‘คลื่นนวัตกรรม’ ไหลบ่า ปลุกโอกาสธุรกิจยุคใหม่

‘คลื่นนวัตกรรม’ ไหลบ่า ปลุกโอกาสธุรกิจยุคใหม่

เมื่อ “คลื่นนวัตกรรม” ลูกใหญ่กำลังเกิดขึ้น รองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในโลกวิถีใหม่ จากการที่โควิด-19 กดดันให้ก้าวสู่ดิจิทัลเร็วขึ้นกว่าที่คาดไว้ โดยนวัตกรรมและการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงานให้คล่องตัว นับเป็นข้อได้เปรียบและโอกาสที่สำคัญ

ความคืบหน้าของ “วัคซีน” โควิด-19 ที่ดูเป็นความหวังของคนทั้งโลกมีความ “ชัดเจน” ขึ้นตามลำดับ ชัดเจนถึงขนาดมีแผนแจกจ่ายวัคซีนราว 40 ล้านโดสในสหรัฐ ที่พร้อมใช้ภายในสิ้นเดือน ธ.ค ครอบคลุม 50 รัฐ พร้อมระบุชัดว่า ใครบ้างที่ควรได้รับเจ้าวัคซีนนี้ เป็นความหวังที่กำลังเกิดขึ้นได้จริง แม้จะยังไม่กระจายไปทั่วโลกก็ตาม

ขณะที่ประเทศไทย รัฐบาลเตรียมใช้งบประมาณกว่า 6 พันล้านบาทจัดหาวัคซีน ซึ่งได้จองล่วงหน้าและเตรียมเซ็นสัญญาจัดซื้อกับบริษัท แอสตร้าเซเนก้า บริษัทผู้ผลิตชีวภัณฑ์ชั้นนำ สัญชาติอังกฤษ-สวีเดน ซึ่งถ้าขั้นตอนทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ คาดว่าคนไทยจะมีวัคซีนโควิด-19 ในอีก 6 เดือนนับจากนี้ หรือราวกลางปี 2564

ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ธุรกิจจะต้องมองไปข้างหน้าอย่างจริงจัง ทิ้งอดีตที่แสนเจ็บปวดไว้ข้างหลัง จดจำไว้แค่เป็นบทเรียน หันมาเร่งพลิกฟื้นสถานการณ์ที่ย่ำแย่ สู่การเดินหน้าสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับองค์กรของตัวเอง ยักษ์เทคโนโลยีอย่าง “ซิสโก้” และพันธมิตรอย่าง Jungle Ventures เผยผลศึกษาที่น่าสนใจ ระบุว่าการปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักๆ ของอาเซียน เช่น การศึกษา สาธารณสุข และซัพพลายเชน จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างโอกาสให้กับบรรดาองค์กร ธุรกิจต่างๆ ที่มีพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง รวมถึงธุรกิจที่ปรับตัวได้เร็ว ทำให้เราได้เห็นถึงศักยภาพมนุษย์ ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต และการทำธุรกิจได้อย่างชาญฉลาด 

ขณะที่หลายภาคส่วนได้รับผลกระทบรุนแรงและจำเป็นต้องปรับตัว ก็เปลี่ยนแปลงตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ เราได้เห็นการดำเนินกลยุทธ์ที่แปลกใหม่ ทัศนคติและวิธีคิดที่ยืดหยุ่นมากขึ้น วิกฤติครั้งนี้ยังเปิดโอกาสให้ธุรกิจสตาร์ทอัพแจ้งเกิด พบว่า 18% ของสตาร์ทอัพทั่วโลกมุ่งเน้นการทำตลาดใหม่ตั้งแต่การแพร่ระบาดเริ่มต้น และอีก 13% มีแผนที่จะดำเนินการในอีก 6 เดือนข้างหน้า และที่น่าสนใจ เราได้เห็น “คลื่นนวัตกรรม” ลูกใหญ่กำลังเกิดขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปในโลกวิถีใหม่ โควิด-19 กดดันให้การเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลเร็วขึ้นมากกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ 

ผลพวงครั้งนี้ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญนอกจากวงการการแพทย์ที่ต้องเปลี่ยนอย่างมโหฬาร การลงทุนทางเทคโนโลยี รวมถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินงาน “ความคล่องตัว” และ “นวัตกรรม” คือ ข้อได้เปรียบสำคัญ ยังรวมถึงธุรกิจต่างๆ ที่ต้องลุกขึ้นมาเร่งสร้างเวิร์คโฟลว์ธุรกิจ และเสาะหากลยุทธ์ที่เหมาะสม ปรับตัวให้เร็ว ใช้ประโยชน์จากโอกาสใหม่ๆ พัฒนาธุรกิจให้เติบโต เราเห็นว่า รัฐบาลและผู้กำหนดนโยบาย ควรต้องมองหาโอกาสพัฒนาอุตสาหกรรมหลักของประเทศให้ทันสมัยมากขึ้น หรือปรับใช้แนวทางที่ครอบคลุมหลากหลายแง่มุม อาศัยความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างรัฐบาล เอกชน ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปอย่างสร้างสรรค์ และยั่งยืน