“ศ.นพ.ยง”เผยไทยใช้พลาสมารักษาต่างชาติป่วยโควิด-19แล้ว

“ศ.นพ.ยง”เผยไทยใช้พลาสมารักษาต่างชาติป่วยโควิด-19แล้ว

“ศ.นพ.ยง”เผยศูนย์บริการโลหิตฯเปลี่ยนพลาสมาจากคนป่วยโควิด-19เป็นเซรุ่ม สำรองได้กว่า 600 ขวด ใช้ป้องกัน-รักษายามจำเป็น เก็บได้นาน 3 ปี ระบุใช้พลาสมารักษาผู้ป่วยต่างชาติ 1 ราย อาการรุนแรง เชื่อได้อานิสงส์จากการให้พลาสมาค่อนข้างเร็ว ผู้ป่วยอาการดีขึ้น

       เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2563 เวลา 11.30 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19ว่า จากกรณีที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ได้มีการเก็บพลาสมาจากผู้ที่เคยติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019ในประเทศไทยรักษาหายแล้ว และมีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 มากกว่า 400 ถุง เพื่อเตรียมไว้สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19  แต่ที่ผ่านมาด้วยความที่กระทรวงสาธารณสุข และประชาชนร่วมมือกันอย่างดีทำให้ไม่มีการระบาดของโควิด-19 ในไทย จึงไม่ได้มีการใช้พลาสมาที่เก็บไว้

         “เมื่อราวๆ 10 วันที่ผ่านมา ได้มีการนำพลาสมาไปรักษาผู้ป่วย 1 คนใน Alternative state quarantine เป็นชาวสวิตเซอร์แลนด์ ที่มีอาการปอดบวมรุนแรง มีค่าออกซิเจนในเลือดต่ำโดยช่วงที่มีอาการหนักสุดจำเป็นต้องให้ออกซิเจนขนาดสูงถึง 80 % จึงมีการตัดสินใจให้พลาสม่าโดยเร็วหลังรับเข้ารักษาในโรงพยาบาล  โดยให้ 2 ครั้ง ห่างกัน 2 วัน  ตอนนี้ผ่านมา 10 วันล่าสุดผู้ป่วยอาการดีขึ้น สามารถลดค่าออกซิเจนที่ให้ได้ ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้ป่วยรายนี้ได้อานิสงส์จากการให้พลาสมาค่อนข้างเร็ว”ศ.นพ.ยงกล่าว

      ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ยังได้มีการนำพลาสมาที่มีภูมิต้านทานโรคโควิด-19 ในระดับสูงไปสกัดทำเป็นเซรุ่มเพื่อใช้ในการป้องกัน และรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้ ขณะนี้แบ่งพลาสมาครึ่งหนึ่งของที่มีอยู่มาทำเซรุ่มได้จำนวนทั้งหมดมากกว่า 600 ขวด ขวดละ 2 ซีซี เพื่อสำรองไว้ใช้ยามจำเป็น โดยสามารถเก็บไว้ได้นาน 3 ปี แต่หากเป็นพลาสมาจะเก็บไว้ได้นาน 1 ปี  ซึ่งส่วนของพลาสม่าที่ยังเหลืออยู่หากไม่ได้มีการเอามาใช้ก็จะสกัดเป็นเซรุ่มเก็บไว้ด้วย

      "พลาสมาที่ได้รับจากผู้ที่หายจากโรคและมีภูมิต้านทานสูง ก็จะมีแอนติบอดี้ แต่ต้องให้ระยะแรกที่ผู้ป่วยยังไม่ได้สร้างภูมิต้านทานด้วยตัวเอง และมีอาการรุนแรง การนำเอาพลาสมาทำเป็นเซรุ่ม ก็เช่นเดียวกัน ในเซรุ่มก็จะมีภูมิต้านทานต่อไวรัสก่อโรคโควิด 19 สามารถใช้ได้เช่นเดียวกับการใช้ป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เช่นเมื่อถูกเข็มเจาะเลือดผู้ป่วยตำมือ หรือสัมผัสโรค การให้เซรุ่มจำเพาะรักษาโรคพิษสุนัขบ้า เป็นต้น ข้อดีของเซรุ่ม ที่สกัดจากพลาสมาผู้ที่หายป่วยและมีภูมิต้านทานสูง เซรุ่มสามารถฉีดเข้ากล้ามเนื้อได้ ไม่ต้องให้ทางหลอดเลือดแบบการให้พลาสมา สามารถเก็บไว้ได้นานกว่าการเก็บพลาสมา และถูกบรรจุเป็นขวดเล็กๆไม่เหมือนกับพลาสมาที่ต้องเก็บเป็นถุง"ศ.นพ.ยงกล่าว