'โควิด'เพิ่มใช้จ่ายภาครัฐ-หนี้สาธารณะเอเชียพุ่ง

'โควิด'เพิ่มใช้จ่ายภาครัฐ-หนี้สาธารณะเอเชียพุ่ง

โควิดเพิ่มใช้จ่ายภาครัฐ-หนี้สาธารณะเอเชียพุ่ง และการตอบสนองต่อการระบาดของโรคโควิด-19ของเอเชียได้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ความเป็นธรรมาภิบาลไปด้วย เมื่อเทียบกับในยุโรปและอเมริกาเหนือ

ช่วงต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมุฮ์ยิดดิน ยัสซินของมาเลเซียถ่ายภาพร่วมกับรัฐมนตรีคลังโดยถือเอกสารงบประมาณฉบับสีแดงที่มีรายละเอียดการใช้จ่ายเงินด้านต่างๆ 78,000 ล้านดอลลาร์ในปีหน้า ถือเป็นการจัดสรรงบประมาณที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมาเลเซีย บางส่วนของงบประมาณฉบับนี้ เป็นการลงทุนด้านการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นมากเพราะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ที่ยังไม่บรรเทาเบาบางลง ส่วนมาตรการอื่นๆเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการแจกเงินสดเพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19และการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งหลาย

เมื่อรวมกันแล้ว การใช้จ่าบของรัฐบาลมาเลเซียในปีหน้าสูงกว่าของปี2563 เมื่อมาเลเซียประกาศแพคเก็จฉุกเฉินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระบาด 4 ครั้งติดต่อกัน

“นี่เป็นวิกฤตที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถือเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1930 ที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง”เต็งกู ซาฟรูล อาซิซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของมาเลเซีย กล่าวต่อที่ประชุมรัฐสภา

สิ่งที่เกิดขึ้นกับมาเลเซียก็เกิดขึ้นกับรัฐบาลหลายประเทศในภูมิภาคที่ใช้จ่ายเงินมหาศาลในช่วงปีที่ผ่านมาไปกับการรับมือผลกระทบจากโรคโควิด-19ระบาดและควบคุมชีวิตของพลเมืองในประเทศของตน เช่นกรณีของญี่ปุ่นและสิงคโปร์ ที่ถือเป็นประเทศที่มีฐานะร่ำรวยกว่าก็ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายต่อหลายครั้งเพื่อปกป้องบริษัทและแรงงานที่เปราะบาง ส่วนชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ตั้งแต่จีนจนถึงประเทศไทยก็ดำเนินการในลักษณะเดียวกันเพียงแต่ใช้เงินน้อยกว่าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้ปริมาณหนี้สาธารณะของประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้น ล่าสุดเหล่าผู้นำในเอเชียประกาศมาตรการฉุกเฉินมูลค่า7 ล้านล้านดอลลาร์ ถือเป็นการใช้จ่ายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของทวีป

การตอบสนองต่อการระบาดของโรคโควิด-19ของภูมิภาคเอเชียได้ปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ความเป็นธรรมาภิบาลในเอเชียไปด้วย เมื่อเทียบกับหลายประเทศในยุโรปและในอเมริกาเหนือ แต่คำถามคือ การระบาดของโควิด-19จะปรับเปลี่ยนรัฐบาลประเทศต่างๆในเอเชียได้อย่างดีด้วยหรือไม่ เพราะหลายทศวรรษที่ผ่านมา ผู้นำอย่าง ลี กวน ยู ของสิงคโปร์และมหาธีร์ โมฮัมหมัด ของมาเลเซีย ภาคภูมิใจหนักหนากับการบริหารประเทศแบบอ่อนน้อมถ่อมตน ใช้จ่ายด้านงบประมาณอย่างพอดี

พร้อมทั้งมองว่าการเป็นรัฐสวัสดิการของประเทศต่างๆในยุโรปเป็นเรื่องสิ้นเปลืองและไม่มีประสิทธิภาพ กัดกร่อนพลังงานของพลเมืองในประเทศและทำลายโครงสร้างครอบครัวแบบดั้งเดิม รัฐบาลในเอเชียจะบริหารตรงกันข้ามคือประหยัด มีประสิทธิภาพและสนับสนุนธุรกิจ ซึ่งข้อมูลจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี)ระบุว่า ถึงแม้เศรษฐกิจของหลายประเทศในเอเชียจะเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา แต่รัฐบาลก็ยังคงมีการใช้จ่ายน้อยกว่าภูมิภาคอื่นของโลก

การที่รัฐบาลหลายประเทศมีการใช้จ่ายด้านงบประมาณจำนวนมากเกิดขึ้นในช่วงที่มีการเคลื่อนไหวด้านภูมิศาสตร์การเมืองที่น่าสนใจด้วย โดยบรรดาผู้นำในภูมิภาคเอเชียที่ครั้งหนึ่งมองชาติตะวันตกเป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะการปฏิรูปด้านการบริการสาธารณะ แต่การตอบสนองการระบาดของโรคโควิด-19ที่ถือว่าแย่ที่สุดของสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และของบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ทำลายความเชื่อมั่นที่บรรดาประเทศในเอเชียมีต่อการบริหารจัดการในรูปแบบตะวันตกจนหมดสิ้น

“เราไม่ค่อยจะได้เห็นการรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19ได้อย่างดีในรูปแบบที่สอดคล้องกัน ซึ่งสังคมตะวันตกที่มีความเป็นปัจเจกสูงถือว่าอยู่ในฐานะเปราะบางมากกว่าภูมิภาคอื่นที่เผชิญวิกฤตสาธารณะครั้งนี้”เจมส์ โรบินสัน ผู้ร่วมประพันธ์หนังสือชื่อ “Why Nations Fail,” หนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ให้ความเห็น

ขณะที่รัฐบาลทั่วโลกมองหาวิธีที่จะทำให้ประเทศอยู่รอดได้อย่างดีหลังช่วงโควิด-19ระบาด ก็ถือเป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่หลายภูมิภาคของโลกมองมาที่รัฐบาลของหลายประเทศในเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้และไต้หวัน ซึ่งรับมือกับการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างดี ด้วยการบูรณาการศักยภาพของรัฐบาลเข้ากับนัวตกรรมเทคโนโลยีที่มีอยู่อย่างมากมาย และทำได้ดีกว่าหลายประเทศในยุโรป หรือในอเมริกาเหนือ

คันนิ วิกนารายา ผู้ช่วยเลขาฯจากโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นดีพี) ซึ่งทำการศึกษาโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของภูมิภาคมาโดยตลอด กล่าวว่า ภูมิภาคอื่นมองว่าภูมิภาคเอเชียเป็นผู้บุกเบิก พัฒนาโมเดลธรรมาภิบาลใหม่ๆที่ชาติอื่นๆสามารถนำไปใช้ได้ ขณะเดียวกันก็แก้ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดระบบพวกพ้อง แต่การบริหารจัดการอย่างรอบคอบ ระมัดระวัง จะทำให้ช่วงหลังโควิด-19ระบาด เป็นช่วงโอกาสทองของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพสาธารณะใหม่ๆ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงในอนาคต หรือเป็นช่องทางกระตุ้นให้เกิดการตั้งกองทุนในส่วนต่างๆอาทิ พลังงานที่นำกลับมาใช้ไหม่ หรือการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“คุณจะได้เห็นการให้คำนิยามใหม่แก่ประเทศในเอเชียในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งการรีเซ็ตบทบาทใหม่เป็นเรื่องยากแต่ก็เป็นไปได้ เพราะฐานะของหลายประเทศในเอเชียหลังยุคโควิด-19จะใหญ่ขึ้นและดีขึ้น ในเมื่อการทำสิ่งต่างๆในรูปแบบเก่าไม่ได้ผล ทำไมไม่ลองทำวิธีการใหม่ๆดูบ้าง”วิกนารายา กล่าว