'สินค้าจำเป็น' ขายออนไลน์โต 5 เท่า แนะเร่งปรับกลยุทธ์รับเทรนด์สะดวก!

'สินค้าจำเป็น' ขายออนไลน์โต 5 เท่า แนะเร่งปรับกลยุทธ์รับเทรนด์สะดวก!

โรคโควิด-19 เป็น “ปฏิกิริยาเร่ง” ให้หลายอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างมาก หนึ่งในนั้นคือพฤติกรรมการชอปปิงของผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าเพียง "คลิก" ด้วยปลายนิ้วผ่านโลกออนไลน์ ผู้ขายยกทัพสินค้าไปอยู่บนหน้าร้านอีคอมเมิร์ซ โซเชียลคอมเมิร์ซ เว็บไซต์ หลากหลายแพลตฟอร์ม

ขณะที่สินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG) มูลค่าราว 9 แสนล้านบาท ซึ่งปีนี้ได้รับผลกระทบจากหน้าร้านปิดให้บริการช่วงล็อคดาวน์ ยอดขายจึงหดตัวรุนแรงเป็นประวัติการณ์ ช่องทางออฟไลน์ค้าขายลำบาก แต่ช่องออนไลน์กลับโตมาก

160615338765

ภรวดี    พรมิ่งมาศ   ผู้อำนวยการ หัวหน้าทีมฝ่ายข้อมูลเชิงลึกผู้บริโภค บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยรายงาน “Spot It Right: เจาะลึกโอกาสในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ” โดยภาพใหญ่ของตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์หลายประเทศทั่วโลกมีการเติบโตถ้วนหน้า เช่น สหรัฐ โต 5.7 เท่า ชิลี 294 เท่า อิตาลี 16.2 เท่า เกาหลีใต้ 6.1 เท่า อินเดีย 15.7 เท่า

ส่วนไทยการซื้อสินค้าจำเป็นผ่านออนไลน์มีการเติบโตสูงถึง 5 เท่าตัว เมื่อเทียบช่องทางออฟไลน์ จำนวนผู้ใช้บริการเติบโต 50% และการใช้จ่ายโตถึง 2 เท่า เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน

นอกจากนี้ หลังโควิดผู้บริโภคยังซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านออนไลน์มากขึ้นเป็น 89% จากช่วงก่อนไวรัสระบาดมีราว 66% และความถี่เพิ่มการซื้อสินค้าสัปดาห์และครั้งราว 45% ซื้อถี่หลายครั้งต่อสัปดาห์ 44% โดยพฤติกรรมการชอปปิงของผู้บริโภคในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดแตกต่างกัน 

คนกรุงฯ ช้อปสินค้าจำเป็นผ่านออนไลน์ถี่ขึ้น 22% แต่การซื้อต่อบิลกลับลดลง 14% สวนทางคนต่างจังหวัดความถี่ในการซื้อสินค้าลดลง 22% แต่ยอดการจับจ่ายใช้สอยต่อครั้งมากถึง 19% ดังนั้นนักการตลาดจะต้องนำเสนอสินค้าและบริการ ตลอดจนโปรโมชั่นให้ตรงกับพฤติกรรมการช้อปและเงินในกระเป๋ากลุ่มเป้าหมายด้วย 

160615294822

ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคหมวดที่มาแรง ขายดีผ่านออนไลน์ช่วง 7 เดือนแรกปี 2563 เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน คืออาหารและเครื่องดื่ม จากก่อนหน้านี้เป็นสินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวต่างๆ หากเจาะลึกกลุ่มอาหารแห้งเติบโตถึง 244% เครื่องปรุงรสโต 87% และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปโต 30% ยิ่งกว่านั้น 8 ใน 10 สินค้ายอดนิยม เป็นอาหารและเครื่องดื่มทั้งสิ้น เช่น ข้าวสาร อาหารสด น้ำดื่ม พุดดิ้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โดยมีสินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล เช่น สบู่เหลว และผ้าเช็ดทำความสะอาดผิวแบบเปียกแทรกตัวมาได้ เนื่องจากเป็นสินค้าเกี่ยวกับการดูแลสุขอนามัยในช่วงโควิด

อย่างไรก็ตาม ช่องทางจำหน่ายที่ผู้บริโภคเปลี่ยนจากออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์มากสุด คือการโยกจากห้างค้าปลีกสมัยใหม่ราว 38%

160615300639

โควิดระบาดถือเป็นปฏิกิยาเร่งให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านออนไลน์มากขึ้น และกลุ่มสินค้าที่เป็นอาหารและเครื่องดื่มเป็นตัวขับเคลื่อนการเติบโตซึ่งมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 78% จากปีก่อนอยู่ที่ 76% โดยสินค้าดาวรุ่ง ได้แก่ อาหารแห้ง เครื่องปรุงรส บะหมี่ฯ นักการตลาดต้องเกาะติดให้ดี เพราะเป็นตลาดที่โตสูงมาก

ไม่เพียงเพราะไวรัสร้ายเท่านั้นที่เร่งให้ผู้บริโภคช้อปสินค้าจำเป็นผ่านออนไลน์ ยังมีเหตุผลอื่นประกอบ เช่น การซื้อผ่านออนไลน์มีความสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องต่อคิว อีกทั้งสินค้ามีความหลากหลายมากขึ้น รวมถึงโปรโมชั่นเด็ดๆ 10.10 11.11 เพราะผู้บริโภคที่ช้อปช่องทางดังกล่าวจะเปรียบเทียบราคา41% ค้นหาโปรโมชั่นที่เหมาะสม 40% เป็นต้น

แม้การช้อปออนไลน์มาแรง แต่การไปซื้อสินค้าหน้าร้านยังเป็นสัดส่วนที่ใหญ่กว่า และผู้บริโภคยังช้อปช่องทางเดิมเพราะความคุ้นเคย ต้องการออกไปใช้ชีวิตนอกบ้าน เลี่ยงค่าจัดส่ง การรอสินค้า รวมถึงต้องการสัมผัสร้าน สินค้า และมีประสบการณ์จริง หากแบรนด์จะยกระดับแพลตฟอร์มค้าขายสู่ดิจิทัล ต้องสร้างสรรค์ ใช้เทคโนโลยีต่างๆเพื่อตอบโจทย์นักช้อปให้โดนใจด้วย มีโปรโมชั่นดี หรืออาจเอ็กซ์คลูสีพเสิร์ฟลูกค้าโดยเฉพาะ

160615320268

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะชอปปิงผ่านออฟไลน์หรือออนไลน์ แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการห้ามละเลยคือเรื่องความสะอาด สุขอนามัย เพราะผู้บริโภคยังคงตระหนักถึงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เราเห็นปัจจัยที่ดึงดูดผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าจำเป็นผ่านออนไลน์และรู้ว่ายังมีอุปสรรคอีกมากมายที่เจ้าของสินค้าและร้านค้าปลีกต้องก้าวข้ามแต่การที่จะรักษาเทรนด์ของการเติบโตนี้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งผู้ค้าปลีกและเจ้าของสินค้า อุปโภคบริโภคออนไลน์จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการรับมือความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคด้วย