'อาร์เอส' รุกธุรกิจเพลงระลอกใหม่ ผนึกศิลปินต่อจิ๊กซอว์ขายสินค้า

'อาร์เอส' รุกธุรกิจเพลงระลอกใหม่  ผนึกศิลปินต่อจิ๊กซอว์ขายสินค้า

ได้เวลา “อาร์เอส” ดึงจุดแข็ง “เพลง” ธุรกิจต้นน้ำบริษัท ต่อยอดการค้าขายสินค้า ปั้น 9 ศิลปินหน้าใหม่ จาก 3 ค่ายเพลง ทั้งโรสซาวด์ อาร์สยาม และกามิกาเซ่ เจาะทุกเซ็กเมนต์เพลงป๊อบ ลูกทุ่ง และเทรนดี้สร้างฐานแฟนทุกเพศทุกวัย สานต่อหน่วยธุรกิจใหม่ ปั๊มรายได้

นายสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทได้กลับมาขยายธุรกิจเพลงในเชิงรุกอีกครั้ง จากหลายปีที่ผ่านมาค่อนข้างเงียบ และ 4-5 ปีก่อน เน้นเพียงการทำเพลงลูกทุ่ง ผ่านค่ายเพลงอาร์สามเท่านั้น แต่หากดูจุดแข็งและการตั้งต้นบริษัทเกิดมาจากธุรกิจเพลง เป็นกิจการต้นน้ำ มีการปรับตัวตลอดเวลา เพื่อรับกับสภาพแวดล้อม การแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป

ทั้งนี้ การบุกธุรกิจเพลงอีกครั้ง ได้ปัดฝุ่น 3 ค่ายเพลงระดับตำนาน ประกอบด้วย โรสซาวด์ อาร์สยาม และกามิกาเซ่ เอาใจแฟนคลับ พร้อมปั้นศิลปินใหม่ 9 ชีวิต ที่มีความสามารถด้านการร้อง มีตัวตน และไลฟ์สไตล์ที่ชัดเจนโดดเด่น มีฐานแฟนคลับที่มีส่วนร่วมหรือเอนเกจเมนต์สูงมาทำเพลงต่อยอดธุรกิจ ได้แก่ โฬม จากอาร์สยาม, 4 ศิลปินเลือดใหม่ ริศา, ติม, ดนุ มาร์ค, และมิวสิค จากค่ายโรสซาวด์ มาในแนวเพลงเทรนดี้ ศิลปินเรุ่นใหม่ 4 คน ทั้ง FRESHYBII, UTTER, KKP และ GRACY จากค่ายกามิกาเซ่ โดยแต่ละคนมีระยะสัญญาราว 8 ปี

160622332920

9 ศิลปินใหม่ "อาร์เอส"

“อาร์เอสไม่เคยหยุดทำเพลง เราทำมาตลอดเพราะเป็นรากฐาน ธุรกิจต้นน้ำของบริษัท แต่ครั้งนี้กลับมารุกหนักกว่าเดิมภายใต้โมเดลสตาร์คอมเมิร์ซ มิวสิค และรูปแบบการทำธุรกิจเพลงยังเป็นเหมือนเดิม คือศิลปินจะเป็นผู้ลงทุนทำเพลง คอนเทนท์  ส่วนบริษัทจะช่วยบริหารจัดการด้านต่างๆต่อยอดสร้างรายได้”

สำหรับการทำเพลงในอดีตใช้งบลงทุนด้านคอนเทนท์ ทั้งแต่งเพลง สร้างมิวสิควีดิโอ (เอ็มวี) ประมาณ 5 แสนบาท แต่งบประมาณที่ใช้ในการทำตลาด โปรโมทศิลปินสูงถึงหลัก 10-20 ล้านบาท ทุกการนำเสนอเพลงสู่สายตาผู้บริโภคล้วนเป็นค่าใช้จ่าย แต่ปัจจุบันงบลงทุนทำเพลงต่ำลงเหลือประมาณ 2-5 แสนบาท ขณะที่การโปรโมทปล่อยเพลงให้ผู้ฟังผ่านยูทูป การสตรีมมิ่ง กลับสร้างรายได้ทั้งหมด 

ด้านกลยุทธ์ สิ่งแรกในการทำตลาดเพลงเชิงรุก คือการผลักดันให้ศิลปินเป็นซูเปอร์อินฟลูเอนเซอร์ สร้างฐานแฟนที่เอนเกจเมนต์สูงมากกว่าการโฟกัสจำนวนผู้ติดตามบนโลกออนไลน์ เพื่อหารายได้จากการสตรีมมิ่ง ยอดวิว ตลอดจนการเป็นพรีเซ็นเตอร์ ขณะที่เป้าหมายสูงสุดจะร่วมมือกันสร้างหน่วยธุรกิจหรือบิซิเนส ยูนิตกับศิลปิน และแบ่งรายได้กัน รวมถึงการต่อจิ๊กซอว์ให้กับโมเดลธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมิร์ซของอาร์เอสเติบโตขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม อาร์เอสดำเนินธุรกิจเข้าสู่ปีที่ 40 อดีตรายได้ของอาณาจักรมาจากเพลงกว่า 90% และบริษัทเคยมีศิลปินสูงสุดถึง 500 ชีวิต แต่ปัจจุบันมีศิลปินเพียง 20 กว่าชีวิตเท่านั้น โดยมีนักร้องหน้าใหม่ 9 คนที่เพิ่มเข้ามา ส่วนรายได้เพลงในปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 7% หรือกว่า 200 ล้านบาท แต่ความสามารถในการทำกำไรขั้นต้นของเพลงสูงสุดกว่า 60% ตามด้วยการขายสินค้า

“ตลาดเพลงมีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท การสร้างรายได้มาจากหลายมิติ ทั้งสตรีมมิ่ง ยอดการรับชม การบริหารจัดการลิขสิทธิ์ ต่างจากอดีตมาจากการจำหน่ายเทป ซีดีเท่านั้น และการกลับมารุกธุรกิจเพลง บริษัทเชื่อว่าจะสร้างการเติบโตต่อเนื่อง แต่สัดส่วนรายได้อาจไม่เปลี่ยนแปลง เพราะธุรกิจอื่นๆจะเติบโตควบคู่กันไป”