'อีอีซี' ไม่ง่ายเหมือนเดิม 'อีสเทิร์นซีบอร์ด'

'อีอีซี' ไม่ง่ายเหมือนเดิม 'อีสเทิร์นซีบอร์ด'

เปิดบทวิเคราะห์ ทำไมการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ "อีอีซี" ถึงไม่ง่ายเหมือนกับการพัฒนาโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดในอดีต แม้ว่าเป้าหมายที่วางไว้คล้ายคลึงกัน และอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก แหล่งอุตสาหกรรมเช่นเดียวกัน

หลายคนที่รู้เรื่องโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด (Eastern Sea Board: ESB) คงดูออกว่าโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ก็คือ ภาคสองของ ESB ซึ่งเป้าหมายดูคล้ายๆ กัน เพราะจะใช้พื้นที่ภาคตะวันออกของไทยแห่งนี้เป็นแหล่งที่ตั้งกิจการอุตสาหกรรม ซึ่งส่วนมากเป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่สำคัญของประเทศ 

วันนั้นในปี 2525 สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณศูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โครงการ ESB เป็นช่วงเวลาประจวบเหมาะใน 4 ปัจจัยที่สำคัญ คือ 1.ญี่ปุ่นกำลังหาที่ย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศตนเอง 2.คือ ประเทศไทยมีการเมืองและความมั่นคงมากที่สุดในภูมิภาคนี้ 3.ประเทศอื่นๆ ยังไม่มีการแข่งขันในการดึงการลงทุนจากต่างประเทศที่น่าสนใจเท่ากับไทย และ 4.คือ แหล่งทรัพยากรพลังงานของประเทศจากอ่าวไทยถูกดึงขึ้นมาใช้

“ทั้ง 4 ข้อนี้ทำให้อีสเทิร์นซีบอร์ดกลายเป็นที่ตั้งของบริษัทญี่ปุ่นจำนวนมาก และกลายเป็นยุคโชติช่วงชัชวาลของไทย”

วันนี้ EEC แม้จะมี พ.ร.บ. ของตัวเอง และ ดร.คณิศ แสงสุพรรณ ผอ.สำนักงาน EEC บอกเสมอว่า EEC คือ อีสเทิร์นซีบอร์ดภาคสมบูรณ์ ที่คนทำมาก่อนฝันไว้ เรียกว่าพัฒนาครบในทุกมิติ ทั้งอุตสาหกรรมใหม่ การเกษตรกรรม สิ่งแวดล้อม การศึกษา สาธารณูปโภค เรียกว่าครบด้านกว่าเดิม ซึ่งดูแล้วเราน่าจะประสบความสำเร็จและโชติช่วงชัชวาลเหมือนที่เคยเป็นมา แต่หากมองจริงๆ ในวันนี้แล้ว เราจะพบว่าเป็นปัจจัยต่างๆ เงื่อนไขต่างๆ ที่เราเผชิญอยู่ โดยเฉพาะปัจจับภายนอกไม่เหมือนเดิม

การดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของประเทศคู่แข่งในวันนี้ไม่เหมือนเดิม วันนี้คู่แข่งของเราทั้ง มาเลเซีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย พร้อมมากๆ เมื่อก่อนเราเคยคิดว่าเราพร้อมต่อ FDI กว่าเวียดนามมาก แต่วันนี้มูลค่า FDI ไปที่เวียดนามมากกว่าเรา และอินโดนีเซียก็หายใจรดต้นคอเรา ส่วนมาเลเซียและสิงคโปร์ก็ไม่ต้องพูดถึง เพราะสองรายนี้เอา FDI ประเภทไฮเทคและการวิจัยไปเกือบหมด

นอกจากนี้ ประเทศไทยในวันนี้ เรามีประเทศที่มีความตกลงทางการค้าและความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่ค้าสำคัญน้อยกว่าเพื่อนบ้านมากนัก เวียดนามอาจมีจำนวนข้อตกลงพอๆ กับเรา แต่เขามีจำนวนประเทศที่อยู่ในข้อตกลงการค้านั้นจำนวนมากกว่าเราสองสามเท่าตัว เรามีประเทศในความตกลง 18 ประเทศ เวียดนามมี 53 ประเทศ และที่สำคัญ ประเทศใหญ่ๆ ที่เขามี แต่เราไม่มี เช่น สหรัฐ และ อียู เขาใช้ความได้เปรียบทางด้านภาษีศุลกากรในการส่งออกไปประเทศเหล่านี้ 

ในขณะที่ไทยก็ยังหมกหมุนอยู่กับของฟรีที่เขาให้เราฝ่ายเดียวมาตลอด คือ เรื่อง GSP (Generalized System of Preferences) และเขาก็ตัดรายการให้ฟรีเราลงทุกปี และไม่มีความแน่นอนใดๆ ทั้งสิ้น ทำให้นักลงทุนมองประเทศเหล่านี้เป็นแหล่งลงทุนที่น่าสนใจที่สุดแทนประเทศไทย

อินโดนีเซียและเวียดนามก็ยังใช้สารพัดกลยุทธ์ในการดึงการลงทุนต่างประเทศเข้าประเทศ ผ่านข้อกำหนดการนำเข้าจากประเทศไทยที่เข้มงวดกว่าเดิม ไม่ว่าการนำเข้าเรื่องรถยนต์ ชิ้นส่วน หรือแม้แต่ยางรถยนต์ และอื่นๆ ของอินโดนีเซีย เพื่อให้นักลงทุนไม่สะดวกในการส่งสินค้ากึ่งสำเร็จรูปมาในบ้านเขา อยากให้มาลงทุนในบ้านเขาเลยจะสะดวกกว่า รวมทั้งเรื่องต่างๆ ที่เป็น Non barriers ต่างๆ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เราไม่เคยเห็นมาก่อนในช่วงที่เราทำ Eastern Seaboard เมื่อ 40 ปีที่แล้ว นอกจากนี้ ความพร้อมของแรงงานที่มีทักษะและช่างเทคนิคของเขาก็พัฒนาไปไกลมาก

วันนี้เราอาจต้องช่วย EEC มากกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องการปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ โครงสร้างภาษี รูปแบบการส่งเสริมการลงทุนแบบใหม่ และที่สำคัญความพร้อมของแรงงาน โครงการสาธารณูปโภคใหม่ๆ และสิ่งที่ EEC ทำอยู่ในวันนี้ แม้ว่าจะจำเป็นมาก แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะดึงความสนใจการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เข้ามาตามเป้าหมายที่วางไว้

ที่สำคัญ การเมืองนิ่งๆ และนักการเมืองกล้าตัดสินใจเชิงนโยบายที่มองอนาคตของประเทศหน่อย ผมว่า EEC ของเราสู้ได้