'ดีป้า'เร่งดิจิทัลวัลเลย์ มั่นใจ'อีอีซี'ฮับอาเซียน

'ดีป้า'เร่งดิจิทัลวัลเลย์  มั่นใจ'อีอีซี'ฮับอาเซียน

การผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ในขณะที่ EEC เริ่มลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ดังนั้นภาครัฐต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลด้วย

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวในหัวข้อ “Overview EEC Market in Thailand” ของหลักสูตร EEC Prime จัดโดยบริษัทพรีโม เรียลเตอร์ จำกัด เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2563 ว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ผลักดันในอีอีซี ซึ่งดีป้าจะร่วมผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลทั่วประเทศรวมถึงอีอีซี โดยแยก 5 กลุ่ม คือ

1.ซอฟต์แวร์ จะผลักดันให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นหรือขับเคลื่อนบนแพลตฟอร์มของเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ เช่น คลาวด์ บล็อกเชน ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) 

2.ฮาร์ดแวร์ จะสนับสนุนให้มีการพัฒนาอุปกรณ์อัจฉริยะ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะที่เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย 

3.ดิจิทัลคอนเทนต์ ปัจจุบันมีมูลค่าตลาดของไทยอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนรายได้จากตลาดส่งออก 70% และตลาดในประเทศ 30% ครอบคลุมแอนิเมชัน ภาพยนตร์ เกมและบิ๊ก ดาต้า ซึ่งภาครัฐมีแผนผลักดันเพื่อให้ธุรกิจนี้ขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

4.อุปกรณ์โทรคมนาคมหรือดาวเทียม ซึ่งปัจจุบันในไทยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ดังกล่าวอยู่แล้วจึงสามารถผลักดันให้อุตสาหกรรมนี้ขยายตัวได้ เพื่อรองรับการขายตัวของธุรกิจนี้ 

5.ดิจิทัลเซอร์วิส ซึ่งที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น

160637230327

ทั้งนี้ดีป้าได้ประเมินอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทยมีมูลค่า 640,000 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัว 10.4% ต่อปี โดยปี 2563 มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นเพราะการระบาดโรคโควิด-19 ส่งผลให้ต้องการใช้บริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมดิจิทัลมากขึ้น

ดังนั้นภาครัฐจึงมีแผนลงทุนโครงข่ายอินเตอร์เน็ตผ่านสายไฟเบอร์ออฟติกเมื่อปี 2562 เพื่อสนับสนุนให้อีอีซีเป็นศูนย์กลางของอาเซียน รวมทั้งผลักดันเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลประเทศไทย “ดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์” บนพื้นที่ 569 ไร่ ใน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เพื่อให้เอกชนมาลงทุนพัฒนาเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีดิจิทัลชั้นสูงและนวัตกรรม เช่น การพัฒนา 5จี เอไอ แอนิเมชั่น บิ๊กดาต้า

นอกจากนี้มีพื้นที่พัฒนาโครงการ “ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์” 30 ไร่ ซึ่งดีป้าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาสตาร์ทอัพในลักษณะดิจิทัลวัลเลย์ ซึ่งเป็นโครงการเร่งด่วนที่ขับเคลื่อนร่วมกับเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อเป็นการดึงดูด สร้างแรงจูงใจ และความเชื่อมั่นให้เกิดการลงทุนในดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ 

160637212661

การลงทุนใน “ไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเลย์” จะเชื่อมบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของโลก ทั้งในกลุ่ม IoT, Data Science, AI, Robotics, 5G และ Cloud เข้ากับการพัฒนาสตาร์ทอัพดิจิทัล เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ก่อนนำไปสู่การทดสอบ ทดลองก้าวเข้าสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ โดยการพัฒนาแบ่งเป็น 5 ส่วน คือ 

1.อาคาร depa Digital One Stop Service เป็นอาคารหลังแรกที่สร้างแล้วเสร็จ โดยจะเป็นพื้นที่ให้บริการและอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุน รวมทั้งเป็นพื้นที่ทำงานสำหรับดิจิทัลสตาร์ทอัพ บริษัทด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และเป็นศูนย์ประสานงานของสำนักงานดีป้าสาขาภาคตะวันออก

2.อาคาร Digital Startup Knowledge Exchange Centre เพื่อศูนย์แลกเปลี่ยนความรู้ จะมีพื้นที่โคเวิร์กกิ้ง สเปซ และไลฟ์สไตล์ คอมมูนิตี้ ซึ่งการก่อสร้างคืบหน้ามาก

3.อาคาร Digital Innovation Centre ที่จะเป็นศูนย์นวัตกรรม  จะมีพื้นที่สำนักงานของสตาร์ทอัพ รวมถึงพื้นที่รองรับการพิมพ์ด้วยระบบ 3D ศูนย์นวัตกรรมไอโอที บิ๊กดาต้า เซ็นเตอร์ ห้องปฏิบัติการเอไอ ห้องปฏิบัติการฮาร์ดแวร์ สมาร์ท ดีไวซ์ และพื้นที่การทำงานของสตาร์ทอัพ รวมถึงห้องปฏิบัติการของเออาร์และวีอาร์ ซึ่งอยู่ขั้นตอนหาผู้ก่อสร้าง

4.อาคาร Digital Edutainment Complex จะมีพื้นที่โรงเรียนหุ่นยนต์ พื้นที่แข่งโดรน พื้นที่ทดสอบหุ่นยนต์ พื้นที่รองรับการออกแบบ สนามแข่งขันอีสปอร์ต เออาร์ วีอาร์ เอ็มอาร์

5.อาคาร Digital Go Global Centre จะเป็นพื้นที่รองรับการจัดแสดงนิทรรศการ จัดการประชุม

ทั้งนี้ปัจุุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาจะเสร็จในปี 2566-2567 โดยสิทธิประโยชน์จูงใจการลงทุนจะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี รวมทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 17% รวมทั้งมีสมาร์ทวีซ่า และวันสต็อปเซอร์วิส ซึ่งต้องจูงใจมากเพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญต่างชาติเข้ามาลงทุน