เอกชนเตรียมตอกเสาเข็ม เร่งไฮสปีดไทย-จีน เปิดปี 68

เอกชนเตรียมตอกเสาเข็ม เร่งไฮสปีดไทย-จีน เปิดปี 68

เอกชนพร้อมเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้างไฮสปีดไทย - จีน ต้นปีหน้า หลัง ร.ฟ.ท.ลงนามจ้างเพิ่ม 5 สัญญา จ่อชงบอร์ดอนุมัติเพิ่มอีก 6 สัญญา วงเงินรวมกว่า 5.7 หมื่นล้านบาท ภายใน ม.ค.2564 ตั้งเป้าเปิดให้บริการช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคายภายในปี2568

นายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เปิดเผยถึงการลงนามสัญญาการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร - หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร - นครราชสีมา) โดยระบุว่า บริษัทได้เตรียมความพร้อมเข้าเริ่มงานก่อสร้างทันที คาดว่าจะได้รับการส่งมอบพื้นที่ในช่วงต้นปี 2564อีกทั้งยังอยู่ระหว่างรอลงนามสัญญางานโยธาโครงการนี้เพิ่มอีก 2 สัญญา

นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีวิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) เผยว่า บริษัทพร้อมเข้าพื้นที่เริ่มงานก่อสร้างทันที หาก ร.ฟ.ท.ทำหนังสือส่งมอบให้เข้าไปดำเนินการ โดยที่ผ่านมาบริษัทมีประสบการณ์ก่อสร้างงานโยธาโครงการไฮสปีดไทย – จีนอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีข้อกังวลใจโดยเฉพาะในเรื่องของสเปคกำหนดเรื่องวัสดุและอุปกรณ์ที่ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของจีน

ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เผยว่า การลงนามในสัญญาก่อสร้างงานโยธาครั้งนี้ มีจำนวน 5 สัญญา ระยะทางรวม 101.15 กิโลเมตร วงเงินลงทุนรวม 40,275 ล้านบาท ส่วนภาพรวมงานโยธาจากจำนวน14 สัญญา ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา คือ สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง 1 สัญญา คือ สัญญา 2 – 1 ช่วงสีคิ้ว – กุดจิก มีความคืบหน้าแล้วกว่า 40%

“วันนี้เราลงนามก่อสร้างเพิ่มอีก 5 สัญญา จะมีการส่งมอบพื้นที่เพื่อให้เริ่มงานก่อสร้างภายในต้นปี 2564 ดังนั้นความคืบหน้างานโยธา ก็จะเหลืออีก 7 สัญญาที่อยู่ระหว่างพิจารณา เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จ คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2568”

นายสุรณเดช ธูปะวิโรจน์ วิศวกรใหญ่ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง ร.ฟ.ท. เผยว่า 7 สัญญางานก่อสร้างที่อยู่ระหว่างรอพิจารณา จะมี 6 สัญญาที่เตรียมเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ม.ค.นี้ เพื่อพิจารณาอนุมัติลงนามสัญญา มูลค่ารวมกว่า 5.7 หมื่นล้านบาท โดยในส่วนนี้รวมสัญญา 3 – 1 ช่วงแก่งคอย – กลางดง และปางอโศก – บันไดม้า ที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีมติให้ ร.ฟ.ท.กลับไปพิจารณาข้อมูลของบริษัทผู้เสนอราคาต่ำสุด และเป็นผู้ชนะการประมูล

ส่วนสัญญางานโยธาที่ต้องดำเนินการ 1 สัญญา คือ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง เป็นพื้นที่ทับซ้อนกับโครงการไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน โดยกระทรวงคมนาคมเร่งรัดให้หารือร่วมกันเพื่อได้ข้อสรุปภายในต้นปี 2564 โดยหากกลุ่มซีพี ไม่พร้อมก่อสร้าง ร.ฟ.ท.จะต้องดำเนินการประกวดราคาและเริ่มงานก่อสร้างเอง