ฟื้นเอฟทีเอ'ไทย - อียู'กู้ศก.ยุคโควิด

ฟื้นเอฟทีเอ'ไทย - อียู'กู้ศก.ยุคโควิด

การฟื้นเจรจาความตกลงการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ไทย - สหภาพยุโรป (อียู) เป็นหนึ่งในเครื่องมือฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับแรงกระเพื่อมจากสถานการณ์การค้าโลก และการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

ศศิวัฒน์ ว่องสินสวัสดิ์ อธิบดีกรมยุโรป กระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์กรุงเทพธุรกิจว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและอียูกำลังก้าวหน้าไปอีกขั้น เมื่ออียูแสดงความพร้อมอย่างแน่วแน่ ในการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับอียู และรัฐสมาชิก (Partnership and Cooperation Agreement – PCA) และความตกลงการค้าเสรีไทย - อียู หลังจากที่กรมเจรจาเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหัวเรือใหญ่ของฝ่ายไทย และสำนักงานด้านการค้าของคณะกรรมาธิการยุโรป (The Directorate-General for Trade in the European Commission : DG Trade) ได้หารือปูทางระดับเทคนิคมาอย่างต่อเนื่อง

ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสไทย–อียู ครั้งที่ 15 ผ่านระบบการประชุมทางไกลเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งศศิวัฒน์ และพาโอลา แพมพาโลนี รองอธิบดีกรมเอเชียและแปซิฟิก กระทรวงการต่างประเทศของอียู (European External Action Service – EEAS) ทำหน้าที่เป็นประธานร่วมกัน ได้แสดงความมุ่งมั่นเดินหน้าความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นบนพื้นฐานของผลประโยชน์และค่านิยมร่วม

"ทั้งสองยืนยันความพร้อมที่จะเร่งรัดเจรจากรอบความตกลง ว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างไทยกับอียูและรัฐสมาชิกเพื่อให้มีการลงนาม และฟื้นการเจรจาความตกลงการค้าเสรีโดยเร็ว" อธิบดีกรมยุโรปย้ำ

ช่วงที่ผ่านมา ฝ่ายไทยได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ที่เป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการทำข้อตกลงเอฟทีเอไทย - อียู และขั้นต่อไปเป็นการจัดทำกรอบการเจรจาเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงจะสามารถเจรจาอย่างเป็นทางการได้

โดยการเจรจาเอฟทีเอไทย - อียู ประกอบด้วย 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ ส่วนแรกด้านการค้า และส่วนที่สองด้านการลงทุน ซึ่งกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศรับผิดชอบการเจรจาเป็นหลักที่แยกออกมาจากการค้า

"เป็นที่รู้กันว่า เอฟทีเอไทย - อียูกำหนดมาตรฐานไว้สูง ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเข้าสู่ตลาด ให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจ การค้า บริการภายในประเทศเท่านั้น แต่จะมีข้อบทเรื่องการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Trade and Sustainable Development) ที่ครอบคลุมเรื่องสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ มาตรฐานแรงงาน ซึ่งจะเป็นความท้าทายให้กับไทยรวมอยู่ด้วย" อธิบดีกรมยุโรป ระบุ

นอกจากนี้ ยังมีข้อบทอื่นๆ ในเอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งเป็นมาตรการที่ประเทศพัฒนาแล้วกำหนดขึ้นเพื่อการเจรจา อาทิ การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ การค้าและบริการด้านการเงิน และทรัพย์สินทางปัญญาที่ยังมีบางประเด็นที่ระดับมาตรฐานและมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน โดยที่ฝ่ายไทยยืนยันกับอียูมาตลอดว่า เอฟทีเอจะต้องเป็นข้อตกลงที่ทำได้จริง และมิติที่ควรจะมีในความตกลงคือ การเสริมสร้างขีดความสามารถของไทยและอียู ในการปฏิบัติและใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอนี้ได้อย่างเต็มที่

ในการประชุมฯ ฝ่ายไทยได้เสนอให้จัดตั้งกรอบการหารือด้านความมั่นคง (Thai-EU Security Dialogue) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการต่อต้านการก่อการร้าย ความมั่นคงทางทะเล และความมั่นคงทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ร่วมของนายกรัฐมนตรีและผู้แทนระดับสูงของอียูด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเมื่อครั้งพบกันที่ประเทศไทยเมื่อเดือน ส.ค.ปีที่แล้ว

160643191715

ขณะเดียวกัน ไทยเห็นความสำคัญในการผลักดันความร่วมมือด้านมาตรฐานที่เป็นรูปธรรมกับอียู เพื่อยกระดับมาตรฐานของไทยและทำให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยมีการหารือและติดตามความคืบหน้าของความร่วมมือด้านต่าง ๆ ได้แก่ 1.การยกระดับมาตรฐานการประมง และการรับมือปัญหาทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือไอยูยู (Illegal Unreported and Unregulated Fishing) ในระดับภูมิภาค

2. การพัฒนาการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ภายใต้ข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (Forest Law Enforcement, Governance and Trade – Voluntary Partnership Agreement ) เป็นองค์ประกอบสำคัญของแผนปฏิบัติการการบังคับใช้กฎหมายป่าไม้ ธรรมาภิบาล และการค้าของอียู เพื่อจัดการปัญหาการค้าไม้ไม่ถูกกฎหมาย

3.ส่งเสริมสิทธิแรงงานในภาคประมงระดับอาเซียน 4.ส่งเสริมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อาทิ โครงการที่เกี่ยวกับมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และที่เกี่ยวข้องกับมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของอียู ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของไทยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

5.ผลักดันความร่วมมือด้านข้อมูลอวกาศและภูมิสารสนเทศกับโครงการ Copernicus Programme ของอียู เพื่อการคาดการณ์ระดับฝุ่นละออง PM 2.5 ที่แม่นยำยิ่งขึ้น และ 6.การส่งเสริมการเรียนรู้ทางการแพทย์ ในด้าน Helicopter Emergency Medical Service(HEMS) เพื่อส่งเสริมบทบาทของไทยในการเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ในระดับภูมิภาค

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นความท้าทายต่อไทยและอียู ทั้งสองฝ่ายยืนยันจะมุ่งมั่นกระชับความร่วมมือในการรับมือกับการแพร่ระบาด โดยเฉพาะในด้านการรักษาและการพัฒนาวัคซีน ตลอดจนฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังวิกฤติไวรัสครั้งนี้