“ไออาร์พีซี”จ่อสรุปดีลเจรจาซื้อโรงงานขึ้นรูปพลาสติกปี64

“ไออาร์พีซี”จ่อสรุปดีลเจรจาซื้อโรงงานขึ้นรูปพลาสติกปี64

ไออาร์พีซี เจรจาผู้ประกอบการ 2-3 ราย ซื้อกิจการโรงงานขึ้นรูปพลาสติก เพิ่มยอดขาย พร้อมรุกเจาะตลาดลูกค้าอุตาหกรรม นิคมฯ ขยายติดตั้งทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ เสริมรายได้ ผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ เพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2567 จากปัจจุบันอยู่ที่ 13%

นายนพดล ปิ่นสุภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด(มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีแผนขยายการลงทุนติดตั้งทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) เพิ่มเติม หลังจากได้ดำเนินการติดตั้งฯในบ่อน้ำดิบสำรองของบริษัทฯ บนพื้นที่ 200 ไร่ ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าขนาด 12.5 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเสริมความมั่นคงให้กับเขตประกอบการอุตสาหกรรม IRPC จ.ระยอง เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในพื้นที่ของ IRPC นั้นมีการขุดบ่อน้ำไว้ 5 บ่อ ติดตั้งไปแล้ว 3 บ่อ จึงเหลือพื้นที่อีก แต่การติดตั้งระยะต่อไปจะเป็นโครงการขนาดกลางและขนาดเล็ก ขณะเดียวกันยังอยู่ระหว่างเจรจากับผู้ประกอบการ 2-3 ราย ที่สนใจติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ในบ่อน้ำของตนเอง ซึ่งจะเป็นลักษณะเข้าไปร่วมลงทุนเพื่อผลิตทุ่นฯต่อไป

“การติดตั้งทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) เบื้องต้น มองไว้ 2 แนวทางหลัก คือ การจับมือกับกลุ่มปตท. เข้าไปร่วมพัฒนา เช่นการจับมือกับ GPSC และอีกแนวทางคือการจับมือกับผู้ผลิตทุ่นฯ ที่จะนำเม็ดพลาสติกชนิดขึ้นรูปเข้าไปดำเนินการติดตั้งเจาะกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมที่มีบ่อเก็บน้ำ และในโรงงานที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเต็มแล้ว ก็อาจต้องการหันมาติดตั้งในบ่อน้ำแทน และมองถึงการทำในลักษณะโซลูชั่นโพรไวเดอร์ที่จะเป็นสเต็ปต่อไป”

สำหรับความร่วมมือกับกลุ่ม ปตท.นั้น เช่น การร่วมมือกับบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน) หรือ GPSC ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจไฟฟ้าเข้าไปร่วมลงทุน โดย IRPC จะทำหน้าที่ผลิตทุ่นฯ ซึ่งเป็นนวัตกรรมเม็ดพลาสติก HDPE (High Density Polyethylene หรือ โพลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง) เกรดพิเศษสีเทา แบรนด์ “POLIMAXX” ของ IRPC มีคุณสมบัติช่วยลดอุณหภูมิใต้แผงโซลาร์เซลล์ได้ถึง 5-8 องศา ส่งผลให้ระบบผลิตกระแสไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูง ทนทานต่อแสง UV และทนต่อแรงกระแทก โดยมีอายุการใช้งานของวัสดุยาวนานถึง 25 ปี ซึ่งปลอดภัยต่อระบบนิเวศใต้น้ำ ผ่านการทดสอบ Food Grade ขององค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (US FDA) ขณะเดียวกันก็เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 10,510 ตัน หรือเทียบเท่าการปลูกป่าราว 10,000 ต้น และยังเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ผิวน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

รวมถึง ความร่วมมือกับกลุ่มธุรกิจก๊าซฯของ ปตท.ที่มีการขายก๊าซฯให้กับลูกค้าในนิคมฯต่างๆอยู่แล้ว ก็อาจจะเข้าไปเสนอขายในลักษณะโซลูชั่นโพรไวเดอร์ที่เป็นการใช้บริการครอบคลุมทางธุรกิจตามความต้องการของลูกค้ามากกว่าการขายแค่ก๊าซฯเท่านั้น และเชื่อว่าจะไม่ซ้ำซ้อนกับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) หรือ PTTGC ที่สามารถผลิตเม็ดพลาสติก HDPE เพื่อใช้ผลิตทุ่นฯได้เช่นกัน เนื่องจากมีฐานลูกค้าที่แตกต่างกันอยู่แล้ว อีกทั้งการทำตลาดของ PTTGC จะเป็นการเจาะตลาดโครงการติดตั้งฯขนาดใหญ่เป็นหลัก

นายนพดล กล่าวอีกว่า การดำเนินงานในปี 2564 นั้น บริษัทฯเตรียมนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ หรือ บอร์ด IRPC วันที่ 24 พ.ย.นี้ พิจารณาอนุมัติงบลงทุนฯ โดยงบลงทุนหลักยังเป็นโครงการ Ultra Clean Fuel (UCF) ที่เป็นการยกระดับคุณภาพน้ำมันตามมาตรฐาน ยุโรป ระดับ 5 หรือ ยูโร 5 และยังเตรียมใช้สำหรับการเข้าซื้อกิจการ(M&A) โรงงานผลิตสินค้าเม็ดพลาสติกขึ้นรูป จากเดิมที่เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติดขายให้เท่านั้น โดยขณะนี้ เจรจากับผู้ประกอบการในประเทศ 2-3 ราย คาดว่าจะมีความชัดเจนในปีหน้า

“ตอนนี้คุยอยู่หลายบริษัทจะเน้นการเจาะตลาดการผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty grade) ซึ่งตั้งเป้าสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2567 จากปี62 อยู่ที่ 13% และปี63อยู่ที่ 17% เพื่อสร้างสมดุลรายได้ รับมือกับความผันผวนทางธุรกิจในระยะยาว”

ส่วนความคืบหน้าการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของบริษัท โดยมีการจัดตั้งโครงการโนอาห์ (แผนเกษียณอายุก่อนกำหนด) เพื่อให้พนักงานได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการนับจากปี63-68 ปัจจุบัน มีพนักงานเข้าร่วมโครงการฯประมาณ 1,200-1,300 คน จากพนักงานกว่า 5,000 คน ทำให้จะเหลือพนักงานอยู่ที่ประมาณ 4,000คน คาดว่าจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ประมาณ 700-1,000 ล้านบาทต่อปี ภายใน 3 ปีข้างหน้า

ดังนั้น ในปีหน้าหากทิศทางเศรษฐกิจโลกกลับมาฟื้นตัว มีการค้นพบวัคซีนต้านโควิด-19 แล้วความต้องการใช้เม็ดพลาสติกกลับมาก็น่าจะส่งผลดีต่อรายได้ของ IRPC ซึ่งปีหน้าก็จะเห็นการมุ่งเน้นธุรกิจไปที่การผลิตสินค้ากลุ่มผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty grade)มากขึ้น และจะมีความร่วมมือกับลูกค้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ล่าสุด ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลวัชระ จัดทำห้องแลปเพื่อรองรับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์ รวมถึงในเร็วๆนี้ จะมีความร่วมมือกับร้านไก่ทอด KFC จัดทำเรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่จะเป็นการนำผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ในร้านKFC เช่น จานพลาสติก ช้อนและมีดมาพลาสติกนำกลับมารีไซเคิลใหม่ เป็นต้น