‘ศรีสวัสดิ์’ หลังผนึกออมสิน เขย่าตลาดลีสซิ่งระส่ำ

 ‘ศรีสวัสดิ์’ หลังผนึกออมสิน  เขย่าตลาดลีสซิ่งระส่ำ

ประโคมข่าวกันมานานแล้วว่าแบงก์รัฐที่มีฐานทุนสูง ธนาคารออมสินจะกระโดดเข้ามาเล่นในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียน จนสุดท้ายประกาศร่วมมือเข้าถือหุ้นในบริษัทย่อย “เงินสดทันใจ”

ในกลุ่มของ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD พร้อมประกาศสงครามราคาดอกเบี้ยกู้ 18 % ทันที เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

การเข้ามาลงทุนของออมสินจะซื้อหุ้นเพิ่มทุน บริษัท เงินสดทันใจ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือ SAWAD ไม่เกิน 1,300.5 ล้านหุ้น และจ่ายเงินเพื่อซื้อหุ้นเดิมไม่เกิน 198.9 ล้านบาท เพื่อถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 49 % ที่ราคาหุ้นละ 306 บาท รวมจำนวนเงินไม่เกิน 1,500 ล้านบาท

เพื่อเข้าสู่ธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ ซึ่งมีเงื่อนไขต้องปล่อยสินเชื่อจำนำทะเบียนรถในอัตราดอกเบี้ย 18 % ต่ำกว่าท้องตลาดที่คิดในอัตราดอกเบี้ย 20 % จากเกณฑ์กำหนดไม่เกิน 24 % และปล่อยวงเงินกู้รายละ 2 แสนบาทต่อคน รวม 1 ล้านราย วงเงินสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท

การร่วมมือในครั้งนี้นอกจากออมสินจะได้เข้าสู้ตลาดสินเชื่อเงินสดด้วยทางลัด ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าจะเจอกับการแข่งขันที่รุนแรงจากการเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ เนื่องจากในตลาดนี้มีทั้งผู้เล่นอยู่ในรูปแบบบริษัทจดทะบียนที่เปิดเผยข้อมูล กับรายที่อยู่นอกตลาด บวกกับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) จากการปล่อยกู้ และแหล่งที่มาของต้นทุนทำให้เกิดการกินดอกเบี้ยเปล่าได้มากถึง 15-17 %

ออมสินแม้จะมีฐานลูกค้ารายย่อยจำนวนมาก มีสาขามากถึง 1,060 สาขา มีฐานทุนที่ใหญ่ แต่การแข่งขันในธุรกิจนี้ต้องมีการบริหารจัดการและติดตามทวงหนี้ ทำให้เกิดความเสี่ยงได้หากไม่เชี่ยวชาญพอ

ด้าน SAWAD มีทั้งสินค้า พอร์ตหนี้ ฐานลูกค้า และสาขา 4,660 สาขา สิ้นไตรมาส 3 ปี 2563 มียอดขายปล่อยสินเชื่อ 40,771ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.26 % ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินเชื่อทะเบียนรถจักรยานยนต์ รถยนต์และรถบรรทุกแบบมีหลักประกัน  

รวมทั้งยังมีบริษัทลูก บริษัท เงินทุนศรีสวัสดิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ BFIT มีพันธมิตรกลุ่มคาเธ่ย์ ไฟแนนเซียล โฮลดิ้ง จากไต้หวัน เป็นผู้ถือหุ้น เน้นทำธุรกิจปล่อยสินเชื่อรายย่อยไม่เกิน 10 ล้านบาท พร้อมกับรับฝากเงินจากประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นจุดเด่นให้กับ SAWAD แตกต่างจากคู่แข่ง

SAWAD ถือว่าเป็นผู้ดำเนินธุรกิจมีขนาดมาร์เก็ตแชร์อันดับ 2 รองจาก บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC เนื่องจากปล่อยสินเชื่อส่วนใหญ่ คือมอเตอร์ไซต์ รองลงมารถยนต์ เช่นกันที่มีจำนวนสาขา 4,798 สาขา ช่วงสิ้นไตรมาส 3 ปี 2563 มียอดปล่อยสินเชื่อ 67,200 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.6 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ที่ผ่านมา MTC แข่งขันปล่อยสินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ย 19.9 % เทียบกับ SAWAD อยู่ที่ 21 % รวมทั้งความสามารถในการบริหารจัดการหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ได้ไม่เกิน 1.01 % ถือว่าดีกว่าคู่แข่งอยู่ที่ 4.19 %

เมื่อ SAWAD ได้พันธมิตรเข้ามาพร้อมที่จะตั้งแผนรุกมากยิ่งขึ้นเพราะหมดปัญหาแหล่งเงินทุนปล่อยกู้ต้นทุนต่ำหลังมีออมสินเข้ามาสนับสนุน จึงทำให้คาดการณ์ว่าหลังเริ่มให้บริการไตรมาส 1 ปี 2564 เงินสดทันใจจะมียอดสินเชื่อปี 2564 อยู่ที่ 20,000 ล้านบาท เน้นรถยนต์ 1 แสนบาทต่อคน และรถจักรยานยนต์ไม่เกิน 10,000 บาทต่อคน และจะเป็นผู้บริหารติดตามหนี้

ด้านช่องทางต้องมีทั้ง SAWAD และออมสิน ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวจะช่วยหนุนพอร์ตปล่อยสินเชื่อของ SAWAD ไปในตัว แม้จะต้องลดกำไรดอกเบี้ยลงแต่หากวอลลุ่มการปล่อยกู้เพิ่มขึ้นบวกกับต้นทุนการเงินที่ลดลงย่อมทำให้ชนะคู่แข่งได้ไม่ยาก

ส่วน MTC ย่อมไม่อยู่เฉยแน่เพราะได้ประกาศอออกมาแล้วจะลดอัตราดอกเบี้ยสู้มาที่ 18 % เช่นกัน และเพิ่มวงเงินปล่อยสินเชื่อจักรยานยนต์เพิ่มตั้งแต่ไตรมาส 3 ที่ผ่านมาอีก 200-300 ล้านบาท เพื่อให้ได้ 1,000 ล้านบาทในปี 2564

นอกจาก MTC แล้วนอกตลาดยังมี ‘เงินติดล้อ’ ของแบงก์กรุงศรี  ‘สมหวังเงินสั่งได้ ‘ ของแบงก์ทิสโก้ ที่พร้อมเสนอโปรโมชั่นแรงกระตุ้นการแข่งขันเพิ่มเติมอีกด้วย