สกพอ.ดันหุ่นยนต์การแพทย์ ยกระดับสาธารณสุข EEC

สกพอ.ดันหุ่นยนต์การแพทย์ ยกระดับสาธารณสุข EEC

สกพอ.ร่วมมือ สาธารณสุข มองหุ่นยนต์ “มดบริรักษ์” ให้ 4 โรงพยาบาลใน อีอีซี ลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด จับมือเอกชนขยายโรงพยาบาลให้เพียงพอรับการขยายตัวในอนาคต

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า ในการแพร่ระบาดของโควิดทั่วโลก ทำให้มีบุคลากรทางการแพทย์ที่เสียชิวิตจากการปฏิบัติหน้าที่แล้วกว่า 7,000 คน ดังนั้น สกพอ. จึงได้ร่วมกับสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ฟีโบ้) ทำการผลิตและส่งมอบระบบหุ่นยนต์ “มดบริรักษ์” เพื่อ สนับสนุนการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลเขตพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

โดยการมอบหุ่นยนต์ “มดบริรักษ์” ในครั้งนี้ จะมอบให้กับโรงพยาบาลในอีอีซี 4 โรงพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลพุทธโสธร โรงพยาบาลระยอง และโรงพยาบาลบางละมุง โรงพยาบาลละ 1 ชุด ประกอบด้วยหุ่นยนต์ 3 รูปแบบ ได้แก่ หุ่นยนต์ผู้ช่วยแพทย์ (SOFA) สามารถควบคุมทางไกลจากห้องส่วนกลาง แสดงการรักษาที่เชื่อมโยงข้อมูลระบบของโรงพยาบาล และวีดิโอคอล สนทนาโต้ตอบกับผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ หุ่นยนต์ทำหน้าที่ขนส่งอาหาร ยา เวชภัณฑ์ (CARVER) และหุ่นยนต์บริการเฉพาะจุด (Service Robot) สามารถเคลื่อนที่อัตโนมัตจากการควบคุมทางไกลจากห้องส่วนกลาง รวมทั้ง 4 โรงพยาบาลจำนวน 12 ตัว มีมูลค่ากว่า 8 ล้านบาท

นอกจากนี้ อีอีซี ยังได้ส่งเสริมให้บริษัทเอกชนด้านหุ่นยนต์ของไทยที่มีจำนวนกว่า 200 ราย รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก ฟีโบ้ เพื่อผลิตจำหน่ายเชิงพาณิชย์ เนื่องจาก ฟีโบ้ เป็นหน่วยงานรัฐมีหน้าที่ในการวิจัยพัฒนาด้านหุ่นยนต์ไม่มีกำลังพอที่จะผลิตเชิงพาณิชย์ได้ โดยในขณะนี้โรงพยาบาลทั้งในประเทศ และต่างประเทศมีความต้องการหุ่นยนต์ “มดบริรักษ์” เป็นจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมาได้มีโรงพยาบาลจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐ , ประเทศฝรั่งเศส , ประเทศสิงคโปร์ ติดต่อเข้ามาขอซื้อ ในเบื้องต้นจะผลิตเพื่อใช้ภายในประเทศให้เพียงพอก่อน จากนั้นจะพัฒนาต่อยอดเพื่อการส่งออกต่อไป ซึ่งในอนาคตหุ่นยนต์แบบนี้จะเป็นอุปกรณ์พื้นฐานของโรงพยาบาลต่าง ๆ เพื่อลดการติดเชื้อจากการสัมผัสกับผู้ป่วยตรง

160613672866

“ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด ทางฟีโบ้ได้ร่วมกับภาคเอกชนผลิตหุ่นยนต์ “มดบริรักษ์” ไปแล้วกว่า 300 ชุด กระจายไปให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ใช้งาน เพื่อลดการติดเชื้อโควิดของบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกที่นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้เพื่อรับมือกับโควิด ทำให้ไทยมีเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์เป็นของตัวเอง สามารถต่อยอดส่งออกหุ่นยน์ได้ในอนาคต”

ในส่วนของการพัฒนาระบบสาธารณสุขในพื้นที่ อีอีซี เพื่อรองรับการขยายตัวของประชากรนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะร่วมวางแผนกับ สกพอ. ขยายศักยภาพของโรงพยาบาลให้รองรับผู้ป่วยได้ทุกประเภทและรักษาโรคที่ยากได้หมดทุกโรค เพื่อให้คนในพื้นที่ อีอีซี ไม่ต้องเข้าไปรับการรักษาที่กรุงเทพ รวมทั้งจะตั้งศูนย์รักษาโรคทางจิตเวช และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด เนื่องจากใน อีอีซี เป็นชุมชนเมืองที่มีความหนาแน่น ทำให้มีปัญหาความเครียด และสุขภาพจิต รวมทั้งการแพร่ระบาดของยาเสพติด ดังนั้นใน อีอีซี จึงต้องสามารถรองรับปัญหาด้านสุขภาพได้ทั้งหมด

รวมทั้งจะประสานงานกับภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อสำรวจจำนวนแรงงานที่ย้านถิ่นฐานเข้ามาทำงานใน อีอีซี ให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง เนื่องจากที่ผ่านมาการกำหนดจำนวนเตียงและบุคลากรทางการแพทย์ จะอิงกับจำนวนประชากรในสำมะโนครัวที่ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ยังมีประชาชนจำนวนมากที่เข้ามาทำงานโดยไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้านมาทำให้ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตอุตสาหกรรมมีผู้ป่วยหนาแน่นเกินกำลังของโรงพยาบาลในท้องถิ่น ซึ่งเมื่อได้จำนวนประชากรที่แท้จริงแล้วจะร่วมมือกับผู้ประกอบการใน อีอีซี ลงทุนขยายโรงพยาบาลให้เพียงพอต่อความต้องการ

“ในขณะนี้มีภาคเอกชนหลายราย โดยเฉพาะผู้พัฒนานิคมฯ ที่ต้องการเข้ามาลงทุนสร้างโรงพยาบาลใกล้ ๆ กับนิคมฯ เพื่อรองรับแรงงานภายในนิคมฯ ทำให้สามารถขยายโรงพยาบาลได้โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณของภาครัฐ รวมทั้งยังมีแผนที่จะกำหนดให้นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาภายในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนมากเข้ามาใน อีอีซี จะต้องมีประกันรักษาโรคและอุบัติเหตุ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของโรงพยาบาลรัฐบาล และยังเป็นการสร้างรายได้เพิ่มให้กับโรงพยาบาล

นอกจากนี้ จะดึงดูดให้เกิดการลงทุนให้บริการเทคโนโลยีทางการแพทย์ใหม่ ๆ เช่น การลงทุนด้านจีโนมิกส์ หรือการศึกษาด้านพันธุศาสตร์ เพื่อรักษาโรคที่เกิดจากพันธุกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับคนไทย การตั้งศูนย์ทางการแพทย์ เพื่อรองรับการรักษาชั้นสูงให้กับคนไทยและชาวต่างชาติ การผลิตยา และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ