‘สุภาบีฟาร์ม’ สู่เจนใหม่ ดึงนวัตกรรม-โซเชียลฯตอบธุรกิจ

‘สุภาบีฟาร์ม’ สู่เจนใหม่ ดึงนวัตกรรม-โซเชียลฯตอบธุรกิจ

‘สุภาบีฟาร์ม’ เผยรหัสลับกุญแจสู่ความสำเร็จ ส่งไม้ต่อจากรุ่นสู่รุ่น บุกเบิกสไตล์ธุรกิจใหม่ดึงนวัตกรรม-โซเชียลมีเดีย พลิกโฉมโปรดักท์และช่องทางการตลาด เข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างตรงจุด พร้อมเร่งกรุยทางสร้างคลัสเตอร์ผึ้ง หวังยกระดับธุรกิจ สู่ยุคนิวนอร์มอล

160623042832


ข้อมูลกรมส่งเสริมการเกษตรระบุปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการผลิตน้ำผึ้งของไทยอยู่ในอันดับที่ 36 ของโลก และอันดับ 2 ของอาเซียน (รองจากเวียดนาม) สามารถผลิตน้ำผึ้งได้ประมาณ 1 หมื่นตันต่อปี และส่งออกไปยังประเทศต่างๆ เช่น ไต้หวัน สหรัฐ อินโดนีเซีย แคนาดา และจีน จำนวนกว่า 7,900 ตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 616.59 ล้านบาท

 “สุภาฟาร์มผึ้ง” ผู้ผลิตน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งรายใหญ่ โดยมีการเลี้ยงผึ้ง 1,500-2,000 รัง กระจายอยู่ 20 จุดทั่วภาคเหนือในสวนลำไย สวนลิ้นจี่ และสวนไม้ดอกต่างๆ รวมผลผลิตประมาณ 200 ตันต่อปี จำหน่ายในประเทศ 90% และส่งออก 10% ไปญี่ปุ่น มาเลเซีย จีน และสิงคโปร์ แต่ปัจจุบันจะเน้นที่ญี่ปุ่นกับจีนในสัดส่วน 50:50 เนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุมีเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งพยายามจะเปิดตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและอินเดีย

ไขความลับ (ผึ้ง) สู่ความสำเร็จ

สุภาฟาร์มผึ้งก่อตั้งเมื่อปี 2528 โดย “สมบูรณ์-สุภา ยาวิเลิศ” สองสามีภรรยาที่ได้ศึกษาเรียนรู้การเลี้ยงผึ้งจากชาวไต้หวัน เริ่มจากอาชีพเสริมเพียง 10 รังภายในสวนลำไยของครอบครัว ต่อมาได้พัฒนามาเป็นอาชีพหลัก ขยายเพิ่มขึ้นจนปัจจุบันมีการเลี้ยงผึ้งประมาณ 2,000 รัง พร้อมด้วยจุดเด่นที่สร้างความแตกต่างคือ 1.เป็นผู้ประกอบการฟาร์มผึ้งเอง 2.มีการแปรรูปเอง และ 3.นำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้

จากรุ่นบุกเบิกถ่ายโอนมาสู่ทายาทรุ่น 2 สุวรัตนา ยาวิเลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุภาฟาร์มผึ้ง จำกัด ที่ต้องการสร้างแบรนด์น้ำผึ้งระดับพรีเมียมของคนไทย จึงได้จดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัทเพื่อเปิดโอกาสที่จะทำการวิจัยพัฒนาและร่วมรับการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ ตลอดจนการจัดทำมาตรฐานการรับรองต่างๆ ที่เอื้อต่อการส่งออกต่างประเทศ

160623044698


กระทั่งสถานการณ์โควิด-19 ได้ส่งผลให้รายได้ลดลงกว่า 70% แต่ในความโชคร้ายยังคงมีความโชคดี โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 1 จ.เชียงใหม่ ในโครงการแตกกอธุรกิจผ่านการจัดทำโมเดลธุรกิจใหม่ เพื่อขยายฐานลูกค้าจากกลุ่มผู้สูงอายุมาสู่กลุ่มคนวัยทำงาน โดยใช้แฟลตฟอร์มออนไลน์เป็นสื่อกลางของเครื่องมือในการขาย ทั้งการนำเสนอโปรโมชั่นผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ

ขณะเดียวกัน ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ให้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ทำการพัฒนา “ซีเรียลบาร์” จากน้ำผึ้งเป็นรายแรก โดยให้พลังงานชิ้นละ 130 กิโลแคลอรี เหมาะสำหรับนักกอล์ฟและผู้ที่ควบคุมแคลอรีอาหารสำหรับเป็นมื้อเช้า หรืออาหารว่างระหว่างวัน

สุวรัตนาตั้งเป้าไว้ว่าทุกปีจะต้องมีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมา แต่สิ่งสำคัญคือต้องฟังลูกค้าเพราะไม่เช่นนั้นสิ่งที่จะทำก็จะ “ผิดทาง” ขณะเดียวกันความท้าทายของการทำธุรกิจคือผลิตภัณฑ์ให้ความหวานทดแทนน้ำตาลในตลาดมีเยอะมาก อีกทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ สามารถทดแทนน้ำผึ้งและของที่เป็นธรรมชาติได้ ทำให้ต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่อยู่เสมอ

“ตำแหน่งทางการตลาดของเราถือเป็นนีชมาร์เก็ต มีช่องทางจำหน่ายในกลุ่มตลาดสุขภาพ เช่น ตลาดขายผักปลอดสารพิษ ช่องทางเพจที่เกี่ยวกับการรักสุขภาพ ดังนั้น คอนเทนท์หรือความรู้ที่สื่อไปถึงผู้บริโภคจึงต้องครบถ้วนผ่านการใช้สื่อออนไลน์ในการเข้าถึงผู้บริโภค”

160623046256

กรุยทาง‘คลัสเตอร์ผึ้ง’ภาคเหนือ

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม หรือคลัสเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือในระดับธุรกิจที่รวบรวมผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมเดียวกัน ก่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพภายในเครือข่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ขยายผลการขับเคลื่อนการผนึกกลุ่มผู้ประกอบการบนแนวคิด Cluster Hub คือ เชื่อมโยงอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพเชิงพื้นที่กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องและหน่วยงานสนับสนุน 

เพื่อให้เกิดการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น และเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน และปี 2564 กสอ.ตั้งเป้าส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์จากผึ้งให้เป็นคลัสเตอร์

160623064382

ปัจจุบันมีกลุ่มผู้เลี้ยงผึ้งส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกกว่า 1,215 ราย หากมีการรวมกลุ่มกันอย่างเหนียวแน่น แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการผลิตและได้รับการสนับสนุนนวัตกรรม/เครื่องจักรกลที่ทันสมัย เชื่อว่าจะสามารถวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับสรรพคุณของน้ำผึ้งหรือสารสำคัญที่มีเฉพาะในน้ำผึ้งจากประเทศไทย จะสามารถยกระดับคลัสเตอร์ผึ้งให้เทียบเท่ากับสมาคมในระดับนานาชาติได้ ทั้งยังต่อยอดสู่การนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยมาประยุกต์ใช้ และสามารถพัฒนาแล็บที่ช่วยวิเคราะห์ว่าน้ำผึ้งแท้หรือไม่ รวมถึงลดต้นทุนในการซื้ออาหารและก้าวสู่การเป็นสมาร์ทบีฟาร์ม 

160623058066

‘จีเอ็มพี’ มาตรฐานความน่าเชื่อถือ

แม้จะทำฟาร์มผึ้งเหมือนกัน แต่ไม่จำเป็นต้องมีผลิตภัณฑ์เหมือนกัน ดังนั้น ทางนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจะช่วยวิเคราะห์ถึงจุดเด่นของแต่ละรายและเป้าหมายในอนาคต เพื่อลดการแข่งขันในเรื่องราคา อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรอาจจะต้องเกี่ยวข้องกับปัจจัยธรรมชาติที่อาจจะควบคุมไม่ได้ ดังนั้น การที่จะทำให้น้ำผึ้งมีความเสถียรตลอดทั้งปี และทำให้ระบบการผลิตไม่ขัดสน จึงต้องมีการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง

ที่ผ่านมา เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ได้รวมกลุ่มรวบรวมน้ำผึ้งและช่วยกันจำหน่าย ตอบโจทย์ลูกค้าที่มีความต้องการจำนวนมาก โดยในแต่ละกลุ่มมีผึ้งไม่ต่ำกว่า 500 รัง ซึ่งสมาชิกในกลุ่มมีประมาณ 25 คน จึงมีผึ้งไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นรัง ถือได้ว่าเพียงพอตลอดทั้งปี 

ขณะที่แต่ละฟาร์มอาจจะมีมาตรฐานแตกต่างกัน ดังนั้น การควบคุมเพื่อให้ผลิตผลไปในทิศทางเดียวกันนั้นคือ จะต้องมี GMP หรือมาตรฐานการเกษตรของปศุสัตว์ ซึ่งแสดงถึงการมีความรู้การจัดการมาตรฐานผึ้ง ดังนั้นผลผลิตที่ได้ก็จะมีคุณภาพและไม่แปลกแยกกัน

“หากทำแค่ฟาร์มเดียวโอกาสยาก แต่หากมีการรวมกลุ่มเป็นคลัสเตอร์โอกาสจะเกิดขึ้นได้ง่าย และสามารถเพิ่มมูลค่าของน้ำผึ้งของคนไทยไปสู่ตลาดโลกได้ โดยจะเป็นการรวมกลุ่มในอุตสาหกรรมเกษตร และกลุ่มคนรักสุขภาพเป็นหลัก” สุวรัตนา กล่าว