TNDR 15 มหาวิทยาลัยรวมพลังรับมือ“ภัยพิบัติ”

 TNDR 15 มหาวิทยาลัยรวมพลังรับมือ“ภัยพิบัติ”

ภัยพิบัติ อันดับ 1 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ เรื่องน้ำ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำป่าไหลหลาก น้ำกัดเซาะชายฝั่ง น้ำเอ่อล้น 2 ข้างทาง อันดับรองลงมา คือ เรื่องภูมิอากาศ เรื่องลม ภัยพิบัติที่มีความถี่ เข้มข้น และสลับซับซ้อนมากขึ้น

การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วยหน่วยงานรัฐเพียงตามลำพัง ยากที่จะดำเนินการป้องกัน ลดผลกระทบ ความสูญเสีย และความเสียหาย หรือการเตรียมการด้านการปรับตัวให้รอดพ้นสภาวะวิกฤตไปได้ในทางกลับกัน การจัดการสาธารณภัย

ทั้งในด้านการเตรียมพร้อม การบรรเทาภัย การตอบสนองในสถานการณ์ฉุกเฉิน และการฟื้นฟูภายหลังจำเป็นต้องใช้แนวคิดและการวิเคราะห์ปัญหาแบบองค์รวม อีกทั้งจำเป็นต้องสร้างเสริมศักยภาพของสังคมด้วยการระดมภูมิปัญญาและบูรณาการองค์ความรู้ที่หลากหลายจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการร่วมช่วยกันแก้ปัญหาของประเทศชาติโดยอาศัยความเชื่อมโยงกันของผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัยในแต่ละภูมิภาค

วานนี้(26พย.)สถาบันการศึกษาไทย ทั้ง15 แห่ง จึงได้ร่วมกับมูลนิธิเตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติในประเทศไทย(Thai Disaster Preparedness Foundation–TDPF )ร่วมมือกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และองค์กรระหว่างประเทศ ศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย ( Asian Disaster Preparedness Center – ADPC )จัดตั้งเป็นเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย( Thai Network for Disaster Resilience – TNDR )บูรณาการความร่วมมือกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพในองค์รวมให้เกิดการลดความเสี่ยงภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง และนำมาซึ่งความปลอดภัยของสังคมอย่างยั่งยืน

160640280999

ภายในงานมีการเสวนาวิชาการหัวข้อเตรียมพร้อมรับมือ ภัยจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น : กรุงเทพฯ จะจมน้ำเมื่อใดโดย  รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่ากรุงเทพฯ จมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยหลัก คือ น้ำเหนือมา กรุงเทพฯทรุด และน้ำทะเลขึ้นสูง

เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมาได้มีการประเมินสถานการณ์และเตรียมพร้อมในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยเฉพาะน้ำทะเลสูงขึ้น ได้มีความพยายามในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น และทำให้น้ำแข็งขั่วโลกละลาย ปริมาณน้ำในทะเลก็จะสูงขึ้น โดยทุกประเทศทั่วโลกได้ร่วมกันแก้ปัญหา ได้กำหนดไว้ว่าจะลดอุณหภูมิโลกจาก 4 องศา เหลือ1.5 องศา แต่ 5 ปีที่ผ่านมา ตอนนี้ยังลดอุณหภูมิโลกอย่างที่ตั้งเป้าไม่ได้ จึงได้กำหนดให้ลดลงเหลือ 2 องศา ก็น่าจะมีความหวัง

 “สำหรับอ่าวไทย ถ้าอยู่ที่ 2 องศา จะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจากเดิม 60 เซนติเมตร แต่ถ้า 3 องศา ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น จากเดิม 80 เซนติเมตร และถ้า 4 องศา จะทำให้ระดับทะเลสูงขึ้นจากเดิม1 เมตร ซึ่งเมื่อน้ำท่วมปี2554 ระดับน้ำ2.6 เมตร และคานกั้นน้ำกรุงเทพฯ อยู่ที่ 3 เมตร ตอนนี้ถ้าระดับน้ำสูงได้ไม่เกิน 0.4 เมตร เท่านั้น ถ้ามากกว่านี้ ท่วมกรุงเทพฯ แน่นอน ดังนั้น กรุงเทพฯ มีความเสี่ยงที่จะจม แต่ยังมีโอกาส เพราะในปี 2030 ได้มีการกำหนดว่าถ้าทุกประเทศช่วยกันลดคาร์บอนฯ ก็จะช่วยแก้ปัญหาเกิดขึ้นได้ โดยประเทศไทยถือเป็นเรื่องน่ายินดี เนื่องจากขณะนี้มีการลดคาร์บอนได้ 15% แต่ทั้งนี้ เรื่องนี้ต้องเป็นความร่วมมือกับคนทั่วโลกรศ.ดร.สุจริต กล่าว

ทั้งนี้ กรุงเทพฯจะจม หรือต้องย้ายเมืองหลวงหรือไม่นั้น เรื่องนี้ต้องมีการเตรียมพร้อมคนในประเทศ รวมถึงทุกองค์กรภาคีต้องร่วมมือกัน โดยจะต้องมีการวางแผนว่าแต่ละพื้นที่ควรจะบริหารจัดการอย่างไร ต้องทำในส่วนที่จำเป็นและทุกคนในประเทศต้องปรับตัว ลดการใช้คาร์บอน ปรับการใช้ชีวิต และขณะนี้กำลังมีการจัดทำร่างกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติ ที่จะทำให้ทุกภาคส่วนต้องปฎิบัติตาม เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยทั้ง 15 แห่ง จะเป็นจุดเริ่มต้นที่เกิดการทำงานทั้งด้านวิจัย วิชาการและอันนำไปสู่การจัดทำนโยบายที่จะช่วยแก้ปัญหาภัยพิบัติ โดยเฉพาะการเตรียมพร้อมรับมือภัยจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น หรือเรื่องอื่นๆ ได้อย่างถูกต้อง และเข้าใจ

160640283729

สถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงลมฟ้าอากาศ ที่จะทำให้เกิดภัยพิบัติในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศไทยที่ได้รับผลกระทบ ดร.พิจิตต รัตตกุล ประธานกรรมการเครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย กล่าวว่า ภัยพิบัติ อันดับ 1 ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ เรื่องน้ำ เช่น น้ำท่วม น้ำแล้งน้ำป่าไหลหลาก น้ำกัดเซาะชายฝั่ง น้ำเอ่อล้น 2 ข้างทาง

อันดับรองลงมา คือ เรื่องภูมิอากาศ เรื่องลม ภัยพิบัติที่มีความถี่ เข้มข้น และสลับซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากเมื่อก่อนลมจะมีความแรง 60-70 กม.ต่อชม. แต่ตอนนี้ใกล้ 100 กม.ต่อชม. สิ่งก่อสร้างของไทยพร้อมรับมือได้ขนาดไหนทนทานต่อภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่ ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพดิน ฟ้า อากาศย่อมส่งผลกระทบอย่างไม่สามารถคาดการณ์ได้ จึงต้องมีการเตรียมรับมือให้ความรู้แก่ประชาชน รวมถึงสร้างความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและกรม กองต่างๆ

160640304987

"กรุงเทพฯเดิมเป็นพื้นที่ที่อยู่ในทะเล จะจมหรือไม่ จะท่วมหรือไม่ต้องหาแนวทางในการบริการจัดการเรื่องนี้ ความร่วมมือของ 15 มหาวิทยาลัยครั้งนี้ จะนำไปสู่การทำงานวิจัยร่วมกัน รวมถึงอบรม ถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับหน่วยงานราชการ และประชาชน ซึ่งจะมีการสอบถามหน่วยราชการว่าต้องการอะไรบ้าง กำหนดทิศทางร่วมกัน และช่วยกันทำให้ประเทศมีความเตรียมตัวพร้อมรับมือภัยพิบัติมากขึ้น ลดความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และไม่ทำให้เกิดผลกระทบด้านอื่นๆ ด้วยดร.พิจิตต กล่าว

อย่างไรก็ตาม การจัดการเรื่องภัยพิบัติ การเตรียมพร้อมรับมือน้ำทะเลขึ้นสูง ต้องอยู่บนพื้นฐานวิทยาศาสตร์ธรณีวิทยาร่วมด้วย ไม่ได้มองเฉพาะด้านวิศวกรรมศาสตร์เป็นตัวตัวอย่างเดียว