ส่งออก ต.ค. ส่งสัญญาณฟื้นตัว จับตาสหรัฐ-อินเดียโตแรง

ส่งออก ต.ค. ส่งสัญญาณฟื้นตัว    จับตาสหรัฐ-อินเดียโตแรง

การส่งออกของไทยในเดือนต.ค.2563 มีมูลค่า 19,376 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 6.71% ถือเป็นการติดลบเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก.ย.ที่ติดลบ 3.86% มาจากการส่งออกทองคำที่ลดลง แต่ถือว่า ตัวเลขการส่งออกเป็นที่น่าพอใจ

การส่งออกของไทยในเดือนต.ค.2563 มีมูลค่า 19,376 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 6.71% ถือเป็นการติดลบเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก.ย.ที่ติดลบ 3.86% มาจากการส่งออกทองคำที่ลดลง แต่ถือว่า ตัวเลขการส่งออกเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากสินค้าในกลุ่มเรียลเซคเตอร์และสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมส่งออกดีขึ้น ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 17,330.15 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 14.32% การค้าเกินดุล 2,046.53 ล้านดอลลาร์

สำหรับการส่งออกในช่วง 10 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ต.ค.)การส่งออก มีมูลค่า 192,372.77 ล้านดอลลาร์ ติดลบ 7.26% ขณะที่การนำเข้า มีมูลค่า 169,702.56 ล้านดอลลาร์ติดลบ 14.61% ส่งผลให้ 10 เดือนแรกของปี 2563 การค้าเกินดุล 22,670.21 ล้านดอลลาร์

พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า  ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น มาจากทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น หลังจากประเทศต่าง ๆ ทยอยผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางและการขนส่ง ส่งผลให้ภาคการผลิตเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อโลก (Global Manufacturing PMI) ที่ปรับตัวดีขึ้นเหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและการคลังในหลายประเทศ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อุปสงค์ต่อสินค้ากระเตื้องขึ้น

สินค้าส่งออกของไทยหลายรายการขยายตัวได้ดี ยังเป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่เติบโตต่อเนื่อง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1.สินค้าอาหาร 2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) 3. สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด ซึ่งส่งผลดีต่อราคายางพาราของไทยในช่วงนี้

ส่วนสินค้าหลายตัวส่งออกลดลงได้แก่ เกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ลด 8.8% เช่น น้ำตาลทราย ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ลด 4.7% เช่น ทองคำ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

160636065978

นอกจากนี้ตลาดส่งออกสำคัญหลายตลาดขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบหลายเดือน รวมทั้งระบบโลจิสติกส์ที่เคยมีปัญหาเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น แต่ที่มีปัญหาคือ ตู้สินค้าขาดแคลนเนื่องจากไปกระจุกตัวอยู่ที่ประเทศจีน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์และผู้ประกอบการกำลังหารือเพื่อแก้ปัญหา

ด้านตลาดส่งออกยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยตลาดหลัก เพิ่ม 4.8% ได้แก่ สหรัฐ เพิ่ม 17.0% สหภาพยุโรป 15 ประเทศอัตราติดลบน้อยลงโดยลดลง 0.4% ญี่ปุ่น 5.3% ตลาดศักยภาพสูง ลด 13.5%โดยจีนติดลบ 6.1% อาเซียน 5 ประเทศ ลด 27.2.%CLMVลด 17.0 %จากการผลกระทบจากการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 

เอเชียใต้กลับมาขยายตัว 15.6% ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน โดยเฉพาะอินเดีย ขยายตัว 13.7 % และตลาดศักยภาพระดับรอง ลด 2.8% โดยตะวันออกกลาง ลด 18.1% ทวีปแอฟริกา ลด 16.7% รัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ลด 2.0% ขณะที่การส่งออกไปยังทวีปออสเตรเลียขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน 4. 2% และละตินอเมริกา เพิ่ม 12.9%

ตลาดสหรัฐ ขยายตัวสูงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ 17.0% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ หม้อแปลงไฟฟ้าฯ และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัว 8.3%

ตลาดอินเดีย กลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือนที่ 13.7% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ไขมันและน้ำมันฯ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องยนต์สันดาปฯ รถยนต์และส่วนประกอบ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 หดตัว 30.5%

ขณะที่ตลาดจีน หดตัว 6.1% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และยางพารา เป็นต้น ขณะที่ 10 เดือนแรกของปี 2563 ขยายตัว 2.7%

พิมพ์ชนก กล่าวอีกว่า การส่งออกในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือนของปีนี้ หากส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 18,329 ล้านดอลลาร์ จะทำให้การส่งออกทั้งปีติดลบ 7% แต่ถ้าส่งออกได้เกินเดือนละ 19,000 ล้านดอลลาร์ การส่งออกก็จะติดลบน้อยกว่า 7%

 อย่างไรก็ตามคงต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่จะมีผลต่อการส่งออกของไทย ไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบสอง ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าของไทยต้องประกาศล็อกดาวน์ ค่าเงินบาทแข็งค่าและมีความผันผวน และราคาน้ำมัน ที่แม้จะฟื้นตัว แต่ยังไม่กลับไปอยู่ในระดับเดิม ทำให้กระทบต่อการส่งออกสินค้ากลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ส่วนปีหน้าการส่งออกของไทยจะขยายตัวอยู่ในแดนบวก ยิ่งมีวัคซีนต้านโควิด-19 ความต้องการการของสินค้าก็มีมากขึ้น 

“ภาพรวมการส่งออกของไทยดีขึ้นตามทิศทางการค้าโลก โดยเฉพาะทวีปเอเชียที่ส่งออกกลับมาขยายตัวได้ดีทั้ง จีน เวียดนาม ไต้หวัน และประเทศอื่นที่ติดลบน้อยลง โดยเฉพาะอินเดียติดลบน้อยลง ถือเป็นสัญญาณที่ดีของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ"

นอกจากนี้ ยังมีทิศทางเศรษฐกิจทวีปเอเชียมีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี และยังมีปัจจัยบวกจากการลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ที่ทำให้ลดอุปสรรคทางการค้าส่งผลให้การค้าในเอเชียดีขึ้นและจะผลักดันการส่งออกของไทยได้มากขึ้น

สำหรับแนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2563-2564 นั้นจากทิศทางการส่งออกของไทยส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดี หลายสินค้ามีศักยภาพในการขยายตัวแม้เผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในหลายประเทศ นอกจากนี้ ผลการเลือกตั้งในสหรัฐอย่างไม่เป็นทางการ ทำให้ทราบถึงแนวโน้มการดำเนินนโยบายของว่าที่ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐซึ่งคาดว่าจะช่วยให้สถานการณ์การค้าโลกมีความผันผวนน้อยลง 

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ขยายตัวในขณะนี้เป็นสินค้ากลุ่มเดิมที่ขยายตัวดีอยู่แล้ว อีกทั้งเป็นสินค้าศักยภาพท่ามกลางโควิด-19 อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาด หรือสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) ซึ่งจะสามารถขยายตัวต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่เมื่อโลกสามารถผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ได้สำเร็จ ความต้องการสินค้าเหล่านี้อาจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้น การเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทยในระยะถัดไป จำเป็นต้องขยายตลาดในสินค้ากลุ่มใหม่ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าสูง