ค่าเงินบาท มีแนวโน้มที่ดี

ค่าเงินบาท มีแนวโน้มที่ดี

สถานการณ์ความเคลื่อนไหวของ "ค่าเงินบาท" มีแนวโน้มดีขึ้น หลังจาก ธปท.ออกมาตรการสกัดการแข็งค่า รวมถึง รมว.คลัง ส่งสัญญาณแทรกแซงด้วยวาจาว่าอาจมีมาตรการดูแลเพิ่มเติม และภาครัฐจะทำต่อไปจนกว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันระหว่างประเทศได้

ความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงออกมาตรการเมื่อวันที่ 20 พ.ย.2563 เพื่อสกัดการแข็งค่าปรากฏว่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าจาก 30.16 บาทต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 30.38 บาทต่อดอลลาร์ ในสายตาผู้ประกอบการธุรกิจส่งออกยังถือว่าเป็นการอ่อนค่าที่น้อยเกินไป เนื่องจากนับตั้งแต่เดือน เม.ย.2563 เงินบาทแข็งค่ากว่า 8% หรือติด 4 อันดับแรกของคู่ค้า 18 ประเทศหลัก ที่สำคัญบาทของไทยแข็งค่ากว่าเงินดองเวียดนาม คู่แข่งสำคัญที่แข็งค่าเพียง 1.66% ทำให้ต้นทุนของเราสูงกว่าเวียดนามกว่า 6% ดังนั้นค่าเงินที่ผู้ส่งออกต้องการเห็นจึงควรอยู่ที่ 31-32 บาทต่อดอลลาร์ เพื่อให้สามารถแข่งขันได้

การแข็งค่าของเงินบาทไม่เพียงเป็นต้นทุนการส่งออก แต่ยังกระทบเศรษฐกิจโดยรวมในประเทศ ส่งผลต่อการจ้างงานการอุปโภคบริโภค หลายฝ่ายจึงออกมาเรียกร้องให้ ธปท.และกระทรวงการคลัง เข้ามาดูแลปัญหาเงินบาทแข็งค่าอย่างเร่งด่วนและจริงจัง ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ที่ผ่านมา สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้เดินทางเข้าพบนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. และเข้าพบนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนที่นายอาคมจะออกมาส่งสัญญาณแทรกแซงด้วยวาจา

นายอาคมระบุว่า ธปท.อาจจะมีมาตรการดูแลเพิ่มเติมจากที่ออกไปแล้ว และภาครัฐจะทำต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าค่าเงินบาทจะอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันระหว่างประเทศได้ การให้สัมภาษณ์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถือเป็นความชัดเจนขึ้นอีกขั้น หลังมาตรการ ธปท.ยังได้ผลไม่มากนัก เราเชื่อว่า แม้นายอาคมจะไม่ออกมากดดัน เชื่อว่า ธปท.ยังคงเกาะติดเงินบาทอย่างใกล้ชิด เชื่อว่ากำลังประเมินผลมาตรการเปิดเสรีการไหลออกของเงินทุนเพิ่มเติม อาจจะเพิ่มดีกรีการแทรกแซงในอีกไม่นาน

ในโลกการค้าเสรี ตัวแปรการแข็งค่าจากต่างประเทศเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะความคืบหน้าของวัคซีน ตัวแปรในการแก้ปัญหาโควิด-19 ส่งผลต่อสกุลเงินหลักของโลก ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทย ดังนั้นความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือเป็นความจำเป็นในการช่วยแก้ปัญหาบาทแข็งค่า

เราเห็นด้วยกับแถลงการณ์ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่เห็นว่าการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานภาครัฐมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไป เราจึงเห็นว่า นอกจากการแทรกแซงด้วยวาจาของรัฐมนตรีแล้ว กระทรวงการคลังต้องสนับสนุนด้วยมาตรการทางการคลังอีกทางหนึ่ง หากทั้งสองหน่วยงานสอดประสานรับลูกเป็นทีมเวิร์ค การแข็งค่าของเงินบาทจะต้องลดน้อยถอยลงสู่ระดับที่แข่งขันกับคู่แข่งได้ในที่สุด ช้าหรือเร็วเท่านั้น