'ฝ่ายค้าน' เตรียมเสนอเลือกตั้งส.ส.ร.สองระบบ 'เขตจังหวัด-เขตประเทศ'

'ฝ่ายค้าน' เตรียมเสนอเลือกตั้งส.ส.ร.สองระบบ 'เขตจังหวัด-เขตประเทศ'

'ฝ่ายค้าน' เตรียมเสนอเลือกตั้งส.ส.ร.สองระบบ 'เขตจังหวัด-เขตประเทศ' ดัน ไอลอว์มาร่วมกมธ.ในฐานะที่ปรึกษา

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมาธิการฯนัดแรกเมื่อวันที่ 24 พ.ย.ว่า กรอบการทำงานของคณะกรรมาธิการฯจะมีการหารือกันในวันที่ 27 พ.ย. ซึ่งที่ประชุมขอให้สมาชิกรัฐสภาแปรญัตติเพื่อแก้ไขเนื้อหาให้ทันตามกำหนด 15 วัน ส่วนระยะเวลาการทำงานของคณะกรรมาธิการฯที่ฝ่ายค้านต้องการระยะเวลาสั้นกว่า 45 วันนั้นได้หารือกับนายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมาธิการฯ โดยได้รับแจ้งว่ากรอบเวลาของคณะกรรมาธิการฯขอให้ขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะมีความเห็นอย่างไร ดังนั้น การประชุมของคณะกรรมาธิการฯจะสัปดาห์ละหนึ่งวัน คือ วันศุกร์ตลอดทั้งวัน และหากจะเร่งการทำงานก็ต้องมีการเพิ่มวันประชุมต่อไป

นายสมคิด กล่าวอีกว่า ประเด็นแรกที่จะพูดคุยกัน คือ เนื้อหาแต่ละมาตราว่าจะดำเนินการพิจารณาอย่างไร แต่คิดว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะตั้งคณะอนุกรรมาธิการ อย่างไรก็ตาม ได้มีการพูดคุยกันว่าการกำหนดการยกร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นอยากให้ฟังเสียงของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ ในส่วนนี้กรรมาธิการสัดส่วนของฝ่ายค้านจะเสนอแก้ไขจำนวนสมาชิกส.ส.ร.ที่หลายฝ่ายยืนยันว่าจะต้องมาจากการเลือกตั้ง 200 คน ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยในคณะกรรมาธิการว่าส.ส.ร.ที่มาจากการสรรหาหรือแต่งตั้งจำนวน 50 คนตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลจะปรับแก้ไขอย่างไร ซึ่งคณะกรรมาธิการแต่ละกลุ่มยังพูดคุยกันในวงกว้างๆอยู่ 

เมื่อถามว่า ฝ่ายค้านอยากให้แก้ไขในประเด็นใดมากที่สุด นายสมคิด กล่าวว่า เป็นเรื่องที่มาของคุณสมบัติของสมาชิกส.ส.ร.เพราะฝ่ายค้านยืนยันว่าอยากให้ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง 200 คน นอกจากนี้ จะมีส.ส.เสนอให้นำเนื้อหาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์เข้ามาพิจารณาด้วย เพราะไอลอว์เสนอให้ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งเช่นกัน โดยเป็นลักษณะการกำหนดให้ใช้เป็นประเทศเขตเลือกตั้ง จึงคิดว่าอาจเสนอมีการปรับใช้โดยกำหนดให้สมาชิกส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้งเขตจังหวัด 100 คนและระบบประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง 100 คน ซึ่งสามารถเสนอเข้ามาได้เพราะยังสอดคล้องกับหลักการที่รัฐสภาได้มีมติรับหลักการเอาไว้ นอกจากนี้ ฝ่ายค้านยังประสานไปยังไอลอว์เพื่อขอให้เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมาธิการ

นอกจากนี้ นายสมคิด กล่าวถึงการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เอาผิดกับผู้ชุมนุม ในระหว่างที่รัฐสภากำลังคณะกรรมการสมานฉันท์และการปรองดองว่า เมื่อเป็นแบบนี้ก็ไม่รู้จะปรองดองกันอย่างไร เพราะการสร้างความปรองดองรัฐบาลต้องแสดงความจริงใจและเข้าทำเอง เพราะกลุ่มที่เข้ามาทำตอนนี้ไม่มีอำนาจตัดสินใจ มีแต่เพียงการหาข้อมูลให้เท่านั้น

"คนที่จะทำปรองดองได้ตอนนี้ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ผมยังยืนยันว่ามีแต่การพูดคุยเท่านั้นที่จะทำให้เกิดการปรองดอง หากไม่ดำเนินการเช่นนี้ต่อให้ตั้งคณะกรรมการปรองดองมากี่ชุดก็เท่านั้น ดังนั้น ขอเรียนไปยังรัฐบาลว่าเรื่องนี้คนไทยทั้งนั้น จึงอยากเห็นการพูดคุยอย่างเปิดเผย และผู้ชุมนุมต้องมาพูดคุยด้วย มิเช่นนั้นจะปลายไปเรื่อยๆ คนที่มีอำนาจต้องเดินเข้าไปคุย มิเช่นนั้นเรื่องก็ไม่จบ" นายสมคิด กล่าว

เมื่อถามว่า ส่วนตัวมีความกังวลต่อการชุมนุมในเย็นวันนี้หรือไม่ นายสมคิด กล่าวว่า ส่วนตัวไม่กังวลเพราะเดินทางบ่อยและเห็นว่าการชุมนุมมีกรอบชัดเจนอยู่แล้ว คงไม่มีปัญหาอะไร แต่ขอฝากเจ้าหน้าที่ว่าอย่าทำอะไรรุนแรง อย่าถึงกับฉีดน้ำกันเลย หากยิ่งไปกั้นลวดหนาม เขาก็ยิ่งออกมา