ร่วมวิวาห์ออนไลน์'คุมาโมโตะ'

ร่วมวิวาห์ออนไลน์'คุมาโมโตะ'

ร่วมวิวาห์ออนไลน์ คุมาโมโตะ โดยคุมะมงอยากเชิญชวนให้คนไทยได้รู้จักคุมาโมโตะ ในฐานะเมืองแห่งการถ่ายภาพพรีเวดดิง

"งานแต่งที่ใด เป็นได้แค่แขกรับเชิญ อยากแต่งอย่างเขาเหลือเกิน ขัดเขินที่ยังไร้คู่..." บทเพลง "แค่แขกรับเชิญ" เพลงดังเมื่อร่วม 20 ปีก่อนของไมค์ ภิรมย์พร ถ้ามาฟังตอนนี้อาจมีข้อแย้ง การไปร่วมงานวิวาห์ในบางประเทศอาจทำไม่ได้เหมือนเก่าเสียแล้วเพราะโควิด-19 ระบาด เช่น ที่ญี่ปุ่น แขกเหรื่อได้แต่แสดงความยินดีผ่านโลกออนไลน์

เมื่อวันอาทิตย์ (22 พ.ย.) ผู้เขียนได้ร่วมงานแต่งงานแบบออนไลน์ของรุ่นน้อง ชื่อน้องขวัญ ที่ปรึกษาการท่องเที่ยว จ.คุมาโมโตะ ที่โดนพิษโควิด-19 เล่นงานไปเต็มๆ เดิมทีเธอกำหนดจดทะเบียนสมรสในวันที่ 2 ก.พ. หรือ 02/02/2020 แล้วทำพิธีแต่งงานตามประเพณีญี่ปุ่นในวันที่ 22 พ.ย. ถ้าอ่านตามแบบญี่ปุ่น 1122 อ่านว่า อี้ฟู่ฝุ แปลว่า คู่สามีภรรยาที่ดี ซึ่งเป็นฤกษ์ดีทั้งของไทยและญี่ปุ่น แต่เพราะโควิดระบาดหนักคู่บ่าวสาวจึงตัดสินใจยกเลิกทุกสิ่งทุกอย่างไปในเดือน เม.ย. รวมทั้งศาลเจ้าที่ติดต่อจัดงานเอาไว้ รอจนกว่าสถานการณ์ดีขึ้นในปีหน้า

แต่หลังจากได้ตรึกตรองอีกครั้งคู่บ่าวสาวเห็นตรงกันว่า เทรนด์งานวิวาห์ออนไลน์ในญี่ปุ่นกำลังมาแรง อีกทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายป้องกันที่เคร่งครัดมาก ทุกคนต้องระมัดระวังตัวในช่วงโควิด-19 แม้ญาติๆ ที่ญี่ปุ่นก็คงจะมาร่วมงานลำบาก อย่ากระนั้นเลยเจ้าบ่าวเจ้าสาวมาจัดงานกันเองดีกว่าแล้วถ่ายทอดสดผ่านออนไลน์ให้ญาติสนิทมิตรสหายได้ร่วมแสดงความยินดีและได้เห็นวิวสวยๆ ของจ.คุมาโมโตะในฤดูใบไม้เปลี่ยนสีไปพร้อมๆ กัน โชคดีที่เมื่อข่าวนี้รู้ไปถึงหูทางศาลเจ้าก็ชวนมาจัดงานวิวาห์ออนไลน์เป็นงานแรก พร้อมให้การสนับสนุนเต็มที่

ศาลเจ้าใจดีแห่งนี้ชื่อ "ศาลเจ้าอิซุมิ" ตั้งอยู่ในสวนญี่ปุ่น “ซุยเซ็นจิ โจจูเอน” ที่น้องขวัญบอกว่า เป็นสวนญี่ปุ่นที่สวยที่สุดในคุมาโมโตะ สร้างขึ้นตั้งแต่ 400 ปีก่อน สวยถึงขนาดที่เว็บไซต์ Tripadvisor ต้องแนะนำให้ไป ส่วนผู้เขียนชมบรรยากาศงานแต่งแล้วยอมรับเลยว่าสวนแห่งนี้สวยจริงๆ บรรยากาศงามสงบพอเหมาะพอดีกับศาลเจ้า เสริมให้งานแต่งงานเป็นพิธีการอันศักดิ์สิทธิที่คนสองคนตัดสินใจร่วมชีวิตไปด้วยกัน

ในฐานะที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยว น้องขวัญเล่าว่า จ.คุมาโมโตะ เป็นจ.ท่องเที่ยวชื่อดังของเกาะคิวชู

ตั้งอยู่ห่างจากโตเกียวประมาณ 890 กิโลเมตร โด่งดังด้านการเกษตร มีการเพาะปลูกผักผลไม้มากมายไม่ว่าจะเป็นส้ม แตงโม เมล่อน มะเขือเทศ มะเขือม่วง และเห็ดหูหนู และที่คนไทยรู้จักกันดีคือ “คุมะมง” หมีดำแก้มแดง มาสคอตประจำจังหวัดที่มาพร้อมกับความฮา

วันที่คู่บ่าวสาวถ่ายรูปพรีเวดดิงที่หน้าศาลากลางจังหวัด ท่ามกลางใบไม้เปลี่ยนสีเหลืองอร่าม เจ้าคุมะมงก็มาร่วมแสดงความยินดีแบบเซอร์ไพรส์ เพราะคุมะมงไม่ได้เป็นสินค้า มาออกงานส่วนตัวแบบนี้ไม่ได้ แต่ที่มาวันนั้นเพราะคุมะมงอยากเชิญชวนให้คนไทยได้รู้จักคุมาโมโตะ ในฐานะเมืองแห่งการถ่ายภาพพรีเวดดิง ที่นี่มีสถานที่สวยงามมากมายเหมาะกับการถ่ายรูปแต่งงาน เช่น ปราสาทคุมาโมโตะอันเลื่องชื่อ ช่วงนี้ต้นแปะก๊วยรอบปราสาทกำลังสวยจนถูกขนานนามว่า “ปราสาทแปะก๊วย” หรือที่ภูเขาไฟอะโสะ วิวพาโนรามาสวยงาม ตอนนี้เส้นทางคมนาคมที่เคยเสียหายจากภัยธรรมชาติได้รับการฟื้นฟูแล้วเดินทางไปได้สะดวกยิ่งขึ้น ทัศนียภาพที่ภูเขาไฟแห่งนี้มีสีสันแตกต่างกันไปในแต่ละฤดู อีกที่ก็คือสะพานโค้งสะท้อนเงารูปหัวใจ “ฟุตามาตะบาชิ” เป็นจุดที่ใครมาเห็นก็แฮปปี้

“รอวันเราได้เจอกันที่คุมาโมโตะนะ” คุมะมงฝากมาถึงคนไทย

สำหรับพิธีวิวาห์ของน้องขวัญทำตามประเพณีศาสนาชินโตของญี่ปุ่นที่ศาลเจ้าอิซุมิ หากสังเกตด้วยตาในภาพรวมก็ไม่แตกต่างจากประเพณีอื่นๆ แต่เมื่อค้นข้อมูลละเอียดจากเว็บไซต์ https://peraichi.com  ได้อธิบายพิธีกรรมไว้อย่างน่าสนใจเห็นควรนำมาเล่าสู่กันฟัง เริ่มต้นจากคำอธิบายเรื่องเสื้อผ้า ชุดเจ้าบ่าวเรียกว่า ‘Mon-tsuki-hakama’ ชุดเจ้าสาวเรียกว่า ‘shiro-muku’ หรือกิโมโนขาว เป็นสีแห่งสัญลักษณ์ หมายความว่า เมื่อเจ้าสาวก้าวเข้าสู่ครอบครัวใหม่ของเจ้าบ่าวแล้วเธอไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป ต้องพร้อมรับบทบาทใหม่ในครอบครัวสามี สีขาวนั้นย้อมเป็นสีอื่นง่าย เหมือนกับการปรับตัวให้เข้ากับชีวิตใหม่

พิธีแต่งงานเรียกว่า ‘Shinzenshiki’ คู่บ่าวสาวกล่าวคำปฏิญาณต่อหน้าเทพเจ้าในศาล

ต้นกำเนิดของพิธีนับย้อนไปถึงยุคมูโรมาจิในศตวรรษที่ 14 ที่ต้องทำพิธีกันถึง 3 วัน เพราะนี่ไม่ใช่แค่พิธีมงคลสมรสระหว่างเจ้าบ่าวเจ้าสาวแต่ยังเป็นการเชื่อมครอบครัวของคนทั้งสองเข้าด้วยกัน

ในภาวะปกติคู่บ่าวสาวพร้อมด้วยญาติทั้งสองฝ่าย และขบวนแห่ (นักดนตรีเล่นฟลุตและกีตาร์ญี่ปุ่น) จะตั้งขบวนอยู่นอกศาลเจ้า แต่เนื่องจากโควิด-19 งานนี้จึงมีเฉพาะคู่บ่าวสาวและเจ้าหน้าที่จากบริษัทจัดงานวิวาห์ไม่กี่คน รอให้นักบวชและ “มิโกะ” (หญิงพรหมจรรย์ทำงานในศาลเจ้า) มาเชิญไปเข้าพิธี ผู้ประกอบพิธีเรียกว่า ‘Kan-nushi’ (หัวหน้านักบวช) สวดมนต์ให้ศีลให้พร จากนั้นบ่าวสาวจิบสุราเพื่อความเป็นสิริมงคล เพราะเป็นสุราที่ผ่านมนตราแห่งเทพเจ้ามาแล้ว ต่อจากนั้นเจ้าบ่าวเจ้าสาวกล่าวคำปฏิญาณและสวมแหวนให้กันและกัน

พิธีแต่งงานของน้องขวัญจบลงเท่านี้ แต่ในภาวะปกติหลังจบพิธีในศาลเจ้าแล้วเจ้าบ่าวเจ้าสาวจะเปลี่ยนชุดเพื่อไปฉลองงานมงคลสมรสในร้านอาหาร เพื่อนและญาติของทั้งสองฝ่ายที่ยังไม่รู้จักกันก็จะมีโอกาสแนะนำตัวกันในงานเลี้ยงว่าใครเป็นใคร

การร่วมเป็นสักขีพยานงานวิวาห์ออนไลน์ครั้งนี้ ผู้เขียนสังเกตว่า ญาติๆ ทั้งฝ่ายหญิงฝ่ายชายแม้ไม่ได้เข้าร่วมงาน แต่เท่าที่ดูผ่านโปรแกรมซูมทุกคนมีความสุขอย่างมาก ในช่วงเวลาสำคัญแห่งชีวิตของลูกหลานไม่มีใครอยากพลาดโมเมนท์นี้ แต่ในเมื่อสภาพบ้านเมืองไม่เป็นใจ โชคดีที่เรายังมีเทคโนโลยีทำให้ผู้คนจากต่างประเทศยังใกล้ชิดกันได้ ตอนนี้ข่าวดีเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีมาบ้างแล้ว โอกาสไปมาหาสู่กันคงจะเกิดขึ้นในไม่ช้า คนไทยที่อยากแต่งงานแบบพิธีญี่ปุ่นก็ไม่ไกลเกินฝัน ราคาเริ่มต้นที่ 350,000 เยน (103,250 บาท) เป็นค่าจัดงาน ถ่ายภาพ เสื้อผ้า แต่งหน้าทำผม หากจัดงานเลี้ยงด้วยราคาหัวละ 15,000 เยน (4,425 บาท)

ก็คงต้องรอให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย นานาชาติรวมทั้งญี่ปุ่นเปิดประเทศ เมื่อนั้นความรักคงจะเบ่งบานอีกครั้งที่คุมาโมโตะ

(ขอบคุณภาพประกอบจากการท่องเที่ยว จ.คุมาโมโตะ และhttps://en.minamioguni.jp/