'ข้อตกลงการค้าเอเชีย' หมัดเด็ดจีนแผ่อิทธิพลแทนที่สหรัฐ

'ข้อตกลงการค้าเอเชีย' หมัดเด็ดจีนแผ่อิทธิพลแทนที่สหรัฐ

'ข้อตกลงการค้าเอเชีย' หมัดเด็ดจีนแผ่อิทธิพลแทนที่สหรัฐ โดยความตกลงอาร์เซ็ป และความตกลงซีพีทีพีพีจะเป็นตัวผลักดันให้จีนเร่งบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้เร็วขึ้น

“สุภาพบุรุษและสุภาพสตรี ผองเพื่อน ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกคือบ้านที่เราอยู่ร่วมกัน เรายินดีร่วมมือกับภูมิภาคอื่นทุกภูมิภาค รวมทั้งประเทศหรือบริษัทต่างๆที่อยากจะร่วมมือกับเรา”ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนกล่าวในเวทีประชุมนักธุรกิจเอเปค เมื่อวันพฤหัสบดี (19พ.ย.) โดยผู้นำจีนกำลังดำเนินบทบาทรัฐบุรุษระดับโลก เหมือนที่ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม(ดับเบิลยูอีเอฟ)ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์อันลือลั่นเมื่อเดือนม.ค.ปี 2560

ในโอกาสนี้ ประธานาธิบดีสี ถือโอกาสกระทุ้งสหรัฐด้วยการบอกว่าลัทธิเอกภาพนิยม กีดกันการค้าและการรังแกประเทศเล็กกว่าที่นับวันจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจน พฤติกรรมต่างๆที่ขัดต่อกระแสโลกาภิวัฒน์เพิ่มความเสี่ยงและสร้างความไม่แน่นอนแก่เศรษฐกิจโลก

ถ้อยแถลงของสี ในการประชุมทางไกลของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก(เอเปค)เมื่อสัปดาห์ที่แล้วตอกย้ำว่ารัฐบาลปักกิ่งมีความต้องการอย่างยิ่งยวดที่จะเข้ามาเติมเต็มภาวะสุญญากาศอำนาจทางเศรษฐกิจของสหรัฐที่หายไปตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลก

สี กล่าวสุนทรพจน์เมื่อวันศุกร์(20พ.ย.)ว่า เป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษ ที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ต้องเผชิญกับภาวะติดลบ การฟื้นฟูเศรษฐกิจด้วยตลาดที่เปิดกว้าง และการคุ้มครอง ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ประชากร ควรเป็นภารกิจเร่งรัดของรัฐบาลทุกประเทศ

นอกจากนี้ สี ยังกล่าวถึงข้อตกลงซีพีทีพีพี ว่าเป็นหนึ่งในความร่วมมือทางการค้าที่จีนจับตาและให้ความสนใจมาตลอด โดยยังคงอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ และระหว่างการประชุมเอเปคครั้งนี้ ผู้นำจีนเสนอยุทธศาสตร์วงจรคู่ที่รัฐบาลปักกิ่งผลักดันมานานหลายทศวรรษ ซึ่งก็คือการปฏิรูปเศรษฐกิจให้เติบโตจากการพัฒนาภายในอย่างมั่นคง เพื่อนำมาซึ่งการสร้างสมดุลให้กับตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ (ไอทีซี)ระบุว่า ตอนนี้จีนมีฐานะเกือบเทียบเท่าสหรัฐในฐานะประเทศจุดหมายปลายทางด้านการส่งออก โดยการส่งออกไปจีนจาก18ประเทศสมาชิกเอเปคอื่นๆนอกเหนือจากสหรัฐและปาปัว นิวกินีซึ่งไม่มีข้อมูลล่าสุดให้เปรียบเทียบในปี2562 มีมูลค่า 1.07 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นประมาณ 90% ของตัวเลขในสหรัฐและเพิ่มขึ้น80% ในรอบ10ปี นับตั้งแต่ปี 2552 หลังเกิดวิกฤตการเงิน

หลังเกิดวิกฤตการเงิน อิทธิพลของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 4 ล้านล้านหยวน (585 พันล้านดอลลาร์)ของรัฐบาลปักกิ่งช่วยกระตุ้นความต้องการบริโภคภายในประเทศได้อย่างเห็นผล จนทำให้การนำเข้าเพิ่มขึ้น ชาติเศรษฐกิจเอเปคที่ส่งออกสินค้าไปจีนมากกว่าไปสหรัฐมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก7 ประเทศในปี 2551 เป็น 14 ประเทศในปี 2554 ส่วนจีนเองก็ไม่รู้สึกอายหรือตะขิดตะขวงใจที่จะใช้การค้าเป็นเครื่องมือกดดันประเทศต่างๆที่จีนมีปัญหาด้วย

อย่างกรณีเมื่อ10ปีที่แล้ว รัฐบาลปักกิ่งยุติการส่งออกแร่หายากให้ญี่ปุ่นเพราะมีกรณีพิพาทการอ้างสิทธิเหนือหมู่เกาะเซนกากุในทะเลจีนตะวันออก และในตอนนี้ จีนกำลังลงโทษออสเตรเลียด้วยมาตรการทางเศรษฐกิจหลายรูปแบบเพื่อแสดงให้ออสเตรเลียเห็นว่าจีนไม่พอใจที่รัฐบาลแคนเบอรา แนะนำประชาคมโลกว่าควรตรวจสอบถึงต้นตอการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ยูเรเซีย กรุ๊ป ระบุว่า สิ่งที่ต้องจับตามองในอนาคตคือการทำข้อตกลงการค้าเสรีที่จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้หารือร่วมกันมานาน แต่ไม่มีความคืบหน้าเพราะปัญหาความตึงเครียดด้านภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างจีนและญี่ปุ่น และระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ แต่ทั้ง3ประเทศนี้อยู่ในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(อาร์เซ็ป)

"ความตกลงอาร์เซ็ป และข้อตกลงซีพีทีพีพี จะเป็นตัวผลักดันให้จีนเร่งบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และการทำเอฟทีเอไตรภาคีนี้จะรวมจีนเข้ามาอยู่ในระบบห่วงโซ่อุปทานของภูมิภาค ซึ่งจะเป็นการยากมากขึ้นสำหรับสหรัฐที่จะกดดันญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ให้ลดการทำการค้ากับจีนในอุตสาหกรมที่มีความอ่อนไหว อาทิ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และอุตสาหกรรมเครื่องมือที่ใช้ในการผลิตชิพ"รายงานของยูเรเซีย กรุ๊ป ระบุ

นอกจากนี้ ยูเรซีย กรุ๊ป ซึ่งมีฐานดำเนินงานอยู่ในนิวยอร์ก ยังให้ความเห็นเรื่องความตกลงซีพีทีพีพีว่าเป็นความตกลงที่มีความทะเยอะทะยานมากกว่าความตกลงอาร์เซ็ป ทั้งยังมีโอกาสน้อยมากที่จีนจะเข้าร่วมในเร็วๆนี้ เนื่องจากความตกลงซีพีทีพีพี เรียกร้องชาติสมาชิกให้ลดข้อกีดกันทางการค้ารูปแบบต่างๆ อาทิ ข้อมูลซึ่งเป็นหัวข้ออ่อนไหวสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีน และความตกลงนี้อาจจะห้ามให้มีการให้สิทธิพิเศษแก่บริษัทที่เป็นของรัฐบาล ซึ่งอาจจะสร้างความไม่พอใจอย่างมากแก่รัฐบาลจีน

ที่สำคัญ คาดการณ์กันว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐยังคงไม่ดีขึ้นแม้โจ ไบเดน จะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีแทนที่โดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งต้องการสร้างความมั่นใจว่า รัฐบาลชุดใหม่ของสหรัฐจะไม่เข้ามาเป็นผู้กำหนดกฏเกณฑ์ต่างๆบนถนนการค้า-การลงทุนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแห่งนี้

ยูเรเซีย กรุ๊ป คาดการณ์ว่า ภายใต้ภาวะแวดล้อมที่จีนมุ่งมั่นทำข้อตกลงเอฟทีเอกับญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมทั้งการลงนามความตกลงอาร์เซ็ปของจีนกับบรรดาชาติอื่นๆเมื่อไม่นานมานี้ จะทำให้จีนเป็นผู้เล่นสำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานโลกต่อไป แม้ขณะนี้จะมีบริษัทข้ามชาติหลายแห่งตัดสินใจย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปยังประเทศอื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการพึ่งพาระบบห่วงโซ่อุปทานในจีนมากเกินไป