'สมาคมสิทธิและเสรีภาพประชาชน' แนะ 8 ข้อเรียกร้อง หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า

'สมาคมสิทธิและเสรีภาพประชาชน' แนะ 8 ข้อเรียกร้อง หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า

"สมาคมสิทธิและเสรีภาพประชาชน" จี้รัฐบาลเปิดพื้นที่ปลอดภัย ยับยั้งการปะทะ เรียกร้องทุกฝ่ายเจรจา-ยึดหลักขันติธรรม

สมาคมสิทธิและเสรีภาพประชาชน ออกแถลงการณ์ เรื่อง "เรียกร้องทุกฝ่ายใช้หลักขันติธรรม หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า หันมาเปิดการเจรจากันโดยเร็ว" โดยมีเนื้อหาระบุว่า สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อแสดงความเห็นต่าง วิพากษ์ วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลรวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารและการพัฒนาประเทศ เป็นหัวใจสำคัญของสังคมประชาธิปไตย เป็นสิทธิและเสรีภาพที่ได้รับการปกป้องคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย .. 2560 และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีและต้องปฏิบัติตาม การที่คณะราษฎรได้รวมตัวกันชุมนุมเพื่อเรียกร้องสามประเด็นนั้น เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ โดยเฉพาะเมื่อกลไกการปกครองและการได้มาซึ่งรัฐบาลที่ไม่ได้มาตามวิถีทางประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงเป็นที่มาของการชุมนุมยืดเยื้อยาวนาน

การชุมนุมที่ผ่านมาของกลุ่มคนหลายกลุ่มรวมถึงเยาวชนคณะราษฎรเป็นเวลาหลายเดือน เป็นไปโดยความสงบ สามารถควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปอย่างสันติ และยุติการชุมนุมตามกำหนดเวลาในทุกครั้ง  การชุมนุมของแต่ละฝ่ายจะราบรื่นได้ก็ต่อเมื่อไม่มีการมุ่งทำลายล้างการชุมนุมของกันและกัน หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า ไม่สร้างสถานการณ์ ใส่ร้ายป้ายสี ปลุกปั่น ทำให้เกิดการเข้าใจผิด ไม่ใช้วาจาหยาบคายลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง แตกแยกร้าวลึก เป็นเหตุให้ไม่สามารถยับยั้งการใช้ความรุนแรงได้

เมื่อรัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและสมาชิกทั้งสองสภาส่วนใหญ่ยังขลาดกลัวกับการประชุมออกเสียงเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ด้วยการงดออกเสียงจำนวนมาก ทำให้เห็นว่าสมาชิกในสภาไม่ต้องการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เอาตัวรอด หรือไม่เห็นความสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนฉบับเดียวที่ไอลอร์เป็นสื่อกลางให้กับประชาชนนับแสนคนแสดงเจตนารมณ์ภายใต้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 (4) จึงเป็นที่น่าเสียดายที่สมาชิกทั้งสองสภาปล่อยให้โอกาสของการนำประเด็นขัดแย้งนอกสภาที่มีเนื้อหาอยู่ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับเขามาพูดคุยหาข้อยุติในสภาได้ ซึ่งเท่ากับเป็นการผลักให้ความขัดแย้งนอกสภาดำเนินต่อไปและอาจจะรุนแรงมากกว่าเดิม

ที่หนักไปกว่านั้นก็คือ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังออกมาให้สัมภาษณ์ซ้ำเติมสถานการณ์ให้ดูน่าห่วงใยมากขึ้นโดยออกแถลงการณ์ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ประกาศบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมาย เสมือนเป็นการปิดประตูการต่อรองและการแสดงออกเกือบทุกด้าน ทำให้เข้าใจได้ว่าวิธีการดังกล่าวเป็นการท้าทายให้ผู้ชุมนุมต้องหันมายกระดับการชุมนุมเรียกร้องให้คนในสภาสนใจประเด็นเนื้อหาในข้อเรียกร้องของตน

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ที่อาจจะพัฒนาเลวร้ายยากต่อการควบคุม ขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้

1. ขอให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของการเปิดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้มีการเจรจาหารือในรายละเอียดดังที่มีการเรียกร้องเสนอแนะจากคนในสังคมทุกระดับมาแล้ว

2. ไม่มองเยาวชนและผู้ที่มาชุมนุมเป็นอาชญากรที่ต้องจัดการด้วยกฎหมายเสมอไป แต่คำนึงถึงที่มาของการชุมนุมว่ามาจากเหตุผลประการใด มีเจตนาดีกับการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย มีอารยะหรือไม่

3. ต้องยุติการข่มขู่คุกคามและการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้ชุมนุม รวมถึงระงับยับยั้งการกระทำใดที่จะก่อให้เกิดการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มผู้ชุมนุม หรือระหว่างผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่ายด้วยกันเอง

4. ขอให้รัฐบาลอำนวยความสะดวกให้ประชาชนทุกฝ่ายสามารถชุมนุมได้อย่างสงบ สันติและปลอดภัย และ

ให้ชดเชยเยียวยาให้ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ที่พยายามสลายการชุมนุมโดยไม่เลือกปฏิบัติ

5. ขอให้ผู้ชุมนุมทุกฝ่ายไม่ใช้วาจาหยาบคาย ดูถูก เหยียดหยาม ลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ทำลายทรัพย์สิน หรือใช้ความรุนแรง และไม่ผลิตข่าวลวง ข่าวเท็จ ข่าวปล่อย มีความอดทนอดกลั้น

6. ขอให้รัฐบาลดำเนินการทางกฎหมายและทางวินัยกับเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับความเสียหายแก่กายหรือจิตใจ

7. ขอให้เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม โดยเฉพาะพนักงานสอบสวน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม สมเหตุสมผล และขอให้พนักงานอัยการตรวจสอบสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนโดยเคร่งครัด เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ชุมนุม

8. ขอวิงวอนให้ศาลในฐานะที่เป็นกลไกอิสระทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักนิติธรรม ไม่ใช้อำนาจในการตรวจสอบการขอหมายค้น หมายจับ และหมายขังโดยพนักงานสอบสวนในลักษณะที่เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็น และไม่ยินยอมให้รัฐบาลแทรกแซง หรือใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ด้วยความเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชนและหลักการประชาธิปไตย