใช้ทางการแพทย์ ในการผ่าตัดหัวใจ เพื่อรักษาหัวใจให้สดและไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับผลกระทบ จำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังสูงป้องกันการปนเปื้อน ซึ่งอาจนำไปสู่การติดเชื้อ

การผ่าตัดหัวใจโดยการเปิดช่องอกของผู้ป่วยนั้น จำเป็นต้องใช้น้ำแข็ง ซึ่งได้จากการแช่น้ำเกลือที่ใช้ทางการแพทย์อย่างน้อย 3 ชั่วโมงเมื่อจะใช้ก็ต้องนำออกมาไว้ในอุณหภูมิห้องก่อน 1 ชม.แล้ว จึงน้ำมาทุบก่อนใส่น้ำแข็งลงไปที่หัวใจ เพื่อรักษาหัวใจให้สดและไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับผลกระทบขณะหัวใจหยุดเต้นระหว่างการผ่าตัด ซึ่งแพทย์ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการใช้น้ำแข็งที่ผ่านการทุบ เพราะบางครั้งอาจมีแหลมคมหรือมีเศษของพลาสติกติดมาด้วยอีกทั้งยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อนทำให้ติดเชื้อได้

ดังนั้นเพิื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยแพทย์ที่ทำการหัตถการ จึงต้องการ “นวัตกรรม” ที่จะทำน้ำแข็งจากน้ำเกลือเพื่อใช้ในการผ่าตัดได้อย่างไร โดยที่ไม่ต้องไปสัมผัสกับน้ำแข็ง หรือให้ผ่านกระบวนการต่างๆ น้อยที่สุด เพื่อความสะอาดปลอดภัยและสะดวกในการใช้งาน ที่มีความเนียนและนุ่ม (Slush) ลักษณะคล้ายวุ้น สะอาด ปลอดภัย และทำความเย็นได้ดี

160647028341

เมื่อ 6 ปีที่แล้ว “ปวีณา แน่นหนา” ผู้ตรวจราชการพยาบาล โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย นำโจทย์ดังกล่าวไปปรึกษากับ “ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ” อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ว่าจะทำน้ำแข็งเพื่อใช้ในการผ่าตัดจากน้ำเกลือได้อย่างไร โดยที่ไม่ต้องไปสัมผัสกับน้ำแข็ง หรือให้ผ่านกระบวนการต่างๆ น้อยที่สุด เพื่อความสะอาดปลอดภัยและสะดวกในการใช้งาน

ว่ากันว่าหลังจากได้รับโจทย์จากศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้นำไปให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ แก้ไข คิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์ด้วยวิธีต่างๆ จากนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ถึง 3 รุ่นด้วยกันจนมาประสบความสำเร็จในรุ่นที่ 3

และได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในการพัฒนาเครื่องทำน้ำแข็งสำหรับใช้ในผ่าตัด (Sterile Surgical Slush Machine) นำไปมอบให้ศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เพื่อนำไปใช้ในห้องผ่าตัดศัลยกรรมทรวงอกหลังผลการทดสอบเครื่องประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยมี รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นประธานในพิธีส่งมอบเมื่อที่ 26 พฤศจิกายน

160647028448

ศ.ดร.สมชาย วงศ์วิเศษ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่าใช้เวลากว่า 1 ปีในการวิเคราะห์ปัญหาเพื่อประดิษฐ์และพัฒนาเครื่องทำน้ำแข็งดังกล่าว ประกอบด้วย ชุดอุปกรณ์หลักๆ เพียง 2 อย่าง คือระบบทำความเย็น และอุปกรณ์ที่ทำให้น้ำเกลือในภาชนะเคลื่อนที่ส่วนขั้นตอนการใช้งาน จะนำแผ่นฟิล์มพลาสติกที่ผ่านการฆ่าเชื้อมารองถาดทรงโดม

จากนั้นจึงใส่น้ำเกลือปริมาณ 1,000 ลูกบาศก์เซนติเมตรลงไปแล้วเริ่มเดิมเครื่อง เมื่ออุปกรณ์ทำให้น้ำเกลือในภาชนะเคลื่อนที่สร้างการสั่นสะเทือนให้แก่น้ำเกลือเพียงเท่านั้นเครื่องก็สามารถผลิตหรือทำน้ำแข็งจากน้ำเกลือให้ออกมาในรูปลักษณะเกล็ดน้ำแข็งกึ่งของเหลว (Slush) ตามที่ต้องการ ช่วยลดเวลาในการเตรียมน้ำแข็งของแพทย์ผู้ผ่าตัดโดยใช้เวลาในการผลิตน้ำแข็งเพียง 45 นาที

160647028490

“ในเบื้องต้นภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับบริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด พัฒนา เครื่องทำน้ำแข็งสำหรับใช้ในผ่าตัด (Sterile Surgical Slush Machine) นำไปมอบให้ศูนย์โรคหัวใจโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 1 เครื่องเพื่อช่วยให้แพทย์ทำหัตถการ ทำน้ำแข็งไปใช้ในการผ่าตัดหัวใจได้ดีขึ้นและในอนาคตจะมีการพัฒนาร่วมกันเพื่อช่วยให้แพทย์มีนวัตกรรมการทำนำแข็งที่นำมาใช้ในการผ่าตัดได้ปลอดภัยมากขึ้น”

การผ่าตัดหัวใจโดยการเปิดช่องอกของผู้ป่วยนั้น จำเป็นต้องใช้น้ำแข็ง ซึ่งได้จากการแช่น้ำเกลือที่ใช้ทางการแพทย์ เพื่อรักษาหัวใจให้สดและไม่ให้กล้ามเนื้อหัวใจได้รับผลกระทบขณะหัวใจหยุดเต้นระหว่างการผ่าตัดซึ่งแพทย์ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างสูงในการใช้น้ำแข็ง "ศ.นพ.วิชัย เบญจชลมาศ" อาจารย์ประจำหน่วยศัลยศาสตร์ทรวงอก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การผ่าตัดหัวใจ 1 เคส จะใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยใช้น้ำแข็งประมาณ 1 ลิตรต่อการทำหัตถการ 30 นาที ซึ่งที่ รพ. จุฬาฯ มีห้องผ่าตัดที่ปฏิบัติการพร้อมกันได้ 6 ห้อง การมีนวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยให้แพทย์สามารถทำหัตถการได้ดียิ่งขึ้น

160647034161

ธันยวัฒน์ จิตติพลังศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริษัท ซัยโจ เด็นกิ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาเครื่องทำน้ำแข็งสำหรับใช้ในการผ่าตัด กล่าวว่าเครื่องดังกล่าว มีประโยชน์อย่างมากทางการแพทย์ เพราะสามารถการทำน้ำแข็งที่มีความเนียนและนุ่ม (Slush) ลักษณะคล้ายวุ้น สะอาด ปลอดภัย และทำความเย็นได้ดีกว่า น้ำแข็งที่ได้สะอาด ปลอดภัย ปลอดเชื้อ ซึ่งจะเห็นว่าตัวอุปกรณ์ของเครื่องจะไม่สัมผัสกับน้ำเกลือ และเมื่อเปรียบเทียบระยะเวลาในการทำน้ำแข็งแบบเดิมจาก 3- 4 ชม. เหลือเพียง 45 นาทีก็ได้น้ำแข็งตามที่ต้องการมาใช้ในการผ่าตัด ในอนาคตจะนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ผลิตเครื่องออกจำหน่ายต่อไป ซึ่งเครื่องทำนำแข็งลักษณะดังกล่าวมีใช้อยู่ที่สหรัฐอเมริการาคาประมาณเครื่องละ 6 แสนบาท