'ดีป้า' เผยภาคอุตฯโฟกัส 'ดิจิทัล' เพิ่มเท่าตัว

'ดีป้า' เผยภาคอุตฯโฟกัส 'ดิจิทัล' เพิ่มเท่าตัว

"ดีป้า" ร่วมองค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ เผยผลศึกษาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคอุตสาหกรรมไทย ชี้ปัจจุบันยังกระจุกตัวในอุตสาหกรรม 1.0 แต่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ ผลศึกษาการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคอุตสาหกรรมปี 2563 สำรวจจากอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ จากประชากรในอุตสาหกรรมการผลิตกว่า 29,000 ราย ในขั้นตอนการติดต่อซัพพลายเออร์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต ความสัมพันธ์กับลูกค้า และการบริหารจัดการธุรกิจ ซึ่งผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกระจุกตัวอยู่ในอุตสาหกรรม 1.0 ในทุกภาคอุตสาหกรรม 

ขณะที่ 5-10 ปีข้างหน้า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่วนใหญ่ จะยังคงอยู่ในอุตสาหกรรม 1.0 ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อซัพพลายเออร์ที่ยังคงส่งคำสั่งซื้อด้วยเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่ไม่มีโครงสร้างข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน หรือการติดต่อผ่านอีเมล หรือเอกสารแนบในรูปแบบไฟล์พีดีเอฟ กระบวนการผลิตที่ยังคงใช้เครื่องจักร ที่ไม่ใช่ระบบอิเล็กทรอนิกส์

รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าที่ยังคงเป็นการติดต่อแบบอนาล็อกและแมนนวล ส่วนขั้นตอนที่มีแนวโน้มปรับขึ้นมาอยู่ในอุตสาหกรรม 2.0 ช่วง 5-10 ปีข้างหน้า คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเป็นการใช้คอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบและผลิต หรือซอฟต์แวร์อื่นที่คล้ายคลึงกัน รวมถึงการบริหารจัดการธุรกิจด้วยระบบสารสนเทศแบบบูรณาการ หรืออาจเป็นการใช้ระบบ Enterprise Resource Planning (ERP)

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งสามารถบ่งชี้ได้ว่า ประเทศไทยกำลังเร่งขับเคลื่อนไปสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 แต่ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังขาดแคลนกำลังคนดิจิทัล ซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มสำคัญในการสร้างความได้เปรียบ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมไทย ดังนั้น จึงต้องมีการอัพสกิล หรือรีสกิลกำลังคนกลุ่มนี้ก่อนเข้าสู่ตลาด ซึ่งผลสำรวจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในอุตสาหกรรมจึงเป็นเสียงสะท้อนว่า ประเทศไทยสามารถเข้าใกล้ไทยแลนด์ 4.0 ได้มากน้อยเพียงใดจากภาคแรงงานและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโดยตรง