ปตท.หวังวัคซีนโควิด ดันปริมาณใช้น้ำมันปี 64

ปตท.หวังวัคซีนโควิด ดันปริมาณใช้น้ำมันปี 64

“อรรถพล” ชี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นดีมานต์น้ำมันผ่านจุดต่ำสุด เร่งใช้เทคโนโลยีช่วยปรับตัวพร้อมเสริมข้อมูลให้ธุรกิจ - เอกชน ตัดสินใจผ่านทีมวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน ชู 2 สมมุติฐานปริมาณน้ำมันเพิ่ม 1.3 - 5.3 ล้านบาร์เรลต่อวันขึ้นกับการควบคุมโควิด

ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM Expert) ร่วมกับกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดสัมนา The Annual Petroleum Outlook Forum หัวข้อ "The Great Reset เมื่อโรคปฏิวัติโลก...เจาะลึกจุดเปลี่ยนโลกพลังงาน” เพื่อติดตามแนวโน้มราคาพลังงาน

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 กระทบเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าเศรษฐกิจโลกปี 2563 หดตัวถึง 4.4% และไทยได้รับผลกระทบมากเช่นกัน โดยหลายหน่วยงานคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบ 6-10%

สำหรับอุตสาหกรรมพลังงานปี 2563 ได้รับผลกระทบรุนแรง โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ภาคขนส่งที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมากก็หยุดชะงักทำให้ต้องปรับตัวขนานใหญ่ ทั้งการหาโมเดลธุรกิจใหม่ การนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต แม้ความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงและพลังงานผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังเพิ่มขึ้นตามเศรษฐกิจ แต่การวางแผนรับมือความเปลี่ยนแปลงถือเป็นสิ่งจำเป็น

“กลุ่ม ปตท.ตระหนักถึงบทบาทการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศ ต้องปรับตัวสร้างความแข็งแรงและยั่งยืนให้องค์กรและประเทศ ร่วมขับเคลื่อนให้ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจได้ โดยเผยแพร่ข้อมูลพลังงานให้สังคมความเข้าใจ สร้างความเข้มแข็งในสังคมไทยด้วยความรู้จริง"

บัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ส.อ.ท.เผยถึงทิศทางตลาดน้ำมันโลก ว่า โควิดเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันปี 2563 ลดลงมากที่สุดเป็นประวัติกาล และหลายฝ่ายรวมถึงผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกรวมกันรักษาสมดุลตลาดน้ำมัน โดยปัจจัยสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นได้รวดเร็ว คือ การผลิตวัคซีน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ละประเทศและนโยบายการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อช่วยสร้างสมดุลการเติบโตเศรษฐกิจในอนาคต

160639812045

เมธา วีระโอฬารกุล พนักงานการค้าระหว่างประเทศ ฝ่ายการค้าอนุพันธ์ ปตท.กล่าวว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้การใช้น้ำมันโลกปีนี้ ลดลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนตามทิศทางเศรษฐกิจโลก โดยการใช้น้ำมันโลกปีนี้ลดลง 9% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ช่วงที่ทั่วโลกล็อคดาวน์หยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจการใช้น้ำมันโลกลดลงมากถึง 20% ถือว่าการใช้น้ำมันลดลงมากกว่าการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2008 ที่การใช้น้ำมันลดลงเพียง 4%

สาเหตุที่การใช้น้ำมันโลกลดลงมากเพราะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ใช้ลดลง เช่น สหรัฐ จีน โดยสหรัฐใช้น้ำมันลดลง 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน (-12%) ส่วนจีนใช้น้ำมันลดลงวันละ 6 แสนบาร์เรล (-4%) ซึ่งกรณีจีนความต้องการใช้น้ำมันทยอยเพิ่มขึ้น เพราะคุมโควิดได้ดีกว่าทำให้การผลิตและกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 

ส่วนการใช้น้ำมันภาคขนส่งลดลงมาก โดยเฉพาะการขนส่งทางอากาศลดลง 47% จากการหยุดบินของเที่ยวบินไม่น้อยกว่า 55% ทั่วโลก และคาดว่าการบินจะกลับมาปกติในปี 2024 

ทั้งนี้มี 2 สมมุติฐานของการคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันตามการควบคุมโควิด-19 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งมีความสัมพันธ์กับการควบคุมโควิด-19 คือ 

1.กรณี Base Case คือ หากคุมโควิดได้ดีขึ้น เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ประมาณ 5.2% ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น 5.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

2.กรณี Low Case คือ การควบคุมการโควิด-19 ได้ไม่ดี อัตราการตายยังสูง ซึ่งเศรษฐกิจโลกอาจขยายตัวได้ 3.4% ซึ่งกรณีนี้การใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

สำหรับทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปี 2564 ทีมนักวิเคราะห์ ปตท.คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 45–55 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สูงขึ้นจากปี 2563 เพราะสัญญาณบวกจากความก้าวหน้าการพัฒนาวัคซีน การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนานาประเทศและแนวโน้มการใช้พลังงานทดแทน แต่มองว่าการฟื้นตัวของตลาดน้ำมันยังมีความเสี่ยง หากการระบาดเกิดต่อเนื่องและยังคุมไม่ได้ ทำให้ราคาน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวที่ระดับ 35–45 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย CIMB กล่าวว่า ปี 2564 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 3 -4 % แต่ยังมีปัจจัยต้องติดตาม 4 ข้อ ได้แก่ 1.ปัจจัยการเมืองรวมทั้งการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่อาจกระทบความต่อเนื่องของนโยบายเศรษฐกิจ 

2.การแข็งค่าของเงินบาทที่จะกระทบต่อการส่งออก ซึ่งถือว่าปัจจัยค่าเงินบาทสำคัญกว่าปัญหาด้านการเมือง 3.การแพร่ระบาดของโควิดในระยะที่ 2 ที่ต้องระวังไม่ให้เกิิดขึ้น และ 4.ความเสี่ยงเรื่องสงครามการค้าที่จะยังคงดำเนินต่อไปแม้สหรัฐฯจะได้ประธานาธิบดีคนใหม่