ครม.ไฟเขียวเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.52 แสนล้านบาท

ครม.ไฟเขียวเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจ 1.52 แสนล้านบาท

ครม.ไฟเขียวกรอบเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจอีก 1.52 แสนล้านบาท จากเงินกู้ฯส่วน 4 แสนล้านบาท เน้น 4 แผนงานหลักจ้างและสร้างงานใหม่ ปรับทักษะอาชีพ และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่น คาดเพิ่มและรักษาการจ้างงานได้กว่า 3.1 แสนตำแหน่ง

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดว่าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบกรอบแนวคิดการจัดทำแผนงานหรือโครงการภายใต้แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมฯ ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ วงเงิน 4 แสนล้านบาท ในรอบที่ 2 วงเงินรวม 1.52 แสนล้านบาท 

ประกอบไปด้วย 4 กลุ่มแผนงาน/โครงการ  ประกอบด้วย 4 กลุ่มแผนงาน/โครงการหลัก ได้แก่ 1.กลุ่มแผนงานโครงการส่งเสริมการจ้างงานและพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและวางรากฐานการพัฒนาในระยะต่อไป  เช่น โครงการส่งเสริมการจ้างงานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่โดยภาครัฐและเอกชน ของกระทรวงแรงงาน วงเงิน 1.94 หมื่นล้านบาท และกลุ่มโครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพ (Upskill-Reskill-New skill)

2.กลุ่มแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนบนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพของท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น โครงการพัฒนาและเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก วงเงินประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท 3.กลุ่มแผนงาน/โครงการส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคเพื่อฟื้นฟูตลาดและเศรษฐกิจทุกระดับ เช่น โครงการคนละครึ่ง วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท และ 4.กลุ่มแผนงาน โครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการฟื้นตัวและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มโครงการเพื่อพัฒนาและบริการจัดการทรัพยากรน้ำ

โดยโครงการนี้ประเมินว่าจะเกิดผลต่อระบบเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2563 ต่อเนื่องไปจนถึงปี 2564 โดยคาดว่าจะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 4/ ปีนี้ประมาณ 0.2% ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจไม่หดต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ -6%  และในปี 2564 จีดีพีจะเพิ่มขึ้น 0.25%

ทั้งนี้เงินกู้ในระยะที่ 2 ยังมีการกันวงเงินสำหรับโครงการคนละครึ่งในระยะที่ 2 ไว้ด้วยในวงเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะช่วยให้ประชาชนได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจำนวน 10 ล้านคน ลดภาระค่าใช้จ่าย และสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยอย่างน้อย 100,000 ร้านค้า เพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า  6 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ยังคาดการณ์ว่าเงินกู้ในระยะที่ 2 จะช่วยการรักษาการจ้างงานและจ้างงานใหม่ รวมกว่า 310,000 ราย ยกระดับทักษะแรงงานอาชีพ ช่วยยกระดับประสิทธิภาพกระบวนการผลิต/บริการ ช่วยฟื้นฟูธุรกิจให้พร้อมรับกับสถานการณ์ที่จะเปลี่ยนไปภายหลังวิกฤติโควิด

ทั้งนี้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและวางรากฐานการพัฒนาในระยะต่อไปได้กว่า 160,000 ราย ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการในระดับชุมชนทั้งภาคการผลิตและบริการทั้ง 76 จังหวัด และช่วยเพิ่มพื้นที่ทำการเกษตร 96.4 ล้านไร่ จะมีการเก็บกักน้ำได้มากขึ้นด้วยการบริหารจัดการระบบน้ำชุมชน

นายอนุชากล่าวต่อว่าโครงการฯเงินกู้ในระยะที่ 2 เป็นการอนุมัติกรอบการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาทเพิ่มจากกรอบระยะที่ 1 ที่มีการอนุมัติไปก่อนหน้าแล้ว 9.24 หมื่นล้านบาท โดยวงเงินในระยะที่ 1 มีการเบิกจ่ายไปแล้วประมาณ 4.3 พันล้านบาท