เปิดผลสำรวจ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย’ รักษ์โลกและผู้บริโภคแค่ไหน ?

แม็คโคร, ท็อปส์, ซีพี เฟรชมาร์ท มีคะแนนนำโด่งจากผลสำรวจและประเมินนโยบายทางสังคมของ "ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย" จากแคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก” ขององค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM)
ปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตถูกขมวดรวม และจัดประเภทออกเป็น 4 กลุ่ม คืออาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และ ยารักษาโรค โดยสิ่งของ 3 ใน 4 นั้น เราสามารถหาซื้อได้ใน ‘ตลาด’ แต่เมื่อสังคมเมืองกลืนกินเรามากเท่าไหร่ ‘ซูเปอร์มาเก็ต’ ก็เข้ามาทำหน้าที่แทนตลาดตามกลไกของความต้องการซื้อและต้องการขาย มากขึ้นเท่านั้น
แต่จะดีกว่าไหมถ้า "ซูเปอร์มาเก็ต" จะทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วย ไม่ใช่เป็นเพียงแค่รับบทบาทผู้ซื้อและผู้ขายอย่างที่เคยเป็นมา
ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปข้างต้น จึงเป็นที่มาของแคมเปญ “ผู้บริโภคที่รัก” ที่ในอดีตใช้ชื่อว่า “ซูเปอร์มาร์เก็ตที่รัก” จากองค์การอ็อกแฟมประเทศไทย (OXFAM) ที่ทำสำรวจและประเมินนโยบายทางสังคมของ ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย มาตั้งแต่ปี 2561 โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการประกาศนโยบายและแนวปฏิบัติในการสร้างความยั่งยืนทางอาหาร ตลอดจนมีการบังคับใช้นโยบายอย่างจริงจัง
- เปิดผลสำรวจ ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย’ ได้คะแนนเท่าไหร่
สำหรับปี 2563 แคมเปญผู้บริโภคที่รัก ได้ประเมินซูเปอร์มาร์เก็ตไทย 8 แห่ง ในมิติความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมและสวัสดิการของผู้บริโภค ซึ่งเป้าหมายของการประเมินในปีนี้ นอกจากจะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารปลอดภัยแล้ว ขณะเดียวกันเป็นการช่วยส่งเสริมความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
การประเมินครั้งนี้ จำแนกออกเป็น 3 มิติ ได้แก่ มิติด้านความรับผิดชอบต่อสวัสดิการของผู้บริโภค, ด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับคู่ค้า และสิ่งแวดล้อมของห้างค้าปลีก แต่ละมิติจะมี 8 ตัวชี้วัดย่อย
การประเมินดำเนินการโดยพิจารณาจากนโยบายของซูเปอร์มาร์เก็ต ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะที่ตรวจสอบและเข้าถึงได้ เช่น เว็บไซต์, รายงานประจำปี หรือรายงานต่างๆ โดยการประเมินเริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ. 2563
สำหรับรายชื่อ "ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย" ที่ OXFAM ทำการสำรวจ ได้แก่
- แม็คโคร
- ท็อปส์
- ซีพี เฟรชมาร์ท
- เทสโก้ โลตัส
- กูร์เมต์ มาร์เก็ต
- บิ๊กซี
- วิลลา มาร์เก็ท
- ฟู้ดแลนด์
สำหรับคะแนนความรับผิดชอบด้านสวัสดิการผู้บริโภค ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยที่มีคะแนนสูงสุด คือ
- แม็คโคร
- ท็อปส์
- ซีพี เฟรชมาร์ท
โดยสิ่งที่ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยเหล่านี้ทำอยู่คือ การแสดงข้อมูลส่วนประกอบและแหล่งที่มาของสินค้าที่จำหน่าย การให้ความรู้ด้านโภชนาการผ่านฉลากและช่องทางบาร์โค้ด การรับประกันความสดใหม่ของสินค้า รวมถึงราคาของสินค้าที่จำหน่าย
แต่ถึงอย่างนั้นก็มีสิ่งที่ควรปรับปรุงเช่นเดียวกัน คือทางด้านกลไกการร้องเรียนและการเยียวยาผู้บริโภค การเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้า รวมถึงพิษภัยของสารเคมีที่ตกค้างอยู่ในอาหาร โดยเฉพาะในส่วนของผักและผลไม้ และการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมในการแสดง "เจตจำนง" ต่อความต้องการอาหารที่ปลอดภัย
สำหรับคะแนนความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมคู่ค้า ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยที่มีคะแนนสูงสุด คือ
- แม็คโคร
- ซีพี เฟรชมาร์ท
- เทสโก้ โลตัส
โดยนับคะแนนจากนโยบายที่บริษัทเผยแพร่ออกไป คือ
การดำเนินนโยบายอาหารปลอดภัย โดยเฉพาะกับอาหารประเภท “เนื้อสัตว์”
การจัดหาสินค้าจากผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน
มาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP)
มาตรฐานหลักเกณฑ์ท่ีดีในการผลิตอาหาร (GMP)
มาตรฐานการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤติที่ต้องควบคุมในการผลิตอาหาร (HACCP) หรือสูงกว่า
การประกาศนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์
แต่สิ่งที่ต้องปรับปรุงภาพรวม คือ
การตรวจสอบและควบคุมผู้ผลิต ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานในสินค้าประเภทผักและผลไม้ รวมไปถึงอาหารทะเล
การพัฒนากลไกการติดตามและตรวจสอบย้อนกลับสินค้า
มาตรการในการดำเนินการกับผู้ผลิตที่ไม่มีกระบวนการการผลิตอาหารที่ปลอดภัยทั้งกับผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
ส่งเสริมการใช้นโยบายและแนวปฏิบัติตามแนวทางการจัดหาสินค้าที่ยั่งยืน
ส่วนคะแนนความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมห้างค้าปลีก ซูเปอร์มาร์เก็ตไทยที่มีคะแนนสูงสุดคือ
- ท็อปส์
- ซีพี เฟรชมาร์ท
- แม็คโคร
- เทสโก้ โลตัส
- กูร์เมต์ มาร์เก็ต
สิ่งที่ซูเปอร์มาร์เก็ตเหล่านี้ทำอยู่ คือ การควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, การงดใช้บรรจุภัณฑ์และพลาสติก, มีกระบวนการในการกำจัดของเสียอันตรายและของเสียที่ไม่อันตราย รวมถึงการตั้งเป้าหมายในการลดปริมาณของเสีย และมีมาตรการลดอาหารทิ้ง
แต่สิ่งที่ต้องปรับปรุงต่อไป คือ การเปิดเผยนโยบายและแนวปฏิบัติด้านการจัดการระบบน้ำทิ้ง และความสัมพันธ์กับชุมชน, การเปิดเผยนโยบายที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศน์, การพัฒนานโยบายและแนวปฏิบัติในการติดตาม และตรวจสอบย้อนกลับผู้ผลิตด้านสิ่งแวดล้อม
- ส่งเสียงเพื่อเปลี่ยนแปลง เมื่อคะแนน ‘ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย’ ยังต่ำกว่า 50%
ทัศนีย์ แน่นอุดร ผู้จัดการสำนักงาน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (FOUNDATION FOR CONSUMERS) กล่าวว่า ผลการประเมินซูเปอร์มาร์เก็ตไทยครั้งนี้ จะเห็นได้ว่า ซูเปอร์มาร์เก็ตทำคะแนนในทุกมิติน้อยกว่า 50% ของคะแนนรวม ส่งผลให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องร่วมกันผลักดันให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจัดทำมาตรฐาน และแนวปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้ภายในห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่จะมาถึงผู้บริโภค
“สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม คือ การพัฒนาระบบและเครื่องมือให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้า รวมไปถึงส่วนประกอบของสินค้า ผลักดันให้ซูเปอร์มาร์เก็ตจัดทำ ระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของสินค้าและส่วนประกอบของสินค้าได้
พร้อมให้ข้อมูลด้านโภชนาการและข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญแก่ผู้บริโภค โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงต่ออันตราย และไม่จำหน่ายสินค้าที่ไม่ปลอดภัย รวมถึงการพัฒนากลไกการรับเรื่องร้องเรียน และเยียวยาให้แก่ผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ โดยซูเปอร์มาร์เก็ตจำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณาข้อร้องเรียน และมีการเยียวยาตามสิทธิพึงมีของผู้บริโภค”
นอกจากนี้ ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ยังกล่าวด้วยว่า ภายใต้ห่วงโซ่ของธุรกิจอาหารที่มีซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นตัวแปรสำคัญนั้น ซูเปอร์มาร์เก็ต ควรพัฒนาหลักจริยธรรมและมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้านั้นๆ เป็นสินค้าที่ถูกผลิตอย่างมีจริยธรรม และมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค
จากการประเมินมิติความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับคู่ค้า พบว่า 6 ตัวชี้วัดที่ใช้สำรวจ ไม่มีซูเปอร์มาร์เก็ตใดได้คะแนนเลย คือ การใช้ยาและสารเคมี, ความยั่งยืนของระบบนิเวศต้นน้ำ, การตรวจสอบและย้อนกลับ, การบริหารจัดการพลังงาน, การบริหารจัดการน้ำและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก, น้ำทิ้งและของเสีย
สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ ไม่ได้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงมาตรการที่เกี่ยวข้องความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้า โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง
สรุปผลในท้ายที่สุด ซูเปอร์มาร์เก็ตไทย มีการพัฒนานโยบายและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและความรับผิดต่อสวัสดิการของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งองค์กรภาคีเครือข่ายและองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย คาดหวังให้ในปีต่อไป คะแนนการประเมินในมิติทั้ง 2 ด้าน จะเพิ่มสูงขึ้น
'เราชนะ' เช็คสิทธิ์ คุณสมบัติ ลงทะเบียน เตรียมรับเงินเยียวยาโควิด 7,000 บาท
'ออมสิน' เริ่มลงทะเบียน 'สินเชื่อเสริมพลังฐานราก' ผ่าน MyMo เคยกู้ฉุกเฉินแล้ว ก็กู้อีกได้
ทั่วโลก ‘บ้าน’ จะขึ้นราคา ยกเว้น ‘ไทย’ อาจตกหนัก!
'เราชนะ' กลุ่ม 'เกษตรกร' ต้องรู้ ไม่ใช่ทุกคนมีสิทธิ อ่านหลักเกณฑ์ให้ชัด!
‘ดาวโจนส์’ดิ่ง 179 จุด
มอง OR ผ่านสายตา 'อรรถพล' หวัง ปตท. โฮลดิ้งครบเครื่อง