ปลายทางสู่ 'สมานฉันท์' ถึงเวลาทุกฝ่าย 'ลดเพดาน'

ปลายทางสู่ 'สมานฉันท์'  ถึงเวลาทุกฝ่าย 'ลดเพดาน'

โครงสร้างของคณะกรรมการสมายฉันท์ได้ปรากฎสู่สาธารณะแล้ว ภายใต้คำถามที่ว่าจะเป็นทางออกให้กับปัญหาหรือทางออกสู่ปัญหา ในเมื่อแต่ละฝ่ายยังไม่ยอมลดเพดาน

โครงสร้างของคณะกรรมการสมานฉันท์  เพื่อทางทางออกของความขัดแย้งในสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน ตามที่รัฐสภา ระดมความคิด และ “ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร” เป็นผู้อาสาพิจารณารูปแบบ ได้มีข้อสรุปออกมาแล้ว ดังนี้

คณะกรรมการประกอบด้วยบุคคลไม่เกิน 21 คน ซึ่งมาจากตัวแทน 7 ฝ่าย ประกอบด้วย 1.ผู้แทนรัฐบาล 2 คน, 2.ผู้แทนส.ส. ฝ่ายรัฐบาล 2 คน, 3.ผู้แทนส.ส.ฝ่ายค้าน 2 คน, 4.ผู้แทนส.ว. 2 คน, 5.ผู้แทนฝ่ายชุมนุม 2 คน, 6.ผู้แทนฝ่ายอื่นๆ 2 คน และ 7.ฝ่ายผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน มาจาก ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เสนอชื่อ 3 คน, ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ เสนอชื่อ 1 คน, ที่ประชุมคณะกรรมการอธิบการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล เสนอชื่อ 1 คน, ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ด้านการปรองดองสมานฉันท์ซึ่งกรรมการเลือกด้วยมติ 2 ใน 3 จำนวน 4 คน

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดทางหนีทีไล่หากมีกรรมการไม่ครบตามจำนวนด้วยการระบุว่า “ในกรณีองค์ประกอบของคณะกรรมการไม่ครบถ้วน ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด ให้กรรการเท่าที่มีอยู่ปฏิบัติหน้าที่ไปได้” เพื่อแก้ปัญหากรณีทีตัวแทนจากบางฝ่ายอาจไม่ส่งใครเข้าร่วม โดยเฉพาะฝ่ายผู้ชุมนุม ที่ก่อนหน้านั้น “คณะราษฎร63” แถลงปฏิเสธเข้าร่วมวงสมานฉันท์ปรองดอง เพราะเงื่อนไขเดียวที่พวกเขาต้องการ คือ ให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ ตาม 3  ข้อเรียกร้อง คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากตำแหน่งผู้นำคณะรัฐบาล, แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม และปฏิรูปสถาบัน 

โครงสร้างกรรมการสมานฉันท์ ที่ถูกเซ็ตไว้ เหมือนกับการตั้งไข่ ความปรองดองในยุค2020  แต่คอการเมือง ฟันธงไว้ว่า ไม่มีทางที่นำไปสู่ความปรองดอง สมานฉันท์ หรือหาทางออกให้กับ ปัญหาชุมนุมทางการเมืองปัจจุบันได้  เพราะ “เพดาน” ของทั้ง 2 ฝั่ง คือ “ฝั่งม็อบ” และ “ฝั่งรัฐบาล” อยู่สูงเกินจะนั่งลงคุยกัน  

แม้รัฐบาล พยายามจะหาทางคลี่คลาย ทั้งยอมรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ม็อบเองยังยกระดับข้อเรียกร้องที่ “ขั้วผู้มีอำนาจ” ยากจะรับ เช่น การกำหนดเนื้อหา ในหมวดว่าด้วยบททั่วไป และหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ ข้อเรียกร้อง ให้เปลี่ยนตัว “นายกรัฐมนตรี” เอาคนที่ไม่ใช่ “พล.อ.ประยุทธ์” แต่คนที่มาแทนนั้น ต้องมาโดยระบบสภาฯ มาโดยระบบตัวแทนของประชาชน

ขณะที่กองหนุนของทั้ง 2 ฝั่ง ที่ถูกเสนอให้ส่งตัวแทนเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็น "ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ที่สนับสนุนบางข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม”, ส.ส.พรรครัฐบาล โดยเฉพาะ พรรคพลังประชารัฐ -ส.ว. ที่สนับสนุน “รัฐบาล” ต่างมีผลลัพท์ที่ต้องการคนละแบบ  อย่างฝ่ายค้าน ต้องการให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ประกาศชัดว่าจะยอมรับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ ไม่ว่าจะมีข้อเสนอใดก็ตาม ทำให้เกิดความาระแวงจาก “ฝ่ายรัฐบาล” ที่มีบทบาทพิทักษ์อำนาจ ว่า ความต้องการของฝ่ายค้าน คือ การล้างขั้วอำนาจ

ด้วยเหตุนี้การหวังผลที่เลิศหรู ต่อผลงานคณะกรรมการสมานฉันท์นั้นแทบเป็นไปไม่ได้ หาก คู่ขัดแย้ง ไม่ยอมลดเพดาน ขณะที่ฝ่ายสนับสนุนไม่ยอมถอยออกจากผลประโยชน์ที่ตนได้รับ ผนวกกับการไม่กำหนดผลบังคับใช้ของข้อเสนอคณะกรรมการสมานฉันท์ที่จะมีขึ้นในอนาคตเอาไว้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าการสร้างความปรองดองอาจจะล้มเหลวตั้งแต่ต้น เพราะปัญหาน้ำตื้นตรงนี้

ที่สำคัญแม้ในคณะกรรมการสมานฉันท์ จะออกแบบให้มีคนกลาง ทั้งที่มาจากการคัดเลือกของฝ่ายวิชาการ-ฝ่ายผู้มีประสบการณ์ด้านความปรองดอง  แต่ยังมีความยาก หากตัวละครหลักของเรื่องไม่ยอมลดลาวาศอก หรือ ไม่ยอมลดความต้องการของตนเอง เพื่อหาจุดร่วมที่เดินหน้าไปด้วยกันได้

ไม่เพียงเท่านี้ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นการหาคนมาเป็นกรรมการก็ยากไม่แพ้กัน เพราะแน่นอนว่าคงไม่มีใครยากเข้ามาเปลืองตัว ทั้งนี้ มีตัวอย่างให้เห็นจาก 'คณิต ณ นคร' แล้วเมื่อครั้งทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งมีข้อเสนอสำหรับกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมาและได้รับการยอมรับจากภาควิชาการ แต่กลับถูกคัดค้านจากฝ่ายการเมืองจนทำให้ข้อเสนอดีๆถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

ในท้ายสุดอาจเป็นไปอย่างที่ คอการเมืองวิเคราะห์ไว้ว่า "การเปิดประตูปรองดองรอบนี้ ทำได้แค่ เปิดประตู เพื่อเข้าไปเจอทางตัน ในวังวนของความขัดแย้ง" เท่านั้น