เงื่อนไข 'ม็อบ' ไม่ถึง 'กฎอัยการศึก'

เงื่อนไข 'ม็อบ' ไม่ถึง 'กฎอัยการศึก'

'ผบ.ทบ.' เป็นผู้ควบคุมกองกำลังทหารที่ใหญ่ที่สุด จึงมีอำนาจประกาศ 'กฎอัยการศึก' หากสถานการณ์พัฒนาไปสู่การ 'จลาจล'

 'กฎอัยการศึก' ถูกพูดถึงอย่างหนาหู หลังจากสถานการณ์ชุมนุมกลับมาอีกรอบ และเกิดสถานการณ์กระทบกระทั่งตอบโต้ระหว่างมวลชนกับเจ้าหน้าที่รัฐที่พยายามสลายการชุมนุม แม้ผู้นำรัฐบาลและผู้นำกองทัพบกจะปฏิเสธถึงการนำกฎหมายนี้มาใช้ เพื่อสยบกระแสการ รัฐประหาร แต่หลายฝ่ายก็ยังไม่ไว้วางใจ 

 สำหรับ ‘กฎอัยการศึก’ ถือเป็นกฎหมายโบราณ ที่ไม่ได้ให้สิทธิ์ 'นายกรัฐมนตรี' เนื่องจากไม่มีกองกำลังเป็นของตัวเอง แต่อยู่ในอำนาจของทหาร 1. ตั้งแต่ผู้บังคับกองพัน ที่มีทหาร 1 กองพัน และอยู่เป็นอิสระในพื้นที่ 2.ผู้บังคับบัญชาทหาร ที่มีกองกำลังทหารในพื้นที่

สำหรับกรณีกรุงเทพมหานคร เป็นอำนาจของแม่ทัพภาคที่ 1 ( พล.ท.เจริญชัย หินเธาว์) แต่หากผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) อยู่ในพื้นที่สิทธิ์การประกาศใช้กฎอัยการศึก จึงตกเป็นของ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ เพราะเป็นผู้ควบคุมกองกำลังทหารที่ใหญ่ที่สุด

ทั้งนี้ ‘กฎอัยการศึก’ จะประกาศได้ก็ต่อเมื่อสถานการณ์พัฒนาไปสู่จลาจล เมื่อมีการนำอาวุธสงครามเข้ามากระทำต่อกัน หรือการปิดเส้นทางคมนาคม ระบบขนส่ง ทำให้พื้นที่นั้นเป็นอัมพาต ส่งผลกระทบต่อประเทศ และการใช้ชีวิตประชาชนโดยรวม เช่นกรณี การประกาศ ‘กฎอัยการศึก’ ปี 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น เพื่อควบคุมสถาการณ์การชุมกลุ่ม ‘กปปส.’ ขับไล่รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งนำอาวุธสงครามเข้ามาห้ำหันกัน จนไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้

สำหรับการชุมนุมกลุ่มราษฎรถือว่ายัง ‘ห่างไกล’ เมื่อเทียบปี 2557 แม้จะส่อเค้าให้เห็นความรุนแรง หลังมีการปาระเบิด และนำอาวุธปืนทำร้ายกันที่แยกเกียกกาย พื้นที่ใกล้เคียงรัฐสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. และบริเวณ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) สำนักงานใหญ่รัชโยธิน เมื่อวันที่ 25 พ.ย. แต่ก็ยังอยู่ในระดับกฎหมายปกติควบคุมได้

ขณะเดียวกัน หากสถานการณ์พัฒนาไปอีกระดับ ก็ยังมี ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง’ เป็นเครื่องมือให้ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ใช้ควบคุม ‘ม็อบราษฎร’ ซึ่งจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ ประเทศน้อยกว่า ‘กฎอัยการศึก’ เว้นแต่สถานการณ์ข้าม ‘ช็อต’ เกิดจลาจล จะสามารถประกาศใช้ได้ทันที

ทั้งนี้ ‘กฎอัยการศึก’ ของไทย มีศักดิ์เทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ตราขึ้นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกว่า ‘กฎอัยการศึก ร.ศ.126’ ต่อมาใน พ.ศ.2457 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ยกเลิกกฎหมายฉบับดังกล่าวและตรา ‘กฎอัยการศึก’ พ.ศ.2457 ขึ้นใช้แทน จำนวน 17 มาตรา และยังคงใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมรวม 5 ครั้ง

160643293950

การประกาศกฎอัยการศึกในประเทศไทย เกิดขึ้น 8 ครั้ง โดย 7 ครั้งแรก เป็นการทำ‘รัฐประหาร’ ส่วนครั้งที่ 8 เมื่อปี 2557 เป็นเหตุการณ์ต่อเนื่อง ที่ ‘พล.อ.ประยุทธ์’ ต้องการแก้ไขปัญหาระหว่างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ กับกลุ่ม กปปส. แต่ไม่สามารถหาข้อยุติที่จะนำไปสู่ความสงบสุข จึงนำไปสู่การ ‘รัฐประหาร’
สำหรับปัจจุบันนี้ กฎอัยการศึกยังมีปรากฎในพื้นที่ชายแดน รวมถึงบางพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้อำนาจทหารดูแลอธิปไตยของประเทศ รวมถึงสกัดกั้นสิ่งผิดกฎหมาย สนับสนุนงานรัฐบาล

ฉะนั้น สถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มราษฎร 63 ณ เวลานี้ ทั้งนายกรัฐมนตรี และผบ.ทบ.จึงประสานเสียงกันว่า ไม่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งนั่นก็หมายถึงการประเมินของฝ่ายความมั่นคงมาอย่างต่อเนื่อง ถึงสถานการณ์ม็อบที่แผ่ว จำนวนมวลชนที่ลดลง บรรดาผู้ชุมนุมไม่มีท่าทีก่อให้เกิดความรุนแรง
จนไม่มีเงื่อนไขไปถึงการใช้กฏอัยการศึก ที่สำคัญจุดยืนทั้งสองฝ่ายยังตรงกัน 'ไม่เอารัฐประหาร'!