รู้จัก 'LRAD' ปืนใหญ่เสียง ที่อาจนำมาใช้ ‘สลายการชุมนุม’

รู้จัก 'LRAD' ปืนใหญ่เสียง ที่อาจนำมาใช้ ‘สลายการชุมนุม’

อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่อาจจะนำมาใช้ "สลายการชุมนุม" นั่นคือ LRAD (Long Range Acoustic Device) หรือ ปืนใหญ่เสียง ที่สามารถปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงมากถึง 137 เดซิเบล ซึ่งเป็นอันตรายต่อแก้วหู กระดูกหู ของมนุษย์ได้

จากสถานการณ์การชุมนุมของแนวร่วม "คณะราษฎร" และ "เยาวชนปลดแอก" ครั้งที่ผ่านมา ทางกลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการแจ้งเตือนกันในกลุ่มว่า พบอุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า "LRAD" ติดตั้งอยู่บนรถของทางการ ที่จะนำมายับยั้งและควบคุมฝูงชน ทำให้หลายคนสนใจว่าเจ้าอุปกรณ์ดังกล่าวคืออะไร สามารถใช้สลายการชุมนุมได้อย่างไร มีความอันตรายแค่ไหน และจะป้องกันตัวเองจากคลื่นเสียงนี้ได้ยังไงบ้าง?

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์จะพาไปหาคำตอบเรื่องนี้กัน โดย อ.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว "OhISeebyAjarnJess" เอาไว้ดังนี้

  • 'LRAD' หรือ ปืนใหญ่เสียง คืออะไร?

LRAD ย่อมาจากคำว่า Long Range Acoustic Device เป็นอุปกรณ์ระบบลำโพงและอาวุธพลังงานเสียง ที่สามารถสร้างเสียงดังความถี่สูงมาก จนทำให้ผู้ที่ได้ยินเสียงดังกล่าว มีอาการปวดหัว โซเซ อยากอาเจียน หรือระบบประสาทหูถูกทำลายได้ ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจของทั้งประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศ นำมาไว้ใช้รับมือกับ "การชุมนุมประท้วง" 

LRAD ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วงต้นทศวรรษที่ 2000s โดยทหารสหรัฐอเมริกา เจ้าเครื่องนี้สามารถยิงเสียงที่มีความดังมาก สามารถบังคับทิศทางเสียงได้อย่างแม่นยำ และยิงเสียงได้ไกลกว่าลำโพงทั่วไป ซึ่งตัวเครื่อง LRAD จะมีช่องเล็งและเส้นช่วยเล็ง ให้เจ้าหน้าที่สามารถเล็งยิงเสียงไปที่เป้าหมายได้อย่างจำเพาะเจาะจง 

  • กลไกการทำงานเครื่อง 'LRAD' ส่งผลต่อประสาทหู

เครื่อง LRAD มีทั้งไมโครโฟนสำหรับพูด มีเครื่องเล่นเสียงที่บันทึกไว้ และมีเครื่องปล่อยเสียงยับยั้งฝูงชน ที่ใช้คลื่นเสียงความถี่สูงซึ่งสามารถทำให้เกิดความเจ็บปวดต่อประสาทหูของมนุษย์ได้

เจ้าหน้าที่มักใช้งานโดยการพูดผ่านไมโครโฟน "สั่งให้ผู้ชุมนุมสลายตัว" หรือยิง "คลื่นเสียง" ใส่ฝูงชน เพื่อบังคับให้สลายตัวไป สำหรับเครื่อง LRAD ของประเทศไทยที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ก่อนหน้านี้ ไม่ทราบว่าเป็นรุ่นไหนและมีสเปคอย่างไร

แต่ถ้าเป็นของตำรวจสหรัฐอเมริกา รุ่นที่พบเห็นมากคือยี่ห้อ Gynasys รุ่น LRAD 100x ซึ่งสามารถสร้างเสียงดังได้ถึงระดับ 137 เดซิเบล (dB) ที่ระยะห่าง 1 เมตร และเสียงจะลดระดับความดังลงเรื่อยๆ เมื่อระยะห่างเพิ่มขึ้น

160629845032

  • ความอันตรายจากเครื่อง LRAD

ระดับเสียงที่ปลอดภัยสำหรับมนุษย์อยู่ที่ 75 dB หรือน้อยกว่านั้น ส่วนระดับความดังของเสียงที่จะสร้างความเจ็บปวดให้คนเราได้ จะอยู่ที่ประมาณ 120-140 dB นั่นแปลว่า ถ้าใครอยู่ใกล้กับเครื่อง LRAD (Gynansis 100x) ระยะตั้งแต่ 25 ฟุต (10 เมตร) เข้ามา ก็จะเริ่มรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดที่หู และสร้างความเสียหายกับประสาทหูได้ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดอันตราย และอาการบาดเจ็บต่างๆ ดังนี้

1. เครื่อง LRAD แม้เป็นคลื่นเสียงที่มองไม่เห็น แต่อนุภาคของมันนั้นรุนแรงไม่ต่างกับการใช้กระบองฟาด หรือยิงด้วยกระสุนยาง

2. คลื่นเสียงจะทำอันตรายกับแก้วหู กระดูกหู และอวัยวะต่างๆ ที่ใช้ในการรับฟัง ความรุนแรงขึ้นอยู่กับระยะที่เราอยู่ใกล้หรือไกล และมีสภาพร่างกายพร้อมแค่ไหน (หากเป็นเด็ก คนชรา หรือผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุเกี่ยวกับการได้ยิน ก็จะยิ่งได้รับอันตรายขึ้นไปอีก)

3. หากได้ยินคลื่นเสียงความถี่สูงจากเครื่อง LRAD จะทำให้เกิดอาการเหมือนมีเสียงกริ่งโทรศัพท์ก้องอยู่ในหู 

4. หากได้ยินนานๆ อาจทำให้เกิดอาการปวดหัว คลื่นไส้ อยากอาเจียน เวียนหัว บ้านหมุน และทรงตัวไม่อยู่ 

5. ถ้าโดนตรงๆ ระยะประชิดตัว ก็อาจจะทำให้อาเจียน มีเลือดไหลออกจากหู เพราะเสียงนั้นทำให้แก้วหูฉีกขาด และทำลายเซลล์ขนที่อยู่ในส่วนคอเคลีย (cochlea) ในหู อาจทำให้หูหนวกถาวรได้

6. ส่งผลต่อผู้ชุมนุมให้เกิดความเครียด สับสน ไม่สามารถสื่อสารกันได้โดยง่าย อาจเกิดความอลหม่าน หลงทาง เดินชนคนหรือสิ่งของรอบข้าง

  • การปฐมพยาบาล หากโดนคลื่นเสียงจาก LRAD

1. พยายามสงบสติอารมณ์ และตรวจดูอาการของตนเองว่าเป็นเช่นไรบ้าง 

2. ถ้ามีอาการมาก ให้ออกจากพื้นที่เกิดเหตุ แล้วรีบไปพบแพทย์ทางด้านการได้ยิน ต้องมีคนช่วยพาไปเพราะอาจมีอาการหลงทิศทาง

3. หลีกเลี่ยงการได้รับเสียงดังเพิ่มเติมขึ้นอีก

4. จดบันทึกลักษณะอาการที่เป็นทั้งหมด เพื่อแจ้งกับแพทย์ หรือเอาไว้ใช้ถ้าเกิดมีเหตุต้องฟ้องร้องเจ้าหน้าที่

160629859656

  • อุปกรณ์และวิธีป้องกันตัวจาก LRAD

1. หากคาดว่าเจ้าหน้าที่จะใช้เครื่อง LRAD ในการ "สลายการชุมนุม" ควรเตรียม เอียร์ปลั๊ก (earplugs) ชนิดโฟม สำหรับอุดหู หรือที่ปิดหูแบบนิรภัย (safety ear muff) ที่สามารถลดระดับเสียงให้ได้มากที่สุด

2. หลีกเลี่ยงการอุดหูด้วยก้อนสำลี เพราะมันไม่สามารถกั้นคลื่นเสียงความถี่สูงได้

3. หูฟังชนิดที่ตัดเสียงรบกวนได้ (noise-cancelling headphones) ไม่ค่อยช่วยป้องกันคลื่นเสียงจาก LRAD สักเท่าไหร่

4. หากเริ่มเห็นว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปคุมเครื่อง LRAD แล้ว ให้รีบแจ้งผู้คนโดยรอบ เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันตัวเองจากคลื่นเสียงดังกล่าว

5. เตรียมมองหาที่กำบัง เช่น กำแพงอิฐหรือปูน เพราะคลื่นเสียงนั้นจะสะท้อนกับพื้นผิวของวัตถุที่มีความหนาแน่นสูง หรือใช้โล่

6. หากเจ้าหน้าที่เริ่มยิงคลื่นเสียงสลายการชุมนุม แล้วไม่มีที่กำบัง ควรวิ่งหนีไปทางซ้ายหรือขวา อย่าวิ่งไปข้างหลัง

7. นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ "โล่" ที่ทำจากแผ่นพลาสติกโพลีคาร์บอเนตใส แผ่นพลาสติกอะคริลิค หรือแผ่นฟิวเจอร์บอร์ด นำมาใช้ป้องกันคลื่นเสียงได้ เนื่องจากเป็นเนื้อวัสดุแข็งและมีผิวมันลื่น จึงช่วยสะท้อนคลื่นเสียงออกไปได้

----------------

อ้างอิง : 

facebook.com/OhISeebyAjarnJess

pitchfork.com/thepitch

vice.com/en