กูรูการตลาดแนะทางรอดธุรกิจ รับผู้บริโภคกลายพันธุ์ยุคโควิด

กูรูการตลาดแนะทางรอดธุรกิจ  รับผู้บริโภคกลายพันธุ์ยุคโควิด

โควิดเขย่าโลกธุรกิจ การตลาด พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ  กูรูการตลาดแถวหน้า แนะแปลงร่าง กลายพันธุ์สู่การเพิ่มทักษะใหม่ ปรับพฤติกรรมทำงาน ยืดหยุ่น คิดสร้างสรรค์ พลิกโมเดลธุรกิจ รังสรรค์สิ่งใหม่ หากต้องการอยู่รอดในโลกไม่แน่นอน

สมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย จัดงานวันนักการตลาด “Thailand Marketing Day 2020: The Marketing Mutation” สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของโลกการตลาดยุคโควิด-19 มหาวิกฤติครั้งใหญ่ ทำให้นักการตลาดต้องปรับเปลี่ยนความคิดอย่างสร้างสรรค์และกลายพันธุ์เพื่ออยู่รอด

นายอนุวัตร เฉลิมไชย นายกสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปี 2563 นับเป็นปีแห่งความท้าทายอย่างมาก ธุรกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งภาคเศรษฐกิจ ผู้บริโภค และธุรกิจ ทั้งนี้ หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือพฤติกรรมผู้บริโภคที่ไม่เหมือนเดิม หรือผู้บริโภคกลายพันธุ์ (มิวเทท)

พฤติกรรมผู้บริโภคกลายพันธุ์ ได้แก่ กลุ่มที่กำลังจะเปิดรับดิจิทัล ได้ทรานส์ฟอร์มไลฟ์สไตล์สู่ดิจิทัลเพื่อความอยู่รอดแล้ว มีการทำงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น ซูม ซึ่งได้รับความนิยมสูงมีการใช้งานเพิ่มขึ้นมหาศาล 335% โดยในเดือนมี.. 2563 มียอดการประชุมออนไลน์ราว 300 ครั้งต่อวัน ขณะที่เดือนธ.. 2562 มีเเพียง 10 ล้านครั้งต่อวันเท่านั้น และ ภูมิภาคเอเชียเกิดผู้บริโภคดิจิทัล หรือ ดิจิทัล คอนซูเมอร์ จำนวน 310 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งเร็วกว่าการคาดการณ์เดิมที่คาดว่าจะเห็นภาพดังกล่าวในปี 2568

การเกิดผู้บริโภคดิจิทัล ถอยร่นจาก 5 ปีข้างหน้า มาเห็นภาพในปีนี้ ดีไม่ดีเกิดขึ้นในช่วงโควิดแพร่ระบาด 3 เดือนด้วย

สินค้าใหม่ช่องทางออนไลน์เพิ่ม 40%

นอกจากนี้ การชอปปิงผ่านช่องทาสงออนไลน์ในภูมิภาคอาเซียนก็ขยายตัวสูงขึ้น และยังพบว่ามีสินค้ากลุ่มใหม่ๆ เพิ่มขึ้นถึง 40% นอกจากนี้สินค้าของใช้จำเป็นต่างๆ พบว่าผู้บริโภคกว่า 43% หันมาซื้อผ่านออนไลน์ ซึ่ง สถานการณ์เหล่านี้ทำให้แบรนด์สินค้าและบริการ รวมถึงนักการตลาดต้องปรับตัวตามไปด้วยใน 3 มิติ ดังนี้ 1.การเพิ่มทักษะใหม่ (Re-skill) ปรับพฤติกรรมการทำงาน เพิ่มความยืดหยุ่น คิดสร้างสรรค์ 2. เติม ยกระดับทักษะการทำงานให้สูงขึ้น (Up-skill) เปิดมุมมองใหม่ๆ ในการมองลูกค้า สร้างโมเดลธุรกิจนอกกรอบ เอาชนะข้อจำกัดเดิม 3.อยู่ร่วมกันในระบบนิเวศ (Ecosystem) แปลงลูกค้าจากผู้ซื้อเป็นพันธมิตร นำจุดแข็งต่อยอดธุรกิจ

มหาวิกฤติโรคโควิด-19 ทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้ หลายอย่างเกิดจากสถานการณ์บีบคั้นผู้ประกอบการ นักการตลาด เช่น การล็อกดาวน์ ผู้คนออกจากบ้านไม่ได้ ร้านค้าปิดให้บริการหมด การเดินทางเป็นศูนย์ฯ จุดประกายให้นักการตลาดต้องกลายพันธุ์ เป็นคนแบบเดิมไม่ได้ และปัจจุบันสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดีขึ้น ธุรกิจอยู่ในช่วงของการฟื้นฟู ปรับองค์กรให้อยู่รอด สร้างความเข้มแข็งเพื่อให้ยืนหยัดได้ในระยะยาว

ชอปปิงออนไลน์กสิกรไทยพุ่ง400%

นอกจากนี้ ในงานมีการสัมมนาหัวข้อ Next-norml Strategic Moves :กลยุทธ์แห่งการก้าวต่อไปในโลกธุรกิจ โดยนางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธุรกิจการเงินเปลี่ยนแปลงอย่างมากในช่วงโควิด-19 ระบาด โดยสถิติการใช้บริการผ่านธนาคารกสิกรพบผู้บริโภคชอปปิงออนไลน์เติบโต 400% นอกจากนี้เดิมผู้บริโภคที่ใช้โมบายแบงก์กิ้งมีอายุระหว่าง 25-34 ปี แต่ช่วงโควิด-19 ขยายเป็นกลุ่มอายุ 35-44 ปี มีการเปิดบัญชี K-eService มากถึง 1.6 แสนบัญชี เพิ่มขึ้น 30% เท่าจากเดิมมี 5,000-6,000 บัญชี และการประชุมออนไลน์เพิ่ม 200% เป็นต้น

ทั้งนี้ การจะก้าวต่อไปข้างหน้าธุรกิจต้องมีความยืดหยุ่น มองภาพใหม่การตลาดเปลี่ยนอย่างไร กลยุทธ์ส่วนประสมทางการตลาด (4Ps) แค่มีสินค้า ราคา ช่องทางจำหน่ายและโปรโมชั่น ไม่เพียงพอ ต้องเพิ่ม 2Ps ได้แก่ ประสิทธิภาพการทำงาน (Productivity) ลดต้นทุน และคน (People) ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ ต้องปฏิรูปการทำงานด้วย 3S ได้แก่ เพิ่มความเร็ว(Speed) สร้างองค์กรให้แข็งแกร่ง และความคิดต้องแกร่ง 

ความเร็ว ความแข็งแกร่งด้านกายภาพ และความคิด 3 สิ่งนี้ต้องเพิ่มขึ้นมากๆ

ซันโทรี่ชี้ต้องทำสิ่งใหม่และทันที

นางสาวลักขณา ลีละยุทธโยธิน ที่ปรีกษา บริษัท แบรนด์ ซันโทรี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ปัจจุบันเทคโนยีเข้ามามีบทบาทต่อการขับเคลื่อนธุรกิจและการใช้ชีวิตของผู้บริโภค การศึกษาโรงเรียนนานาชาติมีความสำคัญมากขึ้น ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภคต่างจากอดีตสิ้นเชิง ทั้งความต้องการสินค้าผ่านหน้าร้านลดลง ไปอยู่บนออนไลน์มากขึ้น การบริโภคอาหารหวาน เค็ม มันลดลง สินค้ารักษ์โลกมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้องค์กรธุรกิจต้องยึด 2 คำเพื่อก้าวต่อนโลกอนาคตคือ 1.ทำสิ่งใหม่ ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ สร้างกระบวนการทำงานใหม่ และ 2.ต้องทำทันที 

โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบในมิติที่กว้าง และลึก สร้างความเสียหายรุนแรง ธุรกิจจะใช้กระบวนการและโมเดลธุรกิจแบบเดิมๆ ไม่ได้ ประกอบกับเรากำลังอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนหรือ VUCA World ทุกอย่างยากจะคาดเดา สิ่งที่วางแผนไว้อาจไม่เป็นไปตามแผน ทำให้นักการตลาดต้องกลายเป็นมนุษย์พันธุ์ใหม่ที่ตัดสินใจเร็ว และดึงข้อมูลมาใช้เพื่อความแม่นยำ ที่สำค้ญต้องโฟกัสความต้องการของผู้บริโภคให้มากกว่าสินค้าเนื่องจากเป็นสิ่งที่ลอกเลียนแบบได้

ดาต้าเพิ่มบทบาท

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาธุรกิจมีความเปลี่ยนแปลงหลายด้านทั้งโลกไร้พรมแดน ไม่ว่าอยู่ไหนผู้คนเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น ลักษณะประชากรศาสตร์เปลี่ยน ผู้บริโภคมีหลากเจนเนอเรชั่นและความต้องการแตกต่างกันมาก ยุคนี้ผู้บริโภคไม่ใช่ศูนย์กลาง แต่เปลี่ยนเป็นมนุษย์เป็นศูนย์กลางมากขึ้น แพลตฟอร์มเข้ามามีบทบาทต่อองค์กร ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจสู่แพลตฟอร์มมากขึ้น เช่น บริการของเคแบงก์ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคทุกคน ขณะที่การเกิดโควิด-19 เป็นปฏิกิริยาเร่งให้ทุกองค์กรทรานส์ฟอรท์มสู่ดิจิทัลด้วย

ส่วนการก้าวต่อในโลกอนาคต นักการตลาดต้องให้ความสำคัญกับข้อมูลหรือดาต้า เพราะเปรียบเสมือนอากาศที่ขาดไม่ได้ และการมีข้อมูลที่สะอาด ถูกต้องจะเพิ่มแต้มต่อให้ธุรกิจมหาศาล

ยุคนี้หากองค์กรให้เงินอาจไม่รับ แต่ขอเปลี่ยนเป็นดาต้าแทน และหากพิจารณาธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่แข่งขันกันรุนแรง ผลประกอบการออกมาขาดทุนกันถ้วนหน้า แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องการคือข้อมูลที่สามารถนำไปต่อยอดธุรกิจได้