'โลก' สูญรายได้ 'ภาษี' 13 ล้านล้านบาทต่อปี เงินส่วนนี้ไปซุกที่ไหน?

'โลก' สูญรายได้ 'ภาษี' 13 ล้านล้านบาทต่อปี เงินส่วนนี้ไปซุกที่ไหน?

ข้อมูลที่น่าตกใจล่าสุด พบว่า หลายประเทศทั่วโลกสูญรายได้ภาษีรวมปีละกว่า 4.27 แสนล้านดอลลาร์ หรือเกือบ 13 ล้านล้านบาท ทั้งจากการเลี่ยงภาษีนิติบุคคลระหว่างประเทศและการเลี่ยงภาษีส่วนบุคคล ถามว่าเงินส่วนนี้หายไปซุกที่ไหน?

เมื่อเร็ว ๆ นี้ “เครือข่ายความยุติธรรมด้านภาษี” (Tax Justice Network) หรือ ทีเจเอ็น เผยแพร่รายงานประจำปีฉบับแรกชื่อ State of Tax Justice ซึ่งเกี่ยวกับการหลบเลี่ยงภาษีทั่วโลก พบว่า รัฐบาลทั่วโลกสูญรายได้ภาษีรวมกว่า 4.27 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 12.96 ล้านล้านบาทต่อปี

ทีเจเอ็นเป็นเครือข่ายระหว่างประเทศที่มีภารกิจหลัก คือ ตรวจสอบการเลี่ยงภาษีของคนรวย โดยศึกษาและรวบรวมข้อมูลจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่าง ๆ อย่าง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ธนาคารโลก และข้อมูลจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ

สำหรับเงินก้อนมหาศาล 4.27 แสนล้านดอลลาร์ที่หายไปนี้ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ 2.45 แสนล้านดอลลาร์ที่สูญเสียโดยตรงจากการโยกผลกำไรไปดินแดนปลอดภาษี (Tax Havens) ของบรรดาบริษัทข้ามชาติ

อีกส่วนคือ 1.82 แสนล้านดอลลาร์ที่สูญเสียจากการหลบเลี่ยงภาษีส่วนบุคคลผ่านการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินนอกประเทศ

 

  • ประเทศเล็ก-ใหญ่ ใครเจ็บกว่า

เมื่อจำแนกตามรายได้เฉลี่ยของประชากรในประเทศ พบว่า “กลุ่มประเทศรายได้สูงกว่า” สูญรายได้ภาษีรวมกัน 3.82 แสนล้านดอลลาร์ในทุก ๆ ปี ขณะที่ “กลุ่มประเทศรายได้ต่ำกว่า” สูญรายได้ภาษีรวมกัน 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ในแต่ละปี

อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มประเทศรายได้ต่ำกว่าสูญรายได้ภาษีจำนวนน้อยกว่า แต่กลับได้รับผลกระทบหนักกว่า เนื่องจากจัดเก็บภาษีในอัตราต่ำกว่า กล่าวคือ รายได้ภาษีทั้งหมดที่กลุ่มประเทศรายได้ต่ำกว่าเก็บได้ในแต่ละปีหายไป 5.8% จากการหลบเลี่ยงภาษีเหล่านี้

ขณะที่กลุ่มประเทศรายได้สูงกว่าได้รับผลกระทบจากการเลี่ยงภาษีน้อยกว่า โดยรายได้ภาษีหายไปเฉลี่ย 2.5% ต่อปี

 

  • ภาษีล้านล้านหายไปอยู่ไหน

5 ดินแดนหรือประเทศที่ครองสัดส่วนแหล่งซุกภาษีของประเทศอื่นมากที่สุดในโลกตามรายงานของทีเจเอ็น นำโดยหมู่เกาะเคย์แมน แดนสวรรค์อันเลื่องชื่อสำหรับจอมเลี่ยงภาษี ซึ่งครองสัดส่วนภาษีที่หายไปทั่วโลกถึง 16.5% คิดเป็นกว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์

160616560656

อันดับ 2 คือ สหราชอาณาจักร ครองสัดส่วน 10% รวมกว่า 4.2 หมื่นล้านดอลลาร์ อันดับ 3 คือเนเธอร์แลนด์ สัดส่วน 8.5% รวมกว่า 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์ อันดับ 4 ลักเซมเบิร์ก สัดส่วน 6.5% รวมกว่า 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์ และอันดับ 5 คือเศรษฐกิจเบอร์ 1 ของโลกอย่างสหรัฐ ที่ครองสัดส่วน 5.53% รวมกว่า 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์

นอกจากนี้ 37.4% ของรายได้ภาษีที่หายไปทั่วโลกเกี่ยวข้องกับสหราชอาณาจักร ซึ่งรวมถึงบรรดาดินแดนโพ้นทะเลอย่างหมู่เกาะเคย์แมน และดินแดนปกครองครองตนเองซึ่งอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสหราชอาณาจักร

ขณะที่ 55.4% ของเงินภาษีที่หายไปทั่วโลกไปซุกอยู่กับกลุ่มมหาอำนาจดินแดนเลี่ยงภาษี เช่น สหราชอาณาจักรและดินแดนในเครือ เนเธอร์แลนด์ ลักเซมเบิร์ก และสวิตเซอร์แลนด์

ขณะเดียวกัน เนื่องจากปีนี้มีการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่คร่าชีวิตผู้ป่วยไปแล้วกว่า 1 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งกลุ่มคนที่ทำงานหนักที่สุดย่อมหนีไม่พ้นบุคลากรทางการแพทย์ที่ควรได้รับค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม ทีเจเอ็นจึงนำตัวเลขรายได้ภาษีที่หายไปมาเทียบเคียงกับรายได้เฉลี่ยของบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกในแต่ละปี

160616577111

ข้อมูลที่น่าหดหู่ใจชี้ว่า เม็ดเงินภาษีที่หายไป 4.27 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นเงินเดือนของบุคลากรทางแพทย์เกือบ 34 ล้านคนต่อปี หรือเท่ากับว่าจะมีบุคลากรทางการแพทย์ 1 คนสูญเสียเงินเดือนทั้งปี ในทุก ๆ 1 วินาที

 

  • ระบบที่ออกแบบมาเพื่อล้มเหลว

อเล็กซ์ ค็อบแฮม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของทีเจเอ็น บอกว่า ระบบภาษีโลกที่สูญเงินกว่า 4.27 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ไม่ใช่ระบบที่ไม่สมบูรณ์ แต่เป็นระบบที่ถูกออกแบบมาเพื่อล้มเหลวตั้งแต่ต้น

“ภายใต้แรงกดดันจากบริษัทยักษ์ใหญ่และมหาอำนาจดินแดนปลอดภาษีอย่างเนเธอร์แลนด์และสหราชอาณาจักร รัฐบาลของเราจึงต้องออกแบบระบบภาษีที่ให้ความสำคัญอันดับแรกต่อบริษัทและบุคคลที่มั่งคั่ง มากกว่าความต้องการของคนกลุ่มอื่น”

ค็อบแฮม ย้ำว่า ตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่ทุกฝ่ายต้องปรับระบบภาษีโลกใหม่ เพื่อให้ความสำคัญอันดับแรกต่อเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชน มากกว่าความต้องการของกลุ่มคนหรือบริษัทมั่งคั่งที่เอาแต่คิดหาวิธีเลี่ยงภาษี

บางคนอาจคุ้นชื่อของ ทีเจเอ็น อยู่บ้าง เนื่องจากองค์กรนี้เคยรายงานดัชนีความลับทางการเงิน (Financial Secrecy Index) เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ระบุว่า “ไทย” เป็นแหล่งฟอกเงินที่มีดัชนีความลับทางการเงินอยู่ที่ 448.86 ติดอันดับ 17 จาก 133 ประเทศทั่วโลก และอันดับ 2 ในอาเซียน เป็นรองเพียงสิงคโปร์

ขณะที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยืนยันมาตลอดว่า ได้กำกับดูแลและตรวจสอบสถาบันการเงินให้มีกระบวนการป้องกันความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินอย่างใกล้ชิด หากพบธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย จะรายงานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) โดยทันที

-----------------

อ้างอิง: รายงาน State of Tax Justice 2020 (ฉบับเต็ม)