เอเชียจ่าฝูงฟื้นท่องเที่ยว-ไทย-ไต้หวัน-เวียดนามคึกคัก

เอเชียจ่าฝูงฟื้นท่องเที่ยว-ไทย-ไต้หวัน-เวียดนามคึกคัก

เอเชียจ่าฝูงฟื้นท่องเที่ยว-ไทย-ไต้หวัน-เวียดนามคึกคักเพราะการท่องเที่ยวภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว

อะโกดาระบุ เอเชียเป็นภูมิภาคผู้นำด้านการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ขณะไต้หวัน ไทยและเวียดนาม การท่องเที่ยวภายในประเทศคึกคักที่สุด ส่วนการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ เริ่มมีให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว รวมถึง“ทราเวล บับเบิล”ระหว่างสิงคโปร์และฮ่องกง แม้ว่าล่าสุด จะถูกเลื่อนออกไปสองสัปดาห์ เนื่องจากฮ่องกงรายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ ต้นตอโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้น


“ตลาดท่องเที่ยวในประเทศเป็นปัจจัยหลักขับเคลื่อนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยรวมของภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19ได้อย่างดี เช่น ไต้หวัน ไทย และเวียดนามจะมียอดจองตั๋วเดินทางท่องเที่ยวในประเทศคึกคักที่สุด”จอห์น บราวน์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)อะโกดา บริษัทในเครือบุ๊คกิ้ง โฮลดิงส์ บริษัทให้บริการท่องเที่ยวทางออนไลน์ชื่อดังของโลกสัญชาติอเมริกัน กล่าว

ไต้หวันรายงานพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 617 ราย และทางการไทเปอนุญาตให้ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศได้นานกว่า200 วันแล้ว ส่วนไทยและเวียดนามถือเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างดีโดยข้อมูลของมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ระบุว่า ไทยและเวียดนามมียอดผู้ติดเชื้อจำนวน 3,920 รายและ 1,307 รายตามลำดับ

"ตลาดท่องเที่ยวในประเทศของทั้งสามประเทศสดใสกว่าปีที่แล้ว"บราวน์ กล่าวในรายการ"สตรีท ไซจน์ เอเชียของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะหลายประเทศปิดพรมแดนช่วงต้นปีที่ผ่านมา และถึงตอนนี้จะมีบางประเทศเปิดพรมแดนแล้วแต่ความต้องการด้านการท่องเที่ยวก็ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่

“ตอนนี้เป็นตลาดท่องเที่ยวในประเทศที่คึกคัก มียอดจองเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรารอดูว่าการท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะกลับมาเหมือนเดิมอีกเมื่อใด”บราวน์ กล่าวและเสริมว่า“ธุรกิจท่องเที่ยวในยุโรปและในสหรัฐค่อนข้างดีเช่นกันแม้จะไม่คึกคักเท่าในเอเชีย ตอนนี้ทั่วโลกกำลังจับตามองธุรกิจท่องเที่ยวในเอเชียที่มีความโดดเด่น รวมถึงการทำข้อตกลงทราเวล บับเบิลระหว่างสิงคโปร์ และฮ่องกง ที่น่าจะเป็นแบบอย่างให้อีกหลายประเทศทำตามในไม่ช้านี้”

"ออง เย คุง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสิงคโปร์ กล่าวว่า ข้อตกลงทราเวล บับเบิล เป็นข้อตกลงแรกของโลก ที่อาจเป็นแม่แบบให้กับประเทศอื่นๆ ได้หากประสบความสำเร็จ และเชื่อว่าจะช่วยฟื้นฟูสนามบินชางงีและสิงคโปร์แอร์ไลน์ไปพร้อมๆกัน โดยจะมีหลายเที่ยวบินจากสิงคโปร์แอร์ไลน์ และคาเธย์แปซิฟิค ที่เปิดเที่ยวบินขาเข้าทั้งสองฝ่ายวันละ 1 เที่ยว จากนั้นจะเพิ่มเป็นวันละ 2 เที่ยวตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค.เป็นต้นไป ซึ่งอนุญาตให้มีผู้โดยสารสูงสุด 200 คนในแต่ละเที่ยวบิน

ด้าน“ลี ลิกซิน” รองประธานบริหารฝ่ายการพาณิชย์ของสิงคโปร์แอร์ไลน์ กล่าวว่า มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะทำให้ทราเวล บับเบิล ประสบความสำเร็จ โดยสายการบินต้องคำนึงถึงมาตรการต่างๆ ของรัฐบาล และหน่วยงานกำกับดูแลอื่นๆด้วยเพื่อให้การควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล

แต่ล่าสุด โครงการทราเวล บับเบิล ระหว่างฮ่องกงกับสิงคโปร์ ถูกเลื่อนออกไปสองสัปดาห์ หลังจากฮ่องกงพบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นสายการบินคาเธย์ แปซิฟิก ของฮ่องกง ร่วงลง 6.6% ถือเป็นการปรับตัวลดลงต่ำสุดตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา

ขณะที่ราคาหุ้นสายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์ ของสิงคโปร์ ปรับตัวลง 1% ซึ่งสายการบินทั้งสองแห่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโรคโควิด-19 มากกว่าสายการบินอื่นๆ เนื่องจากไม่มีบริการเที่ยวบินในประเทศ แม้โครงการทราเวล บับเบิล จะทำให้มีผู้เดินทางระหว่างทั้งสองประเทศเพิ่มขึ้น

องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (ดับเบิลยูทีโอ) คาดการณ์ว่า การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศในปีนี้จะลดลงถึง 80% ด้วยเหตุนี้หลายประเทศที่เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ จึงเริ่มหาหนทางฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและทราเวล บับเบิลก็เป็นหนึ่งในรูปแบบการท่องเที่ยวท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19

ประเทศคู่แรกที่ถือเป็นต้นแบบของรูปแบบการเดินทางแบบนี้คือนิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย โดยประเทศทั้งสองตกลงให้มีการเดินทางระหว่างกันโดยไม่ต้องให้มีการกักตัว แต่ยังคงมีมาตรการตรวจเข้มข้นที่สนามบินของแต่ละประเทศ

แต่ดูเหมือนแผนเปิดพรมแดนระหว่างกันจะต้องเลื่อนออกไปก่อน เพราะนิวซีแลนด์กลับมาพบการติดเชื้อระลอกใหม่ หลังจากไม่มีผู้ป่วยรายใหม่ 24 วันติดต่อกัน ขณะที่ออสเตรเลีย โดยเฉพาะในบางแคว้น อย่าง ควีนส์แลนด์ เวสเทิร์นออสเตรเลีย ยืนยันว่ายังไม่เปิดพรมแดนไปจนถึงปีหน้า