โค้งอันตราย 'คณะราษฎร' วัดพลัง 'อหิงสา-สันติวิธี'

โค้งอันตราย 'คณะราษฎร'  วัดพลัง 'อหิงสา-สันติวิธี'

การประกาศร่วมเป็นพันธมิตรของ 'เสื้อแดง-คณะราษฎร' เป็นหมุดหมายสำคัญก่อนถึงศึกสำคัญวันที่ 25 พ.ย.ว่ามีแนวทางการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามอย่างไร ในยามที่ฝ่ายตำรวจและรัฐบาลเล่นบทตั้งรับเต็มรูปแบบ

เป็นเวลาเกือบ20ปีแล้วสำหรับประเทศไทยที่จะพบวงจรแห่งการชุมนุมสลับสีเสื้อกันไป ตั้งแต่ 'เสื้อเหลือง-เสื้อแดง-กปปส.' จนมาถึง 'คณะราษฎร' สามม็อบแรกคนไทยได้เห็นบทสรุปไปแล้วว่าลงเอยอย่างไร แต่สำหรับคณะราษฎรนั้นยังเป็นคำถามที่ใครหลายๆคนกำลังหาคำตอบ

วงจรชีวิตของม็อบคณะราษฎรตั้งแต่19 ก.ย.เป็นต้นมา เรียกได้ว่าเหมือนกราฟชีวิตคนหนึ่งคนที่มีช่วงขึ้นสุดและลงสุด หากจะบอกว่าช่วงไหนที่กราฟชีวิตคณะราษฎรขึ้นสูงสุดเห็นจะเป็นเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา เพราะเวลานนั้นมีหลายฝ่ายออกมากดดันให้รัฐบาลยุติการใช้กำลังจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุม ก่อนที่รัฐบาลจะต้องล่าถอยและเลิกใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 ในเวลาต่อมา

พลันที่รัฐบาลเริ่มถอย พร้อมกับการคืนอิสรภาพให้กับแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมทั้ง 'เพนกวิน-รุ้ง-อานนท์' กราฟชีวิตของคณะราษฎรก็อยู่เป็นตรงระนาบอย่างเห็นได้ชัด โดยการชุมนุมยังพอมีให้เห็นประปรายอยู่บ้าง แต่ก็ยังไปไม่ถึงจุดพีคที่เคยทำได้เหมือนวันที่ 19 ก.ย. 14 ต.ค. หรือ 16 ต.ค. แม้แต่กลุ่มผู้สนับสนุนก็ยังออกมาแสดงความคิดเห็นว่าการชุมนุมแบบ "เดี๋ยวนัด เดี๋ยวเลิก" จะนำพามวลชนไปสู่ชัยชนะได้อย่างไร

ด้วยเหตุนี้เองม็อบที่เคยประกาศว่าไม่มีแกนนำ สุดท้ายก็ต้องมีหัวออกมานำให้เห็น ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์การชุมนุมที่หน้าอาคารรัฐสภาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยปรากฎภาพ 'เพนกวิน' ใส่เสื้อเกราะมาชุมนุมที่หน้าสภา พร้อมประกาศนำมวลชนไปราชประสงค์ ถนนอักษะ และต่อด้วยนัดสำคัญวันที่ 25 พ.ย.ที่หน้าสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

ทั้งนี้ เมื่อสำรวจภาพรวมของการชุมนุมที่ผ่านมาจะพบว่าการชุมนุมของคณะราษฎรที่มักจะบอกว่า "ทะลุเพดาน" ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าทะลุเพดานไปไกลจริงๆ

เริ่มตั้งแต่การชุมนุมที่ราชประสงค์ที่นำมาสู่การสาดสีหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพียงแค่การสาดสีอาจพอเรียกได้ว่าเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ แต่กับการใช้สเปรย์สีพ่นข้อความบางข้อความลงบนถนนที่กระทบต่อศูนย์รวมจิตใจของคนไทย แน่นอนว่าย่อมไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการกระทำของนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 

เรื่อยมาจนถึงการชุมนุมที่ถนนอักษะเมื่อวันที่ 22 พ.ย. ก็มีการแสดงออกถึงนัยทางการเมืองเช่นกัน คือ การประกาศร่วมม็อบคณะราษฎรของกลุ่มเสื้อแดงในนาม "แดงก้าวหน้า 63"

ถนนอักษะกับคนเสื้อแดงนั้นมีความหลังฝังใจกันพอสมควร กล่าวคือ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 คนเสื้อแดงถูกทหารสลายการชุมนุมภายหลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกเวลานั้นประกาศยึดอำนาจ โดยที่ผ่านมามวลชนเสื้อแดงและคณะราษฎรต่างได้เคลื่อนร่วมกันมาหลายครั้งนับตั้งแต่การชุมนุม 19ก.ย. แต่สำหรับเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมาถือเป็นครั้งแรกที่กลุ่มคนเสื้อแดงได้ประกาศร่วมรบอย่างเป็นทางการ

การประกาศร่วมเป็นพันธมิตรของ 'เสื้อแดง-คณะราษฎร' จึงเป็นหมุดหมายสำคัญก่อนถึงศึกสำคัญวันที่ 25 พ.ย.ว่ามีแนวทางการต่อสู้กับฝ่ายตรงข้ามอย่างไร ในยามที่ฝ่ายตำรวจและรัฐบาลเล่นบทตั้งรับเต็มรูปแบบ ไม่ห้าม ไม่ขวาง ปล่อยให้ม็อบปล่อยพลังเต็มที่ เพื่อเก็บรวบรวมหลักฐานไว้เช็คบิลทีเดียวตามกฎหมายทุกมาตราแทน

เหลือแต่ม็อบคณะราษฎรและม็อบเสื้อแดง ซึ่งมีความหลังคาใจมาจากเหตุการณ์ปี 2553 จะอดทนกับแนวทาง 'สันติวิธี-อหิงสา' ได้นานแค่ไหน