"กกต." เปิดตัว2แอปพลิเคชั่น-วอร์รูม ให้ข้อมูล-จับตาเลือกตั้ง อบจ. -พบการร้องเรียน21เรื่อง

"กกต." เปิดตัว2แอปพลิเคชั่น-วอร์รูม ให้ข้อมูล-จับตาเลือกตั้ง อบจ. -พบการร้องเรียน21เรื่อง

เลขาธิการ กกต. เปิดตัว 2แอปพลิเคชั่น ให้ข้อมูลเลือกตั้ง อบจ. -แจ้งการกระทำผิดกฎหมาย เปิดวอร์รูมจับตา เลือกตั้ง พบ21เรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบ

         พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงเปิดตัวแอปพลิเคชัน "Smart Vote" เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้สิทธิ์เลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) และ สมาชิกสภาอบจ.  โดยกกต. จัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับการเลือกตั้งติดตั้งไว้ในแอปพลิเคชันดังกล่าว และเปิดตัวแอปพลิเคชั่น "ตาสับปะรด" สายด่วนเลือกตั้ง 1444  เพื่อให้ประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำผิดกฎหมายหาเสียงเลือกตั้ง
         "ประชาชนเข้าไปแจ้งข้อมูลต่าง ๆ สามารถเข้าไปกรอกเลขประจำตัวประชาชนในแอปพลิเคชั่น ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการแจ้งเหตุ เมื่อยืนยันแล้ว  เจ้าหน้าที่ กกต. ส่วนกลางจะส่งข้อมูลไป กกต.จังหวัด เพื่อทำการตรวจสอบ เมื่อเป็นคดีจนสามารถลงโทษผู้กระทำความผิดได้ ผู้ให้ข้อมูลเบาะแสจะได้รับรางวัลตอบแทน จำนวน 100,000 บาทขึ้นไป หากมีการถูกข่มขู่คุกคามก็สามารถเข้าสู่การคุ้มครองพยานได้  และเพื่อให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นไปด้วยความสมบูรณ์ กกต. มีผู้ตรวจการเลือกตั้งรวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจทำหน้าที่ในการตรวจสอบ จังหวัดละ 5-8 คน เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปด้วยความสุจริต เที่ยงธรรม” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าว
         พ.ต.อ.จรุงวิทย์ กล่าวด้วยว่า กกต. ได้เปิดตัวศูนย์บริหารการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-War room)เพื่อตรวจสอบการหาเสียงเลือกตั้งทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้การหาเสียงรูปแบบดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย  และมีประเด็นสำคัญ คือ   1. เนื้อหาถูกต้องไม่ใส่ร้ายผู้อื่น และ 2. เวลาในการหาเสียงต้องไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด คือเวลา 18.00 น. ก่อนวันเลือกตั้ง  คือ วันที่ 20 ธันวาคม 
         เมื่อถามถึงการประกาศรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า กกต. ยังไม่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร จำนวน 116 คน และผู้ลงสมัครนายก อบจ. 4 คน หลังมีผู้ลงสมัคร จำนวน 23 คนยื่นเรื่องคัดค้าน  ด้วยเหตุการไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 โดยกกต.​จะเร่งพิจารณาคุณสมบัติโดยเร็ว หรือก่อนการเลือกตั้งไม่เกิน 3 วัน  นอกจากนั้น กกต. ยังได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้ง เบื้องต้นมีจำนวน 21 เรื่อง แบ่งเป็น การซื้อเสียง 4 เรื่อง, ส่งต่อข้อมูลเท็จ 1 เรื่อง ว่าด้วยการใส่ร้ายป้ายสี และเรื่องอื่นๆ ที่ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ ทั้งนี้การตรวจสอบดังกล่าวจะต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้ง.