นักวิชาการแนะรัฐอัดงบ ดันไทยขึ้นฮับโลจิสติกส์

นักวิชาการชี้อุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง หลังโควิด -19 สร้างโอกาสธุรกิจออนไลน์โต รัฐอัดงบสร้างโครงข่ายคมนาคม และอีอีซี หนุนขนส่งเชื่อมเพื่อนบ้าน ดันไทยขึ้นฮับโลจิสติกส์เต็มตัว
ดร.ฉัตรรัตน์ โหตระไวศยะ รักษาราชการแทนคณบดี วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เปิดเผยว่า ปัจจุบันธุรกิจโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 หากเทียบความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับอีกหลายอุตสาหกรรมด้วยกัน
ในทางกลับกันโควิด -19 ยังเป็นโอกาสทำให้โลจิสติกส์กลายเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยม และมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโลจิสติกส์ภายในประเทศที่ปรับตัวเป็นธุรกิจด้านเทคโนโลยี มีต้นทุนไม่สูง แต่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะผู้บริโภคปรับพฤติกรรมเปิดรับออนไลน์และนิยมสั่งอาหาร สั่งสินค้า ใช้บริการโลจิสติกส์ออนไลน์มากขึ้น
ทั้งนี้ แนวโน้มการขยายตัวอย่างอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชนในปี 2564 ประเมินว่าจะมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการจะปรับตัวสู่การทำธุรกิจโลจิสติกส์ออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้การผลิตบุคลากรเพื่อตอบรับกับเทรนด์ดังกล่าว ต้องเร่งมือเพิ่มองค์ความรู้ด้านออนไลน์และการสร้างแพลตฟอร์มเพื่อนำไปปฏิบัติได้จริง อีกทั้งภาครัฐและเอกชนต้องประสานความร่วมมือเพื่อสร้างบุคลากรให้ทันต่อความต้องการของตลาด
ดร. มะโน ปราชญาพิพัฒน์ ในฐานะ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและบริการวิชาการด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน กล่าวว่า ไทยมีศักยภาพพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) ด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนของภูมิภาค ด้วยปัจจัยบวกด้านภูมิประเทศที่อยู่กึ่งกลางของการเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งในปัจจุบันรัฐบาลเร่งลงทุนโครงข่ายคมนาคมทุกระบบ จึงถือเป็นโอกาสของการสนับสนุนไทยเป็นฮับด้านโลจิสติกส์อย่างสมบูรณ์
“ตอนนี้จีนซึ่งเป็นตลาดการค้ารายใหญ่ของโลก ได้สร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อมายังเพื่อนบ้านของเราอย่างลาวแล้ว และไทยก็มีเส้นทางรถไฟและทางถนนที่สามารถเชื่อมต่อการขนส่งจากลาวผ่านทางหนองคาย เข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังได้ นี่จึงเป็นโอกาสของการตอกย้ำว่าไทยเราเป็นฮับด้านโลจิสติกส์”
อย่างไรก็ดี ผลพวงจากการลงทุนโครงข่ายคมนาคมของรัฐบาล ที่กำลังเร่งมือก่อสร้างระบบรางและถนน ใช้เชื่อมต่อมาสู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จากชายแดนต่างๆ จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์มีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง และจะกลายเป็นส่วนหลักของการสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ เป็นส่วนสำคัญผลักดันผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ (จีดีพี) มากกว่าภาคการท่องเที่ยวที่มีปัจจัยภายนอกกระทบได้
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือต่อการเติบโตในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์และซัพพลายเชน วิทยาลัยฯ จึงเปิดตัว “หลักสูตรผู้นำและผู้บริหารระดับสูงของอุตสาหกรรมผู้ให้บริการโลจิสติกส์ และซัพพลายเชน (บลส.๑)” สัมมนาหลักสูตรระดับสูง ทางด้านบริหารจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เพื่อเร่งพัฒนาและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน
'เราชนะ' เช็คสิทธิ์ คุณสมบัติ ลงทะเบียน เตรียมรับเงินเยียวยาโควิด 7,000 บาท
'ออมสิน' เริ่มลงทะเบียน 'สินเชื่อเสริมพลังฐานราก' ผ่าน MyMo เคยกู้ฉุกเฉินแล้ว ก็กู้อีกได้
ทั่วโลก ‘บ้าน’ จะขึ้นราคา ยกเว้น ‘ไทย’ อาจตกหนัก!
'เราชนะ' กลุ่ม 'เกษตรกร' ต้องรู้ ไม่ใช่ทุกคนมีสิทธิ อ่านหลักเกณฑ์ให้ชัด!
‘ดาวโจนส์’ดิ่ง 179 จุด
มอง OR ผ่านสายตา 'อรรถพล' หวัง ปตท. โฮลดิ้งครบเครื่อง